xs
xsm
sm
md
lg

ข้อมูลกิจกรรมการเงินเหล่าคนรวยคนดังรั่วไหลอีก เปิด “พาราไดส์ เปเปอร์ส” แฉรมว.พาณิชย์USโยงใยคนใกล้ชิด 'ปูติน'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<i>รัฐมนตรีพาณิชย์ วิลเบอร์ รอสส์ ของสหรัฐฯ  ไปกล่าวปราศรัยในการประชุมด้านอุตสาหกรรมที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันจันทร์ (6 พ.ย.)  รอสส์ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วย ถูกแฉจากเอกสาร “พาราไดส์ เปเปอร์ส” ว่า   มีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทขนส่งทางทะเลที่เชื่อมโยงถึงคนใกล้ชิดประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย </i>
เอเจนซีส์ – กิจกรรมทางการเงินต่างๆ ของเหล่าบุคคลร่ำรวยและทรงอิทธิพลของโลก ในศูนย์ออฟชอร์ที่สามารถหลีกเลี่ยงการเสียภาษีและการตรวจสอบ ได้เกิดการรั่วไหลถูกนำออกมาแฉโพยกันอีกแล้ว ทำนองเดียวกับ “ปามานา เปเปอร์ส” ที่สร้างความสะท้านสะเทือนไปทั่วโลกเมื่อปีกลาย โดยในคราวนี้มี “พาราไดส์ เปเปอร์ส” ซึ่งเปิดเผยให้ทราบว่า รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ มีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทขนส่งทางทะเลที่เชื่อมโยงถึงคนใกล้ชิดปูติน ขณะที่ควีนเอลิซาเบธลงทุนบนหมู่เกาะเคย์แมน นอกจากนี้ที่ปรึกษาสำคัญของผู้นำแคนาดาก็โอนเงินหลายสิบล้านดอลลาร์ไปยังแหล่งหลบเลี่ยงภาษีนอกประเทศ

พาราไดส์ เปเปอร์ ประกอบด้วยเอกสาร 13.4 ล้านฉบับ แทบทั้งหมดเป็นของ แอลเปิลบี บริษัทกฎหมายระหว่างประเทศที่มีสำนักงานอยู่ในเบอร์มิวดาและดินแดนอื่นๆ ทั้งนี้เบอร์มิวดาซึ่งเป็นดินแดนในปกครองของอังกฤษซึ่งตั้งอยู่ในย่านทะเลแคริบเบียน จัดเป็นศูนย์อุตสาหกรรมออฟชอร์ระดับท็อปเอนด์แห่งหนึ่งของโลก

ทีมนักหนังสือพิมพ์สืบสวนสอบสวนนานาชาติ จากองค์การสื่อมวลชนจำวนเกือบ 100 แห่งทั่วโลก ซึ่งได้ร่วมกันศึกษาตรวจสอบเอกสารที่รั่วไหลเหล่านี้มาระยะหนึ่งแล้ว ได้เริ่มเผยแพร่รายงานของพวกเขาในวันอาทิตย์ (5 พ.ย.) โดยที่รายงานไม่ได้ระบุว่า วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ, สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ และสตีเฟน บรอนฟ์แมน ผู้สนับสนุนทางการเมืองคนสำคัญและที่ปรึกษาอาวุโสของนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโดของแคนาดา ทำผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ดี การที่รอสส์พัวพันกับนิติบุคคลรัสเซียก็ทำให้เกิดคำถามถึงผลประโยชน์ขัดแย้ง และความเชื่อมโยงระหว่างทีมงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับมอสโก

ขณะเดียวกัน การเปิดเผยว่าบรอนฟ์แมน โยกย้ายเงิน 60 ล้านดอลลาร์ไปยังแหล่งเลี่ยงภาษีนอกประเทศ โดยดำเนินการร่วมกับอดีตวุฒิสมาชิก ลีโอ โคลเบอร์ ก็อาจสร้างปัญหาให้แก่ทรูโดที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อสองปีที่แล้วจากคำมั่นในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการเลี่ยงภาษี

สำหรับกรณีการลงทุนส่วนพระองค์ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 นั้น อาจมีเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับความเหมาะสมที่พระประมุขแห่งสหราชอาณาจักรลงทุนในดินแดนที่ถือเป็นศูนย์หลบเลี่ยงภาษี

ในเอกสารพาราไดส์ เปเปอร์ระบุว่า รอสส์ นักลงทุนระดับพันล้าน ถือหุ้น 31% ในเนวิเกเตอร์ โฮลดิ้งส์ ผ่านเครือข่ายการลงทุนนอกประเทศที่ซับซ้อน

เนวิเกเตอร์ โฮลดิ้งส์เป็นบริษัทขนส่งทางทะเลที่มีรายได้ปีละหลายล้านดอลลาร์จากขนส่งน้ำมันและก๊าซให้ซีเบอร์ ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของรัสเซียที่มีคิริล ชามาลอฟ ลูกเขยของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และเกนเนดี ทิมเชนโก เพื่อนและหุ้นส่วนธุรกิจของผู้นำเครมลินที่ถูกอเมริกาแซงก์ชัน ถือหุ้นอยู่ด้วย

