เอเจนซีส์/รอยเตอร์/เอพี - คณะกรรมการปราบคอร์รัปชันที่มีมกุฎราชกุมารซาอุฯ เป็นประธานสั่งจับกุมเจ้าชาย 11 พระองค์ ในวันเสาร์ (4 พ.ย.) รวมไปถึงเจ้าชายอัล-วาลีด บิน ทาลาล นักลงทุนชื่อดังระดับนานาชาติ และรัฐมนตรีอีก 4 คน อ้างเป็นการกวาดล้างการคอร์รัปชันครั้งใหญ่ ส่วนกษัตริย์ซัลมานแห่งซาอุฯ ทรงแต่งตั้ง 2 รัฐมนตรีใหม่เข้าควบคุมด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจแทนที่คนเก่าที่ถูกให้ออก รวมไปถึงการสั่งปลดผู้บัญชาการกองทัพเรือ
RT สื่อรัสเซียรายงานเมื่อวานนี้ (4 พ.ย.) ว่า คณะกรรมการชุดใหม่ที่มีมกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบียทรงเป็นประธานนั้นถูกตั้งขึ้นในวันเสาร์ (4) ด้วยอำนาจพระราชกฤษฎีกาของกษัตริย์ซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีรายงานเผยแพร่ออกมาจากสื่อทางการของริยาด พบว่าในพระราชกฤษฎีกาที่ออกมาได้ประกาศการแต่งตั้งมกุฎราชกุมาร เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Crown Prince Mohammed bin Salman) วัย 32 พรรษา เป็นประธานคณะกรรมการชุดพิเศษ โดยให้อำนาจอย่างกว้างขวางในการปราบปรามการคอร์รัปชัน
สื่อรัสเซียชี้ว่า พระราชกฤษฎีกาให้อำนาจคณะกรรมการนี้ได้รับการยกเว้นจาก “กฎหมาย กฎเกณฑ์ คำแนะนำ คำสั่ง และการตัดสินใจ” แต่ทว่าขอบเขตการใช้อำนาจการทำหน้าที่ของคณะกรรมการกลับพบว่า มีอย่างกว้างขวาง ที่รวมไปถึงการระบุตัวผู้กระทำผิด ประเภทอาชญากรรม และบุคคลและองค์กร ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการคอร์รัปชัน
นอกจากนี้ ขอบเขตอำนาจของคณะกรรมการชุดพิเศษยังสามารถกำหนดมาตรการลงโทษต่อผู้กระทำผิดได้เอง ที่รวมไปถึง การสั่งยึดทรัพย์ การสั่งห้ามการเดินทาง และการสั่งจับกุม
RT ชี้ว่า ชุดคณะกรรมการของมกุฎราชกุมารซาอุฯเริ่มทำงานทันทีไม่กี่ชั่วโมงหลังมีคำสั่งตั้งอย่างเป็นทางการออกมา โดยพบว่ามีการจับกุมเกิดขึ้นครั้งแรกอย่างที่คาดไม่ถึง ด้วยคำสั่งจับกุมสมาชิกราชวงศ์ของซาอุดีอาระเบียในระดับเจ้าชายถึง 11 พระองค์ และรัฐมนตรีที่ยังอยู่ในคณะ ครม.ชุดปัจจุบันอีก 4 คน
บิสิเนสอินไซเดอร์รายงานว่า ในบรรดาเจ้าชาย 11 พระองค์ที่ถูกจับกุม รวมไปถึง เจ้าชาย อัล-วาลีด บิน ทาลาล (Prince al-Waleed bin Talal) ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ซาอุดีอาระเบีย ที่มีความมั่งคั่งระดับหลายพันล้านดอลลาร์ และเป็นนักลงทุนตัวยงในบริษัทสหรัฐฯ ที่รวมไปถึง ทวิตเตอร์ ไทม์วอร์เนอร์ แอปเปิล และเครือธนาคารซิตีกรุ๊ป (Citigroup) อ้างอิงจากสื่อนิวยอร์กไทม์ส
นอกจากนี้ คำสั่งการจับกุมของมกุฎราชกุมารยังรวมไปถึงอดีตรัฐมนตรีซาอุฯอีกจำนวนหลายสิบคน ที่ล้วนเกี่ยวข้องกับคดีคอร์รัปชันที่กำลังมีการเปิดการสอบสวนใหม่ อัล อารบิยาชี้
ทั้งนี้ เอพีรายงานเพิ่มเติมว่า แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ซาอุฯที่มีความใกล้ชิดในการจับกุม ให้ข้อมูลว่า เจ้าชายซาอุฯ 11 พระองค์ และ อดีตรัฐมนตรี รัฐมนตรีผู้ช่วย และนักธุรกิจ รวม 38 คน ถูกควบคุมตัวภายในโรงแรมหรูระดับ 5 ดาวกลางกรุงริยาด ที่มีการเอ่ยชื่อถึงโรงแรมริตซ์-คาร์ลตัน( Ritz-Carlton) เป็นหนึ่งในนั้น
