xs
xsm
sm
md
lg

“ทรัมป์” ชี้ส่งตีนผีนิวยอร์กไป “กวนตานาโม” มีขั้นตอนยุ่งยาก-ต้อง “ประหาร” สถานเดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เซฟุลโล ไซปอฟ ผู้อพยพชาวอุซเบกิสถาน วัย 29 ปี ซึ่งขับรถกระบะพุ่งชนคนบนเลนจักรยานในนิวยอร์กเมื่อวันที่ 31 ต.ค.
รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ทวีตข้อความเรียกร้องซ้ำอีกครั้งเมื่อวานนี้ (2 พ.ย.) ให้ประหารชีวิตตีนผีชาวอุซเบกที่ขับรถขยี้เลนจักรยานในนิวยอร์ก โดยยอมรับว่าการส่งตัวฆาตกรรายนี้ไปยังเรือนจำกวนตานาโมที่ใช้กักขังผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายอาจมีขั้นตอนยุ่งยากเกินไป

เซฟุลโล ไซปอฟ วัย 29 ปี ถูกแจ้งข้อหาอย่างเป็นทางการเมื่อวันพุธ (1) ว่าให้การสนับสนุนกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) โดยขับรถกระบะพุ่งเข้าใส่เลนจักรยานริมแม่น้ำฮัดสัน จนทำให้มีผู้บาดเจ็บ 11 ราย และเสียชีวิต 8 ราย

ทรัมป์ ทวีตข้อความในวันเดียวกันว่าควรจะส่ง ไซปอฟ ไปยังเรือนจำกวนตานาโมซึ่งตั้งอยู่ในคิวบา แต่แล้ววานนี้ (2) เขากลับออกมาพูดว่ามัน “ยุ่งยากเกินไป”

“อยากจะส่งผู้ก่อการร้ายนิวยอร์กไปกวนตานาโม แต่ในทางสถิติแล้ว ขั้นตอนนี้ใช้เวลานานยิ่งกว่าผ่านกระบวนการยุติธรรมส่วนกลางเสียอีก” ข้อความของทรัมป์ระบุ

“การขังเขาไว้ในบ้านที่เขาก่ออาชญากรรมขึ้นก็เหมาะสมอยู่บ้างเหมือนกัน ควรดำเนินการให้เร็วที่สุด ประหารชีวิต!”

ตามข้อมูลในเอกสารคำฟ้อง ไซปอฟ บอกกับพนักงานสอบสวนว่า เขาได้แรงบันดาลใจจากการดูคลิปวิดีโอชวนเชื่อของกลุ่มไอเอสผ่านทางโทรศัพท์ และ “รู้สึกดี” ที่ได้สังหารผู้คน นอกจากนี้ ยังขออนุญาตนำธงสัญลักษณ์ “ไอเอส” มาติดโชว์ในห้องพักของโรงพยาบาลซึ่งเขานอนรักษาตัวอยู่ด้วย

ไซปอฟ ถูกส่งเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแบลล์วิว หลังถูกตำรวจยิงเข้าที่ท้องขณะเข้าจับกุม

ทรัมป์ ยังเรียกร้องซ้ำอีกครั้งเมื่อวานนี้ (2) ให้สภาคองเกรสยกเลิก “วีซ่าความหลากหลาย” (Diversity Immigrant Visa) ซึ่งเป็นช่องทางให้ ไซปอฟ เดินทางเข้าสหรัฐฯ เมื่อปี 2010 โดยบอกว่า “เราจำเป็นต้องทำให้อเมริกาปลอดภัย!”

โครงการวีซ่าความหลากหลายนี้ถูกประกาศใช้เมื่อปี 1990 โดยประธานาธิบดี จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช โดยมุ่งให้ถิ่นพำนักถาวรแก่พลเมืองของประเทศที่มีสถิติการอพยพเข้าอเมริกาค่อนข้างน้อย

ไซปอฟ ถูกอัยการตั้งข้อหาสนับสนุนวัสดุปัจจัยและทรัพยากรให้แก่องค์กรก่อการร้ายต่างชาติ และข้อหาใช้ความรุนแรงทำลายยานพาหนะจนเป็นเหตุให้บุคคลอื่น 8 คนถึงแก่ความตาย

จุน คิม รักษาการอัยการเขตแมนฮัตตัน ระบุว่า ข้อหาแรกมีโทษสูงสุดถึงจำคุกตลอดชีวิต ส่วนข้อหาที่สองก็อาจถึงขั้น “ประหาร” หากรัฐบาลสหรัฐฯ จะเรียกร้อง

การที่ ทรัมป์ ออกมาจี้ให้ลงโทษประหารชีวิตทั้งๆ ที่ ไซปอฟ ยังไม่มีโอกาสรับสารภาพหรือปฏิเสธข้อกล่าวหา อาจเปิดช่องให้ทนายจำเลยโต้แย้งได้ว่า ประธานาธิบดีจงใจ “สร้างอคติ” ให้แก่คณะลูกขุนที่จะตั้งขึ้นในอนาคต

“ผมเชื่อว่าฝ่ายจำเลยต้องยกประเด็นนี้มาอ้างว่ามันไม่ยุติธรรม และอาจตั้งคำถามว่าคณะลูกขุนจะสามารถตัดสินอย่างเป็นกลางได้หรือไม่” เจมส์ แอคเกอร์ อาจารย์ด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษเรื่องโทษประหารชีวิต ให้ความเห็น

แอคเกอร์ เอ่ยเสริมอีกว่า ประเด็นนี้อาจถูกใช้เป็นข้ออ้างว่าผู้พิพากษาไม่สมควรอนุญาตให้ลงโทษประหารชีวิต

ล่าสุด ทีมทนายของ ไซปอฟ ยังไม่ออกมาตอบคำถามในเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวได้ไปสอบถามความเห็น บิลล์ เดอ บลาซิโอ นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการประหารชีวิตตีนผีรายนี้ ซึ่งเขาก็ตอบทันทีว่าไม่เห็นด้วยกับโทษประหารทุกๆ กรณี

“ผมเชื่อว่าคนคนนี้ควรถูกปล่อยให้เน่าตายอยู่ในเรือนจำ” เดอ บลาซิโอ กล่าว

อัยการ คิม ชี้ว่า เอกสารคำฟ้องที่ส่งไปยังศาลส่วนกลางไม่ได้เป็นอุปสรรคใดๆ หากรัฐบาลจะประกาศให้ ไซปอฟ เป็น “นักรบฝ่ายศัตรู” (enemy combatant) แต่ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมองว่ามีโอกาสเป็นไปได้น้อย

ผู้รู้หลายคนเชื่อว่า การส่งตัว ไซปอฟ ไปเรือนจำกวนตานาโมแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะต้องให้ผู้พิพากษาศาลส่วนกลางอนุมัติส่งตัวเขาต่อคณะกรรมาธิการฝ่ายทหารเสียก่อน และที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีผู้ต้องหารายใดถูกส่งจากสหรัฐฯ ไปยังกวนตานาโมโดยตรง ยิ่งไปกว่านั้น ไซปอฟ ยังเป็นผู้พำนักถาวรในสหรัฐฯ ซึ่งทำให้เขามีสิทธิเท่าเทียมกับพลเมืองอเมริกัน

ทั้งนี้ การประกาศให้บุคคลคนหนึ่งเป็น “นักรบฝ่ายศัตรู” จะเปิดทางให้พนักงานสอบสวนสามารถสอบปากคำเขาได้ โดยไม่ต้องมีทนายอยู่ร่วมเป็นพยาน
กำลังโหลดความคิดเห็น