xs
xsm
sm
md
lg

“นิวเดลี” เจอหมอกควันพิษอีกรอบ! ค่าฝุ่นละอองในอากาศพุ่งเกินมาตรฐาน 2 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวอินเดียในกรุงนิวเดลีขับขี่ยวดยานฝ่าสภาพอากาศยามเช้าที่เต็มไปด้วยหมอกควันพิษ วันนี้ (7 พ.ย.)
เอเอฟพี - ฤดูหนาวที่กำลังมาเยือนส่งผลให้กรุงนิวเดลีของอินเดียต้องเผชิญวิกฤตหมอกควันพิษปกคลุมทั่วเมืองเช้าวันนี้ (7 พ.ย.) โดยพบว่าค่าฝุ่นละอองในอากาศพุ่งสูงเกินมาตรฐานถึง 2 เท่า

เว็บไซต์สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงนิวเดลีวัดค่าฝุ่นละอองในอากาศที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ได้สูงถึง 703 หรือกว่า 2 เท่าของค่ามาตรฐานไม่เกิน 300 ที่ทางการกำหนดเอาไว้

“พอก้าวเท้าออกจากบ้าน ผมก็เริ่มไอและรู้สึกแสบตามากๆ” นาเรช ยาดาฟ พนักงานธนาคารคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ ขณะกำลังเดินไปยังที่ทำงานซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวง

“จะปล่อยให้รัฐบาลแก้ปัญหาอยู่ฝ่ายเดียวไม่ได้หรอก ประชาชนก็ต้องมีส่วนร่วมและช่วยรัฐบาลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย”

คุณภาพอากาศในกรุงนิวเดลีมักย่ำแย่ลงในช่วงต้นฤดูหนาว เนื่องจากมวลอากาศเย็นที่พัดปกคลุมส่งผลให้ฝุ่นละอองที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพลอยต่ำเรี่ยพื้นดิน และไม่สามารถกระจายขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้

การจุดประทัดเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลดิวาลี (Diwali) ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มลพิษในอากาศเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากปัจจัยสำคัญๆ อย่างไอเสียของยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล โรงงานไฟฟ้าถ่านหิน และโรงงานอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ เกษตรกรทางภาคเหนือของอินเดียยังนิยมใช้วิธีเผาตอพืชที่เหลือจากการเก็บเกี่ยว แม้รัฐบาลจะประกาศห้ามแล้วก็ตามที

ดิปังการ์ ซาฮา ผู้บริหารคณะกรรมการควบคุมมลพิษกลางแห่งอินเดีย ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าว เพรส ทรัสต์ ออฟ อินเดีย ว่า สภาพอากาศที่มีความชื้นสูงและไม่มีลมพัดยิ่งเป็นตัวดักฝุ่นละอองให้สะสมอยู่ในพื้นที่

ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในอินเดียต่างพากันติดแฮชแท็ก #smog จนกลายเป็นหัวข้อสนทนายอดนิยมในช่วงเช้าวันนี้ (7) หลายคนแสดงความไม่พอใจและเรียกร้องให้ภาครัฐมีมาตรการที่จะช่วยแก้ไขปัญหามลพิษอย่างจริงจัง

ค่ามลพิษที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงนี้ของปีที่แล้วส่งผลให้โรงเรียนหลายแห่งในอินเดียต้องปิดการเรียนการสอน

องค์การอนามัยโลก (WHO) เคยจัดให้นิวเดลีครองแชมป์เมืองหลวงที่ “อากาศสกปรก” ที่สุดในปี 2014 แซงหน้าแม้แต่กรุงปักกิ่งของจีน

วารสารการแพทย์แลนเซ็ตเสนอรายงานเมื่อเดือนที่แล้วว่า มลพิษในอากาศเป็นสาเหตุการตายของชาวอินเดียมากถึง 2.5 ล้านคนในปี 2015 ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในโลก ขณะที่หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของอินเดียได้สั่งห้ามใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานดีเซล และปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเพียงแห่งเดียวในเมืองหลวง เพื่อลดปริมาณควันพิษ




กำลังโหลดความคิดเห็น