xs
xsm
sm
md
lg

ปักกิ่ง ‘หวั่นไหว’ ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ-อินเดียร่วมมือกันในทางยุทธศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: ดั๊ก สึรุโอกะ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Beijing wary of Japan, US, India strategic cooperation: Kuhn
By Doug Tsuruoka
06/11/2017

โรเบิร์ต ลอว์เรนซ์ คุห์น ผู้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้แก่พวกผู้นำจีนและพวกบรรษัทข้ามชาติ มาเป็นเวลายาวนาน ระบุว่า ปักกิ่งห่วงที่สุดว่าการเยือนเอเชียของโดนัลด์ ทรัมป์ คราวนี้ จะเป็นการส่งเสริมสนับสนุน “ยุทธศาสตร์อินเดีย-แปซิฟิก” ซึ่งญี่ปุ่นกำลังพยายามผลักดัน

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เดินทางถึงจีนในวันพุธที่ 8 พฤศจิกายน เพื่อการเยือนอย่างเป็นรัฐพิธี โดยเป็นส่วนหนึ่งแห่งการตระเวนเยือนชาติต่างๆ ในเอเชียเป็นเวลารวม 12 วันของเขา

ทรัมป์มีกำหนดพบปะหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ท่ามกลางภูมิหลังระหว่างประเทศซึ่งเกิดวิกฤตการณ์ทางนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องกับเกาหลีเหนือ, กรณีอื้อฉาวเรื่องความพัวพันระหว่างทรัมป์กับรัสเซียกำลังไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ, และผลโพลคะแนนนิยมของทรัมป์ในบ้านเกิดกำลังทรุดต่ำลงทุกที ในทางตรงกันข้าม สี ก้าวผงาดขึ้นมาอย่างประสบความสำเร็จภายหลังได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้นำสูงสุดอีกครั้ง ณ การประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 19 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

พวกผู้นำจีนมีทัศนะต่อการมาเยือนของทรัมป์อย่างไรบ้าง? และพวกเขาจะแสดงปฏิกิริยาออกมาในลักษณะไหน? และสามารถคาดหวังได้หรือไม่ว่าการเยือนครั้งนี้จะเกิดพัฒนาการสำคัญๆ --หากว่าสามารถคาดหวังเช่นนี้ได้ พัฒนาการดังกล่าวคืออะไรบ้าง?

โรเบิร์ต ลอว์เรนซ์ คุห์น (Robert Lawrence Kuhn อ่านประวัติของเขาได้จากวิกิพีเดีย https://en.wikipedia.org/wiki/Robert_Lawrence_Kuhn) ผู้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษามาอย่างยาวนานให้แก่ทั้งพวกผู้นำจีนและพวกบรรษัทนานาชาติ ระบุว่า “ความกังวลอย่างล้ำลึกที่สุด” ของจีน ต่อการเยือนเอเชียของทรัมป์เที่ยวนี้ ก็คือ หวั่นไหวว่ามันจะเป็นการโปรโมตส่งเสริม “ยุทธศาสตร์อินเดีย-แปซิฟิก” (Indo-Pacific strategy ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.dw.com/en/trumps-upcoming-asia-trip-japan-proposes-plan-to-counter-china/a-41136900) ซึ่งเสนอโดยโตเกียว ที่จะดึงเอา สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, อินเดีย, และเป็นไปได้ว่าออสเตรเลียด้วย เข้ามาจับกลุ่มเป็นพันธมิตรด้านกลาโหม เพื่อ “ปิดล้อมจำกัดเขต” จีนในตลอดทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้ สำหรับเรื่องเกาหลีเหนือนั้น คุห์นกล่าวว่า ขณะที่ไม่มีสัญญาณใดๆ ของการผ่าทางตันในวิกฤตการณ์นี้เลย แต่เขาก็เชื่อว่าบางสิ่งบางอย่างอาจจะกำลังมีการหมักบ่มกันอยู่ จากการที่เมื่อเร็วๆ นี้ สี โหมโรงยื่นมือออกไปยังเปียงยางและโซล เพื่อปรับปรุงสายสัมพันธ์ที่มีต่อกันให้กระเตื้องดีขึ้น

คุห์น ซึ่งเป็นนักวิจารณ์แสดงความเห็นทางสื่อ (คอมเมนเตเตอร์) ในเรื่องเกี่ยวกับจีนที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างกวางขวาง ยังชี้ด้วยว่า สี ได้ก้าวผงาดขึ้นมากลายเป็นผู้นำจีนซึ่งมีความแข็งแกร่งที่สุด (นับจาก เหมา เป็นต้นมา) ภายหลังการประชุมครั้งสำคัญยิ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีนคราวนี้เสร็จสิ้นลง เรื่องนี้ทำให้ประธานาธิบดีแดนมังกรผู้นี้มีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้นมากในการรับมือจัดการกับประเด็นปัญหาอันโดดเด่นทางด้านการค้าและการลงทุนซึ่งมีอยู่กับสหรัฐฯ คุห์นกล่าวว่า สี ยังต้องการที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความตึงเครียดต่างๆ กับวอชิงตันขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจจะเป็นการบ่อนทำลายวาระภายในประเทศอันทะเยอทะยานของตัวเขา

