รอยเตอร์ - มาซูด บาร์ซานี ผู้นำเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานแห่งอิรัก ประกาศสละตำแหน่งในวันที่ 1 พ.ย. หลังแผนจัดทำประชามติแยกตัวจากอิรักที่ตนเป็นตัวตั้งตัวตีนำไปสู่การสูญเสียจังหวัดเคอร์คุกและดินแดนอื่นๆ ที่เคิร์ดครอบครองอยู่ และส่อเค้าลุกลามเป็นวิกฤตการเมืองระดับภูมิภาค
กลุ่มผู้ประท้วงชาวเคิร์ดถืออาวุธบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาท้องถิ่นซึ่งกำลังมีการประชุมเพื่ออนุมัติจดหมายลาออกของประธานาธิบดี ขณะที่ ส.ส.เคิร์ดบางรายถูกผู้ชุมนุมปิดล้อมจนไม่สามารถออกจากสำนักงานได้ เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (29 ต.ค.)
ในการแถลงผ่านสื่อโทรทัศน์เป็นครั้งแรกหลังจากดินแดนบางส่วนที่ชาวเคิร์ดยึดครองอยู่ถูกกองทัพอิรักทวงคืนเมื่อวันที่ 16 ต.ค. บาร์ซานียืนยันว่าเขาจะไม่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกินกว่าวันที่ 1 พ.ย. “ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขใดๆ”
บาร์ซานี ซึ่งรณรงค์ให้ชาวเคิร์ดได้มีอำนาจปกครองตนเองมานานเกือบ 40 ปี บอกด้วยว่า “ผมยังเป็น มาซูด บาร์ซานี คนเดิม ยังเป็นเปชเมอร์กา (นักรบชาวเคิร์ด) และจะยังคงสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเอกราชต่อไป”
ก่อนหน้านั้น ผู้นำเคิร์ดได้ส่งจดหมายไปยังรัฐสภาท้องถิ่นเพื่อขอให้เตรียมมาตรการรองรับ และป้องกันภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่จะตามมา
รัฐสภาท้องถิ่นเคอร์ดิสถานได้เปิดประชุมที่เมืองอาร์บิลเมื่อวานนี้ (29) เพื่อหารือจดหมายของ บาร์ซานี โดย ส.ส. ส่วนใหญ่จากทั้งหมด 70 คนยอมรับการลาออกของประธานาธิบดี และมีผู้คัดค้านเพียง 23 คน
ระหว่างนั้นได้มีผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่งถือกระบองและปืนบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา และมีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด บางคนที่อยู่ด้านนอกบอกว่าต้องการ “ลงโทษ” พวก ส.ส.ที่ “ดูหมิ่น” บาร์ซานี ขณะที่สื่อมวลชนซึ่งเข้าไปทำข่าวบริเวณนั้นก็ถูกทำร้ายไปด้วย
เจ้าหน้าที่เคิร์ดคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์เมื่อวันเสาร์ (28) ว่า บาร์ซานี ตัดสินใจสละเก้าอี้โดยไม่รอให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ในวันที่ 1 พ.ย. ก่อนจะถูกเลื่อนออกไปอีก 8 เดือน
เคอร์ดิสถานซึ่งได้รับสิทธิในการปกครองตนเองมานานหลายปีเริ่มตกสู่ภาวะระส่ำระสาย หลังถูกรัฐบาลกลางอิรักใช้มาตรการแก้แค้นทั้งในทางทหารและเศรษฐกิจเพื่อตอบโต้การทำประชามติแยกตัวเป็นเอกราชเมื่อวันที่ 25 ก.ย. ซึ่งปรากฏว่าชาวเคิร์ดได้โหวตสนับสนุนการแยกตัวอย่างท่วมท้นถึงร้อยละ 93
ประชามติในเคอร์ดิสถานยังสร้างความไม่พอใจต่อตุรกีและอิหร่าน ซึ่งเกรงว่าชัยชนะของพวกเคิร์ดในอิรักจะทำให้ชาวเคิร์ดกลุ่มน้อยในประเทศตนคิดเหิมเกริมแบ่งแยกดินแดนขึ้นมาบ้าง
