xs
xsm
sm
md
lg

‘ริชาร์ด เธเลอร์’ ได้รับ ‘รางวัลโนเบล’ จากผลงานทำให้ ‘เศรษฐศาสตร์’ มี ‘ความเป็นมนุษย์’ มากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ริชาร์ด เธเลอร์ ศาสตราจารย์ของวิทยาลัยธุรกิจบูธ มหาวิทยาลัยชิคาโก ขณะแถลงข่าวที่มหาวิทยาลัยในเมืองชิคาโก, สหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ (9 ต.ค.) ภายหลังทราบว่าเขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปีนี้ </i>
เอเอฟพี/รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ริชาร์ด เธเลอร์ (Richard Thaler) เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2017 นี้ จากผลงานที่แสดงให้เห็นว่า ในเวลาตัดสินใจทางด้านเศรษฐกิจและด้านทางการเงินนั้น เราไม่ได้กระทำด้วยความสมเหตุสมผลเสมอไป แต่ส่วนใหญ่แล้วกระทำด้วยธรรมชาติความเป็นมนุษย์ของเราอย่างล้ำลึก ทั้งนี้ตามประกาศของคณะกรรมการพิจารณาตัดสินเมื่อวันจันทร์ (9 ต.ค.)

จากการเชื่อมต่อช่องว่างระหว่างเศรษฐศาสตร์กับจิตวิทยา งานศึกษาวิจัยของเธเลอร์จึงเป็นการโฟกัสไปที่ เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (behavioural economics) ซึ่งมุ่งสำรวจตรวจสอบผลกระทบของปัจจัยด้านจิตวิทยาและด้านสังคม ที่มีต่อการตัดสินใจของบุคคลหรือของกลุ่ม ในระบบเศรษฐกิจและในตลาดการเงินทั้งหลาย

“เขาทำให้เศรษฐศาสตร์มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น” คณะกรรมการพิจารณาตัดสินรางวัลโนเบลระบุในคำประกาศตัดสิน โดยที่เรียกเธเลอร์ว่า เป็น “นักบุกเบิกผู้หนึ่ง” ในการบูรณาการเศรษฐศาสตร์กับจิตวิทยาเข้าด้วยกัน

เธเลอร์มีชื่อเสียงโด่งดังจากการเป็นผู้ร่วมก่อตั้งทฤษฎี “การสะกิด” ("nudge" theory) ซึ่งสาธิตให้เห็นว่า คนเราสามารถที่จะถูกตะล่อมชักจูงให้ตัดสินใจทำสิ่งที่จะทำให้พวกเขามีสุขภาพที่ดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้นได้อย่างไร

“ด้วยการสำรวจตรวจสอบถึงผลต่อเนื่องของความมีเหตุผลที่มีเพียงจำกัด (limited rationality), ความเอนเอียงพึงพอใจในทางสังคม (social preferences), และความขาดไร้การควบคุมตัวเอง (lack of self-control) เธเลอร์แสดงให้เห็นว่าคุณสมบัติของมนุษย์เหล่านี้ส่งผลกระทบกระเทือนอย่างเป็นระบบทั้งต่อการตัดสินใจต่างๆ ของบุคคล และต่อผลลัพธ์ของตลาดได้อย่างไร” ประกาศของคณะกรรมการตัดสินระบุ

ปรากฏตัวในหนัง “The Big Short” กับ ‘ไรอัน กอสลิ่ง’

“การค้นพบจากข้อมูลเชิงประจักษ์และความลึกซึ้งแหลมคมทางด้านทฤษฎีของเขา เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากในการสร้างเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม แขนงวิชาใหม่ที่กำลังขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว และได้ก่อให้เกิดผลกระทบอันลึกซึ้งในปริมณฑลจำนวนมากของการวิจัยทางเศรษฐกิจและนโยบายทางเศรษฐกิจ” คำประกาศบอก