ซึ่งบาดร์ อัล-อาชาเกอร์( Badr al-Asaker) เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังซาอุฯได้ออกมามายืนยันการกวาดล้างครั้งใหญ่ทางทวิตเตอร์ในวันอาทิตย์(5 พ.ย) โดยกล่าวว่า “เป็นคืนประวัติศาสตร์ที่มืดมิดต่อคอร์รัปชัน”
ในการจับกุมตัวเจ้าชายนักลงทุนไทม์วอร์เนอร์นั้น เอพีกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัท เดอะคิง โฮลดิง คอมปานี( the King Holding Company) ที่มีเจ้าชายอัล-วาลีด บิน ทาลาล ทรงนั่งเป็นประธานได้ออกมายืนยันกับเอพีว่า เจ้าชายอยู่ในจำนวนผู้ถูกทางการริยาดจับกุมในช่วงคืนวันเสาร์(4 พ.ย)จริง
โดยในแถลงการณ์ของชุดคณะกรรมการได้อ้างว่า ทางคณะจะเข้าไปตรวจสอบถึงเหตุน้ำท่วมครั้งร้ายแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 120 คนในเมืองเจดดาห์ ซาอุดีอาระเบีย เมื่อปี 2009 โดยในขณะนั้นพบว่ามีทรัพย์สินมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ได้รับความเสียหาย
และรวมไปถึงการจัดการชองรัฐบาลซาอุฯในการระบาดของเชื้อไวรัสทางระบบลมหายใจ MERS ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากในเวลาหลายปีต่อมาซึ่งเป็นผลมาจากการตรวจสอบครั้งมโหฬาร ที่รวมไปถึงในเดือนธันวาคม 2014 ศาลซาอุฯ ได้ตัดสินให้ผู้ต้องสงสัย 45 รายมีความผิด รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงซาอุฯ ในข้อหารับสินบน ใช้อำนาจอย่างมิชอบ และผิดในด้านการเงินสาธารณะ การฟอกเงิน และธุรกิจผิดกฎหมาย เป็นต้น
รอยเตอร์รายงานเพิ่มเติมว่า ในวันเสาร์ (4 พ.ย.) สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลลาซิซ แห่งซาอุดีอาระเบียได้ทรงแต่งตั้งรัฐมนตรีด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจใหม่ 2 คนให้เข้าทำหน้าที่
ทั้งนี้ ในการปรับคณะรัฐมนตรีริยาดรอบนี้ พบมีการสั่งปลดเจ้าชายมีเทบ บิน อับดุลลาห์ (Prince Miteb bin Abdullah) ออกจากรัฐมนตรีกระทรวงการปกป้องชาติ (Minister of National Guard) และได้ให้เจ้าชาย คาเลด บิน ไอยาฟ อัล-มูร์คริน (Prince Khalid bin Ayyaf al-Muqrin)
รอยเตอร์ชี้ว่า เจ้าชายมีเทบ บิน อับดุลลาห์ เป็นพระโอรสในกษัตริย์ซาอุดีอาระเบียในรัชกาลก่อน และเป็นพระองค์สุดท้ายที่มีอำนาจในระดับสูงในริยาด ถืออาจเทียบเท่ากับอำนาจของมกุฎราชกุมารซาอุฯ องค์ปัจจุบัน
ในขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและการวางแผนซาอุฯ อาเดล ฟาคีห์ (Adel Fakieh) ถูกสั่งปลด และประกาศให้ผู้ช่วยรัฐมนตรี โมฮัมเหม็ด อัล-ทูไวจรี (Mohammed al-Tuwaijri) เข้าทำหน้าที่แทน
ทั้งนี้ในการรายงานของวอชิงตันโพสต์ สื่อสหรัฐฯชี้ว่า ได้คำสั่งปลดผู้บัญชาการกองทัพเรือซาอุฯ พล.ร.อ.อับดุลลาห์ อัล-ซุลตาน (Admiral Abdullah Al-Sultan) เช่นกัน และได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ พล.ร.อ.ฟาห์ด บิน อับดุลลาห์ อัล-กีไฟลี (Fahd bin Abdullah Al-Ghifaili) เข้าทำหน้าที่แทน
รอยเตอร์รายงานว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งมโหฬารในวันเสาร์ (4 พ.ย.) ที่ริยาด เกิดขึ้นเพื่อจุดประสงค์ที่จะกระชับอำนาจให้กับมกุฎราชกุมาร เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน