xs
xsm
sm
md
lg

ปธน.กาตาลุญญาโผล่ “ปรึกษาทนาย” ที่เบลเยียมรับมือข้อหากบฏ-ยังไม่มีแผน “ลี้ภัย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คาร์เลส ปุยจ์เดมองต์ อดีตประธานาธิบดีแคว้นกาตาลุญญา
เอเอฟพี - คาร์เลส ปุยจ์เดมองต์ ประธานาธิบดีแคว้นกาตาลุญญาซึ่งถูกรัฐบาลสเปนปลดจากเก้าอี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้พูดคุยกับทนายความคนหนึ่งที่เบลเยียมเมื่อวานนี้ (30 ต.ค.) หลังมีข่าวว่าอัยการสเปนเตรียมสั่งฟ้องข้อหาเป็นกบฏ เพื่อตอบโต้ที่รัฐบาลท้องถิ่นกาตาลันประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากสเปนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (27)

อย่างไรก็ตาม พอล เบเคิร์ต ทนายชาวเบลเยียม ผู้เชี่ยวชาญด้านการขอลี้ภัย และเป็นผู้ที่ ปุยจ์เดมองต์ ขอคำปรึกษา ยืนยันว่า อดีตประธานาธิบดีกาตาลุญญา “ไม่ได้เดินทางมาเพื่อขอลี้ภัย” แค่เตรียมหาวิธีตอบโต้ทางกฎหมายหากถูกมาดริดเล่นงานเท่านั้น

“สำหรับเรื่องนี้ (ลี้ภัย) ยังไม่ได้มีการตัดสินใจใดๆ ทั้งสิ้น” เบเคิร์ต ให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์ VRT

“ผมได้พูดคุยกับเขาตัวต่อตัวที่เบลเยียม และเขาก็มอบหมายให้ผมเป็นทนายส่วนตัว ผมมีประสบการณ์ช่วยเหลือชาวแคว้นบาสก์ (Basques) ที่ถูกเนรเทศหรือขอลี้ภัยมานานกว่า 30 ปี และคงเพราะเหตุผลนี้ เขาจึงมาขอคำปรึกษาจากผม”

สื่อสเปนรายงานว่า ปุยจ์เดมองต์ เดินทางไปเบลเยียมพร้อมกับ ส.ส.กาตาลันหลายคนที่ถูกปลดพ้นตำแหน่งเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (27)

เบเคิร์ต เคยเป็นทนายให้กับ ลูอิส มาเรีย เซนโกติตาเบนกัว หนึ่งในผู้ต้องสงสัยเป็นสมาชิกกลุ่มแบ่งแยกดินแดนแคว้นบาสก์ ETA ซึ่งถูกเนรเทศจากเบลเยียมกลับไปสเปนเมื่อปี 2010

โฮเซ มานูเอล มาซา อัยการสูงสุดสเปน ระบุว่ากำลังหาทางเอาผิดต่อคณะผู้นำรัฐบาลคาตาลันในข้อหาต่างๆ รวมถึงข้อหากบฏซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 30 ปี

“พวกเขาก่อวิกฤตสถาบันที่นำไปสู่การประกาศเอกราชฝ่ายเดียวในวันที่ 27 ต.ค.ซึ่งถือว่าละเมิดรัฐธรรมนูญของเราโดยสิ้นเชิง” มาซา ระบุ

ขณะนี้ศาลสเปนกำลังพิจารณาว่าจะตั้งข้อหาใดๆ อย่างเป็นทางการหรือไม่ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าเป็นเรื่องยากที่ ปุยจ์เดมองต์ จะขอสถานะผู้ลี้ภัยในเบลเยียม

สำหรับพลเมืองสหภาพยุโรปที่จะขอสถานะผู้ลี้ภัยนั้น ต้องเป็นกรณีที่พิเศษจริงๆ” เดิร์ก ฟาน เดน บุลก์ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐแห่งเบลเยียม (CGRA) ให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์ RTBF พร้อมอธิบายว่า ผู้ขอลี้ภัยจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าตนเอง “เสี่ยงต่อการถูกข่มเหงรังแก” ในประเทศบ้านเกิด โดยไม่มีโอกาสได้รับการปกป้องใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งสถานการณ์ที่ว่านี้ขัดแย้งโดยตรงกับ “หลักสิทธิขั้นพื้นฐาน” ซึ่งรัฐสมาชิกอียูทุกประเทศจำเป็นต้องมีอยู่แล้ว

ธีโอ ฟรังก์เคน รัฐมนตรีกระทรวงผู้ลี้ภัยเบลเยียม ซึ่งเป็นคนในสังกัดพรรค นิว เฟลมมิช อัลไลแอนซ์ (N-VA) พรรคของชาวเฟลมมิชที่ชูแนวคิดแบ่งแยกดินแดน ให้ความเห็นเมื่อวันเสาร์ (28) ว่า ปุยจ์เดมองต์ มีสิทธิ์ได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยในเบลเยียม ทว่า นายกรัฐมนตรี ชาร์ลส์ มิเชล ออกมาเบรกแนวคิดนี้ทันควัน ขณะที่โฆษกพรรค N-VA ก็ยืนยันกับผู้สื่อข่าวเอเอฟพีว่า พรรคของเขาไม่เคยเชื้อเชิญ ปุยจ์เดมองต์ ให้มาบรัสเซลส์

ปุยจ์เดมองต์ ยืนกรานว่า ผลประชามติเมื่อวันที่ 1 ต.ค. คือการมอบอาณัติให้รัฐสภาคาตาลันประกาศเอกราชจากสเปนได้

หลังจากรัฐสภาคาตาลันประกาศเอกราชเมื่อวันศุกร์ (27) มาดริดก็สั่งปลดรัฐบาลท้องถิ่นออก และเข้าควบคุมการบริหารแคว้นอันมั่งคั่งแห่งนี้ทันที โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญซึ่งถือเป็น “ระเบิดนิวเคลียร์” ที่ไม่เคยถูกใช้จริงมาก่อน และเพื่อสกัดความพยายามแบ่งแยกดินแดน นายกรัฐมนตรีมาเรียโน ราฮอย แห่งสเปนจึงได้ประกาศจัดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในวันที่ 21 ธ.ค. เพื่อแทนที่รัฐสภากาตาลันชุดเดิม

สหภาพยุโรปยังมีท่าทีเฉยชาต่อการประกาศเอกราชของกาตาลุญญา ขณะที่สถาบันต่างๆ ของอียูก็ยืนยันว่า ไม่เคยมีการนัดหมายหารือกับ ปุยจ์เดมองต์ ที่บรัสเซลส์
กำลังโหลดความคิดเห็น