พิธีกรในรายการ “Closer to China with R.L. Kuhn” (ขยับเข้าใกล้จีนกับ อาร์.แอล. คุห์น) ทางเครือข่ายโทรทัศน์ ไชน่า โกลบอล เทเลวิชั่น เน็ตเวิร์ก (China Global Television Network หรือ CGTN http://english.cntv.cn/lm/closertochina/) เสริมด้วยว่า จีนจะทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการต้อนรับทรัมป์แบบวีไอพี ถึงแม้ตัวทรัมป์เองฐานะย่ำแย่กำลังถูกโจมตีหนักหน่วงในสหรัฐฯ ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์อันสำคัญยิ่งของสี ที่กำลังมุ่งทำให้ประเทศจีนก้าวเข้าไปสู่ “เวทีใจกลางของโลก”

คุห์นได้สนทนากับเอเชียไทมส์เกี่ยวกับสิ่งซึ่งน่าจะเกิดขึ้นเมื่อทรัมป์เยือนจีนในสัปดาห์นี้

การพบปะหารือระหว่างทรัมป์กับสีในปักกิ่งคราวนี้ น่าจะมีการผ่าทางตันหรือความก้าวหน้าอื่นๆ ในเรื่องการแก้ไขคลี่คลายวิกฤตการณ์นิวเคลียร์เกาหลีเหนือหรือไม่?

เราตกอยู่ในเงื่อนไขที่ไม่อาจคาดหมายว่าจะเกิดการผ่าทางตัน แต่กระนั้นก็กำลังมีการดำเนินการบางสิ่งบางอย่างอยู่ ด้วยการที่ประธานาธิบดีสีกำลังยื่นมือออกไปหาทั้งฝ่ายเกาหลีเหนือ (สี จิ้นผิง มีหนังสือตอบคิม จองอึน ระบุว่าต้องการให้ทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.atimes.com/article/xi-extends-thanks-kim-jong-un-n-korean-state-media/) และเกาหลีใต้ (สี จิ้นผิง กับ ประธานาธิบดีมุน แจอิน นัดหมายประชุมสุดยอดกัน ระหว่างที่ทั้งคู่ไปเข้าร่วมการประชุมซัมมิตของเอเปกที่เวียดนามในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.atimes.com/article/xi-moon-summit-officially-go/) ทั้ง สี และทรัมป์ จะต้องแสดงออกอย่างชัดแจ้งว่าต้องการความก้าวหน้า และสำหรับเรานั้นจะต้องแยกแยะกันให้กระจ่างถึงสาระสำคัญ

การเยือนเอเชียของทรัมป์เที่ยวนี้ สิ่งที่จีนกำลังเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดที่สุดคือเรื่องอะไร?

ผมคิดว่าความกังวลที่ลึกล้ำที่สุด คือพัฒนาการใหม่เอี่ยมที่เพิ่งเกิดขึ้นมา โดยที่ได้รับการโปรโมตส่งเสริมอย่างมากจากญี่ปุ่น เกี่ยวกับ “ยุทธศาสตร์อินเดีย-แปซิฟิก” (Indo-Pacific strategy) เกี่ยวกับความร่วมมือที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, และอินเดีย, และเป็นไปได้ว่าจะรวมเอาออสเตรเลียด้วย –โดยที่ดูเหมือนว่า “กำลังโอบล้อม” หรือ “กำลังปิดล้อมจำกัดเขต” จีนอยู่ แต่จีนนั้นไม่สามารถที่จะถูกใครปิดล้อมจำกัดเขตได้หรอก จีนกำลังทำงานเพื่อเริ่มต้นความสัมพันธ์กันใหม่กับเกาหลีใต้ ซึ่งไม่เคยเป็นแฟนตัวยงของญี่ปุ่นเลย

ทรัมป์เพิ่งหยิบยกพูดถึงความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะปฏิบัติการทางทหารฝ่ายเดียว เพื่อเล่นงานเกาหลีเหนือในวิกฤตการณ์คราวนี้ ทางจีนถือเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงจังหรือเปล่า?

