เอพี - ผ่านมาเกือบครึ่งศตวรรษและพระมหากษัตริย์ทรงเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว แต่ราษฎรบ้านห้วยห้อม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ยังคงไม่ลืมวันที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังหมู่บ้านห่างไกลในแถบภูเขาทางเหนือของประเทศไทยและเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาตลอดกาล สำนักข่าวเอพีนำเสนอรายงานสดุดีถวายพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในวันจันทร์ (23 ต.ค.)
พวกชาวบ้านเล่าเรื่องราวในอดีตให้สำนักข่าวเอพี ฟังว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงนำไฟฟ้าและถนนมายังหมู่บ้านของพวกเขา จากเดิมที่ต้องเดินทางอย่างทรหดใช้เวลานานกว่า 8 ชั่วโมงกว่า จะถึงหัวถนนที่อยู่ใกล้ที่สุด มีการปลูกกาแฟกันมากขึ้นและไม่นานผลผลิตก็ได้มาตรฐานระดับสูงจนปัจจุบัน “สตาร์บัคส์” กลายเป็นลูกค้าสำคัญ นอกจากนี้แล้ว ชาวบ้านยังมีรายได้จากความช่วยเหลือของพระองค์ ทรงส่งเสริมให้เลี้ยงแกะและทอผ้าขนสัตว์ ซึ่งขาดแคลนในประเทศไทย
เอพีรายงานว่า ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ดังนั้น กำชัย สวรรค์กิจสมบูรณ์ (Kamchai Sawankitsomboon) จึงบากบั่นเดินทางมากกว่า 750 กิโลเมตร เพื่อมายังพระราชวังในกรุงเทพฯ และหลังจากต่อแถวนาน 13 ชั่วโมง เขาก็ได้เข้ากราบพระบรมศพ เป็นหนึ่งในเกือบ 13 ล้านคน ที่เข้ากราบพระบรมศพในช่วงหนึ่งปีแห่งความโศกเศร้า ก่อนจะมีพระราชพิธีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในสัปดาห์นี้
สำนักข่าวเอพี ระบุว่า ตลอดการครองราชย์ 70 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงอุทิศพระวรกายในการประกอบพระราชกรณียกิจและก่อตั้งโครงการในพระราชดำริมามากกว่า 4,000 โครงการ
ที่บ้านห้วยห้อม ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติชาวกะเหรี่ยง กลุ่มมิชชันนารี ที่นำโดย ริชาร์ด แมนน์ ที่เดินทางมาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ เป็นผู้ริเริ่มสอนให้ชาวบ้านปลูกกาแฟเพื่อให้ชาวเขาเว้นจากการเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและการค้ามนุษย์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จมา ความช่วยเหลือจึงถูกสานต่อและยกระดับก่อเกิดเป็นโครงการพระราชดำริ สำนักข่าวเอพีระบุ
วิถีชีวิตของชาวบ้านห้วยห้อมดีขึ้นเพราะปลูกกาแฟส่งขายทั้งในและต่างประเทศ ทำกาแฟเองครบวงจรตั้งแต่ปลูกจนคั่วบด และยังทอผ้าขนแกะกันเองในบ้าน กลายเป็นสินค้าโอท็อปให้คนมาเลือกซื้อ
หม่อมหลวง จิรพันธุ์ ทวีวงศ์ รองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งดูแลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บอกกับเอพี ว่า โครงการต่างๆ จะยังเดินหน้าต่อผ่านกองทุนของรัฐบาลและเงินสนับสนุนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่า มรดกที่ยั่งยืนที่สุดของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสามารถช่วยให้ประเทศยืนหยัดรับมือกับคลื่นช็อคเศรษฐกิจโลกได้ดีกว่า