ในการแถลงข่าวเมื่อวานนี้ (29) บาร์ซานียืนยันว่า การทำประชามตินั้นถูกต้องชอบธรรม และผลของมัน “ไม่อาจถูกลบล้างได้” นอกจากนี้ การที่อิรักส่งทหารเข้ายึดจังหวัดเคอร์คุกและดินแดนอื่นๆ ที่อยู่ในความควบคุมของเคิร์ดก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า แบกแดดไม่ศรัทธาต่อระบบสาธารณรัฐ และต้องการจำกัดสิทธิของชาวเคิร์ด
บาร์ซานี ยังประณามสหรัฐฯ ที่เลือกถือหางอิรักและทอดทิ้งชาวเคิร์ด
“เราพยายามยุติเหตุนองเลือด แต่ทหารอิรักและกลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะห์ (Popular Mobilization Front) กลับไม่หยุดรุกราน โดยใช้อาวุธที่ได้จากสหรัฐฯ เป็นเครื่องมือ”
“ดังนั้น ชาวเคิร์ดจึงควรตั้งคำถามได้แล้วว่า สหรัฐฯ ทราบหรือไม่ว่าอิรักโจมตีเรา และเหตุใดพวกเขาจึงไม่ช่วยห้ามปราม”
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามท่าทีของสหรัฐฯ ต่อการประกาศลาออกของบาร์ซานี โฆษกหญิงของกระทรวงการต่างประเทศก็โบ้ยให้ไปถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่เคิร์ด “และเราคงไม่สามารถเข้าถึงบทสนทนาทางการทูตที่เป็นส่วนตัว”
ฝ่ายตรงข้ามบาร์ซานี กล่าวโทษว่าเขาเป็นต้นเหตุทำให้สูญเสียเคอร์คุก ที่เป็นทั้งแหล่งน้ำมันและบ้านทางจิตวิญญาณของชาวเคิร์ดส่วนใหญ่
การลาออกของ บาร์ซานี น่าจะช่วยให้รัฐบาลท้องถิ่นเคอร์ดิสถานกับรัฐบาลกลางอิรักเจรจากันง่ายขึ้น หลังจากที่มาตรการแก้แค้นของแบกแดดได้ทำให้ดุลอำนาจทางภาคเหนือของอิรักเปลี่ยนแปลงไปมาก
หลังจากเคอร์ดิสถานทำประชามติแยกตัว นายกรัฐมนตรีไฮเดอร์ อัล-อาบาดี แห่งอิรักก็ได้สั่งให้กองทัพบุกยึดดินแดนต่างๆ ที่เป็นข้อพิพาทระหว่างแบกแดดกับรัฐบาลเคิร์ดทันที
อาบาดี ยังต้องการควบคุมจุดผ่านแดนระหว่างเคอร์ดิสถานกับตุรกี, อิหร่าน และซีเรีย รวมถึงท่อส่งน้ำมันที่อิรักและเคิร์ดใช้ส่งออกน้ำมันดิบไปยังตุรกี
เคอร์คุกเป็นจังหวัดที่มีประชากรหลากหลายเชื้อชาติ และตั้งอยู่นอกเส้นเขตแดนอย่างเป็นทางการของเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน การที่อิรักยึดดินแดนแถบนี้กลับคืนไปได้เมื่อวันที่ 16 ต.ค. นับว่ามีนัยสำคัญ และอาจทำให้รายได้จากการส่งออกน้ำมันของเคอร์ดิสถานลดลงถึงครึ่งหนึ่ง
สถานีโทรทัศน์อิรักรายงานว่า กองทัพอิรักและนักรบเปชเมอร์กาได้เปิดเจรจารอบที่ 2 เมื่อวานนี้ (29) เพื่อยุติข้อพิพาทเรื่องการควบคุมจุดผ่านแดนในเคอร์ดิสถาน โดยการเจรจารอบแรกนั้นจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 ต.ค. ที่ผ่านมา และนายกฯ อาบาดี ได้สั่งให้ทหารอิรักยุติปฏิบัติการต่อต้านนักรบเคิร์ดเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
เมื่อวันพฤหัสบดี (26) อาบาดี ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเคอร์ดิสถานประกาศให้ผลประชามติ “เป็นโมฆะ” พร้อมปฏิเสธท่าทีรอมชอมของฝ่ายเคิร์ดที่เสนอจะระงับผลประชามติเอาไว้ก่อนเพื่อเปิดทางเจรจากับแบกแดด
“เราจะไม่ยอมรับอะไรทั้งสิ้น นอกจากการยกเลิกผลประชามติและเคารพรัฐธรรมนูญ” อาบาดี กล่าว