ทั้งนี้ เธเลอร์เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำแก่รัฐบาลของหลายๆ ประเทศ เป็นต้นว่า ในเดนมาร์ก และฝรั่งเศส ขณะที่ เดวิด คาเมรอน เมื่อครั้งยังเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้จัดตั้งทีมงานขึ้นมาทีมหนึ่งเมื่อปี 2010 ในชื่อเล่นเรียกกันติดปากว่า “nudge unit” (หน่วยคอยสะกิด) เพื่อปรับแต่งเปลี่ยนโฉมนโยบายต่างๆ จำนวนหนึ่ง ให้อยู่ในลักษณะสะกิดกระตุ้นชาวอังกฤษอย่างนุ่มนวล เพื่อให้พวกเขาตัดสินใจในสิ่งที่ถูกซึ่งจะทำให้พวกเขามีสุขภาพที่ดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้น
<i>ศาสตราจารย์ ริชาร์ด เธเลอร์ ปรึกษากับภรรยาของเขา ฟรานซ์ เลคเลิร์ค ว่าควรใส่เสื้อตัวไหนดี ก่อนที่จะให้สัมภาษณ์ภายหลังทราบว่าเขาชนะรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปีนี้  ณ อพาร์ตเมนต์ของเขาในเมืองชิคาโก, สหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ (9 ต.ค.) </i>
ผลงานของเขากระทั่งทำให้ตัวเขาก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์แบบเท่ๆ อีกด้วย เมื่อเขาปรากฏตัวเคียงข้างกับ คริสเตียน เบล, สตีฟ แคเรลล์, และ ไรอัน กอสลิ่ง ในภาพยนตร์ปี 2015 เรื่อง “The Big Short” ซึ่งเนื้อเรื่องพูดถึงการพังทลายของฟองสบู่สินเชื่อและภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ ที่นำไปสู่วิกฤตภาคการเงินทั่วโลกปี 2008

เธเลอร์บอกกับคณะกรรมการตัดสินผ่านทางเทเลคอนเฟอเรนซ์เมื่อวันจันทร์ (9) ว่า เขา “ยินดีมาก” ที่ได้รับรางวัลนี้

“ผมจะไม่ต้องเรียก ยูยีน ฟามา (Eugene Fama) เพื่อนร่วมงานของผมว่า ‘ศาสตราจารย์ฟามา’ ในสนามกอล์ฟ อีกต่อไปแล้ว” เขาปล่อยมุก โดยเป็นการอ้างอิงถึงเพื่อนศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยชิคาโกของเขา ซึ่งได้รับรางวัลนี้เมื่อปี 2013

“ผมคิดว่าการยอมรับที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้กระทำ (agents) ในทางเศรษฐกิจนั้นคือมนุษย์ และตัวแบบทางด้านเศรษฐกิจจะต้องรวมเอาเรื่องนี้เข้าไปด้วย” เขากล่าว

นักเศรษฐศาสตร์วัย 72 ปีผู้นี้นอกจากได้เหรียญรางวัลแล้ว ยังจะได้รับเงินจำนวน 9 ล้านโครเนอร์ (ราว 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งเขาพูดแบบตลกๆ ว่า เขาจะ “พยายามใช้มันอย่างไร้เหตุผลเท่าที่จะเป็นไปได้”

แกะสลักภาพแมลงวันไว้บนรูโถปัสสาวะ

เธเลอร์เป็นศาสตราจารย์อยู่ที่วิทยาลัยธุรกิจบูธ (Booth School of Business) ของมหาวิทยาลัยชิคาโก โดยที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ดูจะเป็นที่นิยมชมชื่นของคณะกรรมการพิจารณาตัดสินรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ทั้งนี้จากจำนวนผู้ชนะรางวัลนี้จนถึงปัจจุบันซึ่งมี 79 คน (บางปีมีผู้ได้รางวัลร่วมกันหลายคน) มากกว่า 1 ใน 3 ทีเดียวเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่กับคณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชิคาโก

เธเลอร์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งแขนงวิชาการเงินพฤติกรรม (behavioural finance) ซึ่งศึกษาว่าความจำกัดของกระบวนการรับรู้ มีอิทธิพลต่อตลาดการเงินอย่างไร ได้พัฒนาตัวแบบ (โมเดล) สำหรับใช้อธิบายว่าทำไมผู้คนจึงมีความโน้มเอียงที่จะโฟกัสไปที่ผลกระทบแคบๆ แทนที่จะมองผลลัพธ์โดยรวมของการตัดสินใจแต่ละอย่างที่เขาเลือกจะทำ ซึ่งนี่เองคือสิ่งที่เรียกกันว่า ความมีเหตุผลที่มีเพียงจำกัด