ผมไม่คิดว่าเป็นอย่างนั้นหรอกครับ จีนน่ะไม่ได้กำลังแสดงปฏิกิริยาต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่ทรัมป์พูดออกมา ตรงกันข้ามกลับให้ความสำคัญต่อสิ่งที่เขาทำ กล่าวได้ว่า จีนนั้นมีความกังวลอย่างแท้จริงว่าญี่ปุ่นจะใช้เรื่องเกาหลีเหนือมาเป็น “ข้อแก้ตัว” สำหรับการเร่งรัดการพัฒนาทางการทหาร

สีกำลังผลักดันเพื่อให้มีการปรับปรุงสายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ ภายหลังการประชุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนแล้วใช่ไหม? เขากำลังพยายามที่จะเพิ่มพูนอิทธิพลของจีน เมื่อเผชิญกับฝ่ายอื่นๆ ในวิกฤตการณ์นิวเคลียร์คราวนี้ใช่หรือไม่?

เรื่องที่แน่นอนเลยก็คือ ในวิสัยทัศน์ของ สี นั้น จีน “กำลังก้าวเข้าไปยังเวทีใจกลางของโลก” –นี่เป็นแนวคิดสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการเดินหน้าเข้าสู่ “ยุคใหม่” ในเส้นทางสู่ปี 2050 ของ สี

สีดูเหมือนอยู่ในฐานะที่แข็งแกร่งภายหลังการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเร็วๆ นี้ เรื่องนี้จะมีผลต่อจุดยืนของเขาในการต่อรองกับทรัมป์เมื่อพวกเขาพบปะเจรจากันหรือไม่?

สีไม่ได้เพียงแค่ “ดูเหมือน” อยู่ในฐานะที่แข็งแกร่ง หรอกครับ แต่เขากำลังอยู่ในฐานะของผู้นำที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ เหมา เป็นต้นมาทีเดียว และในแง่หนึ่งยังถือได้ว่าเขาแข็งแกร่งกว่าด้วยซ้ำ เพราะเขากำลังใช้อำนาจของเขาอย่างเฉลียวฉลาด ด้วย (การแต่งตั้งผู้เข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ) และด้วยแนวความคิดอันละเอียดอ่อนซับซ้อน สีจะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและความเด็ดเดี่ยว แต่เป็นการแสดงออกในแบบบุคลิกภาพของเขา นั่นคือในวิถีทางที่ภูมิฐานสง่างาม ไม่ใช่ด้วยการยกตนข่มท่าน จีนจะปฏิบัติต่อผู้นำสหรัฐฯท่านนี้ด้วยพิธีการทูตอันถูกต้องเหมาะเจาะ โดยไม่คำนึงว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯคนปัจจุบันเป็นใคร นั่นก็คือ จีนอาจจะจัดการต้อนรับอย่างเอิกเกริกสูงส่งยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม

สีอยู่ในฐานะที่ดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ในการเสนอการโอนอ่อนผ่อนปรนต่างๆ ต่อสหรัฐฯในด้านการค้าและการลงทุน? สีอาจจะทำอะไรบ้าง? จะมีการแสดงท่าทีการส่งสัญญาณอะไรที่ใหญ่โตหรือไม่?

จากการที่ฐานะของ สี ในประเทศจีนมีความมั่นคงแล้วเช่นนี้ เขาก็สามารถที่จะใช้ความยืดหยุ่นได้มากขึ้น เขามีวาระภายในประเทศอันใหญ่โตมโหฬารมาก และไม่ต้องการที่จะเพิ่มความตึงเครียดกับสหรัฐฯซึ่งจะมาหันเหกีดขวาง –ดังนั้นจะต้องมีการยินยอมประนีประนอม ซึ่งดูดีในทางทัศนศาสตร์ แต่แน่นอนทีเดียวว่าจะไม่มีการละเมิด “ผลประโยชน์แกนกลาง” ของจีนใดๆ ทั้งสิ้น

กรณีอื้อฉาวเรื่องพัวพันกับรัสเซีย และการที่ผลโพลในสหรัฐฯกำลังแสดงให้เห็นคะแนนนิยมของทรัมป์ลดต่ำลงเรื่อยๆ จะทำให้ สี มองว่า เครดิตความน่าเชื่อถือของทรัมป์กำลังย่ำแย่ลงหรือไม่?

ใครๆ ก็จะต้องคิดอย่างนั้น แต่นั่นไม่ใช่บุคลิกภาพของทรัมป์ ทรัมป์น่ะไม่แคร์หรอก –การที่ไม่แคร์นี่ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะถือเป็นสินทรัพย์หรือเป็นหนี้สินกันแน่ แต่นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น สำหรับพวกนักการเมืองปกติธรรมดาแล้ว ความลำบากยุ่งยากส่วนตัว อาจทำให้แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเพิ่มมากขึ้น แต่สำหรับทรัมป์แล้ว ทรัมป์ก็คือทรัมป์ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร

ดั๊ก สึรุโอกะ เป็นบรรณาธิการประจำกองบรรณาธิการ (Editor-at-Large) ของเอเชียไทมส์
กำลังโหลดความคิดเห็น