จากเอกสารที่รายงานต่อคณะกรรมการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (เอสอีซี) รอสส์ลดการถือครองหุ้นหลังจากเข้ารับตำแหน่งในคณะบริหารของทรัมป์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ แต่ยังมีมูลค่าถึง 2-10 ล้านดอลลาร์

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า หุ้นของรอสส์ในเนวิเกเตอร์ ถือครองโดยบริษัทหลายแห่งที่จดทะเบียนบนหมู่เกาะเคย์แมน และทรัพย์สินของรอสส์มูลค่าเกิน 2,000 ล้านดอลลาร์ ได้รับการจัดการในลักษณะเดียวกันในแหล่งเลี่ยงภาษีอื่นๆ

ด้าน เจมส์ ร็อกแคส โฆษกกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยืนยันว่า รอสส์ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจธุรกิจของเนวิเกเตอร์กับซีเบอร์ ซึ่งไม่ได้ถูกแซงก์ชันทั้งในเวลานั้นและปัจจุบัน นอกจากนั้น รอสส์ยังไม่เคยพบกับผู้ถือหุ้นของซีเบอร์ที่อ้างอิงในพาราไดซ์ เปเปอร์ส และไม่เคยรับรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ดังกล่าว
<i>ป้ายชื่อที่บริเวณด้านนอกสำนักงาน ดัชชี ออฟ แลงคาสเตอร์ ในกรุงลอนดอน ทั้งนี้สำนักงานซึ่งทำหน้าที่ดูแลรายได้และบริหารการลงทุนส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถอังกฤษ ถูกระบุใน “พาราไดส์ เปเปอร์ส” ว่าได้นำเงินจำนวนหนึ่งไปลงทุนผ่านศูนย์ออฟชอร์  </i>
พาราไดซ์ เปเปอร์สยังเปิดเผยว่า เงินส่วนพระองค์ของควีนเอลิซาเบธประมาณ 13 ล้านดอลลาร์ถูกโอนเข้ากองทุนบนหมู่เกาะเคย์แมนด์และเบอร์มิวดา โดยรายการพาโนรามาของสถานีโทรทัศน์บีบีซี และหนังสือพิมพ์การ์เดี้ยน ซึ่งมีส่วนร่วมในการตรวจสอบพาราไดส์ เปเปอร์ส์ เป็นสื่อกลุ่มแรกที่รายงานเรื่องนี้และให้รายละเอียดว่า กองทุนดังกล่าวนำเงินไปลงทุนต่อในธุรกิจต่างๆ ซึ่งรวมถึงไบรต์เฮาส์ ห้างให้เช่าและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ภายในบ้านที่ถูกกล่าวหาว่า หาประโยชน์จากคนจน และเชนจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ภายหลังแจ้งล้มละลาย

ทางโฆษกหญิงของดัชชี ออฟ แลงคาสเตอร์ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลรายได้และบริหารการลงทุนส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถอังกฤษ แถลงว่า การลงทุนทั้งหมดได้รับการตรวจสอบและถูกต้องตามกฎหมาย และการลงทุนในกองทุนแต่ละแห่งมีมูลค่าเพียง 0.3% ของทรัพย์สินที่ดัชชีดูแลจัดการ

เส้นทางเดินของ พาราไดส์ เปเปอร์ จากข้อมูลรั่วไหลออกมาของแอปเปิลบี สู่การตรวจสอบนำมาเขียนเป็นรายงานของผู้สื่อข่าวนานาชาติ อยู่ในรอยทางเดียวกันกับ ปานามา เปเปอร์ ซึ่งเป็นเอกสารจำนวนมหาศาลที่รั่วไหลจาก มอสแซค ฟอนเซกา บริษัทกฎหมายระหว่างประเทศที่ตั้งฐานอยู่ที่ปานามา และกลายเป็นข่าวเกรียวกราวเมื่อปีที่แล้วนั้น

กล่าวคือ แรกเริ่มทีเดียวมีผู้มอบเอกสารเหล่านี้ (ทั้งกรณีของปามานา เปเปอร์ส และ ของพาราไดส์ เปเปอร์) ให้แก่ ซุดดอยเชอ ไซตุง จากนั้นหนังสือพิมพ์ของเยอรมนีฉบับนี้ได้นำไปให้แก่ เครือข่ายนักหนังสือพิมพ์สืบสวนสอบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists – ไอซีไอเจ) ซึ่งระดมขอกำลังนักข่าวนักหนังสือพิมพ์จากองค์การสื่อทั่วโลกมาช่วยกันตรวจสอบศึกษาและเขียนออกมาเป็นรายงาน

ทั้งนี้เรื่องราวส่วนใหญ่ในรายงานโฟกัสไปที่เรื่องวิธีการซึ่งพวกนักการเมือง บรรษัทข้ามชาติ คนดัง และมหาเศรษฐี ใช้ทรัสต์ มูลนิธิ บริษัทที่ตั้งขึ้นมาบังหน้า (shell companies) ที่มีโครงสร้างซับซ้อน เพื่อปกป้องเงินสดของตนจากเจ้าหน้าที่ภาษี หรือปิดบังข้อตกลงธุรกิจบางอย่าง
กำลังโหลดความคิดเห็น