xs
xsm
sm
md
lg

ออสเตรเลียจ่อห้ามนักท่องเที่ยวปีน “หินแอร์ส” เริ่มปลายปี 2019

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ทางการออสเตรเลียเตรียมสั่งห้ามนักท่องเที่ยวปีนป่ายโขดหินอูลูรู หรือ “หินแอร์ส” (Ayers Rock) อันเลื่องชื่อ เพื่อป้องกันมิให้สิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมต่อคนท้องถิ่นกลายเป็นเพียง “สวนสนุก”

นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยถือว่าการปีนหินแอร์สเป็นกิจกรรมที่ต้องลองทำดูสักครั้งเมื่อมาถึงแดนจิงโจ้ ค่านิยมเช่นนี้สร้างความไม่พอใจแก่ชนพื้นเมืองเผ่าอานานกู (Anangu) ซึ่งถือว่าโขดหินใหญ่ที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวนี้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

ที่ประชุมคณะผู้บริหารอุทยานแห่งชาติ อูลูรู-คาตา จูตา ซึ่งประกอบด้วยชนพื้นเมืองและผู้แทนจากกรมอุทยานแห่งชาติ ได้มีมติเอกฉันท์ห้ามผู้มาเยือนปีนป่ายหินแอร์ส โดยจะเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่เดือน ต.ค.ปี 2019

“การตัดสินใจครั้งนี้ก็เพื่อให้ชาวอานานกูและบุคคลภายนอกรู้สึกภาคภูมิใจ และตระหนักว่าการห้ามทำกิจกรรมแบบนี้มันถูกต้องที่สุดแล้ว” แซมมี วิลสัน ประธานบอร์ดบริหารอุทยานแห่งชาติ ระบุ

เขาให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์เอบีซีในภายหลังว่า หินแอร์ส “ไม่ใช่สวนสนุก”

“ภาครัฐหรือคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอาจมองว่าเราควรเปิดกว้าง แต่กฎของพวกเขาใช้ไม่ได้กับที่นี่... มันเป็นสถานที่สำคัญ ไม่ใช่สนามเด็กเล่น หรือสวนสนุกอย่างดิสนีย์แลนด์”

ชนพื้นเมืองอะบอริจินมีความผูกพันกับหินแอร์สมานานนับพันๆ ปี และหินใหญ่ก้อนนี้ก็มีความหมายต่อจิตวิญญาณและวัฒนธรรมของพวกเขาเป็นอย่างมาก

วิลสัน ขอร้องให้นักท่องเที่ยวปฏิบัติตามคำสั่งของฝ่ายบริหารอุทยาน

“ถ้าผมไปเที่ยวต่างประเทศ และมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งคนในพื้นที่ไม่ต้องการให้คนนอกเข้าไปยุ่ง ผมก็จะไม่เข้าหรือปีนป่ายมันเด็ดขาด ผมจะเคารพมัน... ชนเผ่าอานานกูที่นี่ก็เหมือนกัน พวกเรายินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวเสมอ และไม่เคยปิดกั้นการท่องเที่ยว แค่เฉพาะกิจกรรมนี้ (ที่เราห้าม)”

กรมอุทยานแห่งชาติออสเตรเลียมีแนวคิดสั่งห้ามปีนป่ายหินแอร์สอย่างถาวรมานานแล้ว ซึ่งระหว่างนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของนักท่องเที่ยวแต่ละคนว่าจะยังขึ้นไปพิชิตหินยักษ์ซึ่งมีความสูงถึง 348 เมตรอีกหรือไม่

แต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาชมหินแอร์สประมาณ 300,000 คน แต่ระยะหลังๆ ผู้ที่พยายามปีนป่ายโขดหินก็ลดจำนวนลงมาก

การปีนหน้าผาอันสูงชันของหินแอร์สไม่ใช่เรื่องง่าย เคยมีนักท่องเที่ยวตกลงมาเสียชีวิตหลายรายในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ขณะที่อุณหภูมิในฤดูร้อนอาจสูงถึง 45 องศาเซลเซียส
กำลังโหลดความคิดเห็น