การศึกษาเกี่ยวเรื่องนี้ยังครอบคลุมไปถึงพฤติกรรมที่ว่า ความรู้สึกไม่ชอบการสูญเสียนั้น อาจจะสามารถใช้อธิบายได้ว่าทำไมคนเราจึงให้คุณค่าแตกต่างกันแก่สิ่งเดียวกันแท้ๆ โดยที่จะให้คุณค่ามากกว่าเมื่อพวกเขาเป็นเจ้าของสิ่งนั้นอยู่ แต่ให้คุณค่าน้อยกว่าเมื่อพวกเขาไม่ได้เป็นเจ้าของ นี่คือสิ่งที่เรียกกันว่า ผลของความเป็นเจ้าของ (endowment effect)
<i>ศาสตราจารย์ ริชาร์ด เธเลอร์ เตรียมตัวพร้อมแล้วสำหรับให้สัมภาษณ์ เมื่อวันจันทร์  (9 ต.ค.) ที่อพาร์ตเมนต์ของเขาในเมืองชิคาโก, สหรัฐฯ </i>
งานศึกษาวิจัยของเธเลอร์แสดงให้เห็นว่า ทำไมคำมั่นสัญญาที่จะทำสิ่งดีๆ ในปีใหม่ หรือ “ปณิธานปีใหม่” จึงเป็นสิ่งที่รักษาเอาไว้ได้ยากเหลือเกิน สืบเนื่องจากสิ่งยั่วยวนล่อใจระยะสั้นทั้งหลาย จะหันเหชักชวนให้คนเราผละออกจากแผนการที่จะให้ผลดีงามในระยะยาว

“ในผลงานที่เป็นการนำไปประยุกต์ใช้ของเขานั้น เธเลอร์สาธิตให้เห็นว่า การสะกิด (nudging) คำที่เขาคิดขึ้นมาใช้ในทางวิชาการจะเข้ามาช่วยเหลือได้อย่างไรในการทำให้คนเราแสดงการควบคุมตัวเองได้ดียิ่งขึ้นในเวลาออมเงินสำหรับใช้จ่ายยามเกษียณ ตลอดจนในบริบทอื่นๆ” คำประกาศของคณะกรรมการกล่าว

เธเลอร์ และ แคสส์ ซันสไตน์ (Cass Sunstein) นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ชาวอเมริกันเช่นกัน ได้เปลี่ยนคำว่า “การสะกิด” ให้กลายเป็นคำขวัญทางการเมืองคำหนึ่งไปทีเดียว ในหนังสือปี 2008 ซึ่งพวกเขาร่วมกันเขียนโดยใช้ชื่อว่า “Nudge: Improving Decisions about Health, Wealth, and Happiness” หนังสือเล่มนี้กลายเป็นเบสต์เซลเลอร์ และมีอิทธิพลต่อรัฐบาลตลอดจนบริษัทต่างๆ ด้วยการเสนอหนทางใหม่ๆ ในการแก้ไขคลี่คลายประเด็นปัญหาด้านการออม, การบริโภค และการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน

ทั้งคู่ยังได้ร่วมกันเขียนลงในคอลัมน์ของนิตยสาร “นิว รีพับลิก” (New Republic) ซึ่งตีพิมพ์จำหน่ายในสหรัฐฯ เกี่ยวกับแนวความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ผู้หนึ่ง ซึ่งให้แกะสลักภาพแมลงวันตัวหนึ่งเอาไว้บนรูโถปัสสาวะของท่าอากาศยานชิโฟล (Schiphol) ของนครอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ แล้วปรากฏว่าทำให้ปริมาณปัสสาวะที่กระเซ็นออกจากโถลดน้อยลงไปถึงราว 80%

“ผลปรากฏออกมาว่า ถ้าคุณให้ผู้ชายมีเป้าสำหรับเล็งแล้ว พวกเขาก็ไม่อาจระงับใจไม่เล็งใส่เป้านั่นหรอก” เธเลอร์ กับ ซันสไตน์ เขียนลงในคอลัมน์ของนิตยสารดังกล่าวเมื่อปี 2008

“เกมผู้เผด็จการ”

เธเลอร์ยังมีอิทธิพลต่อการวิจัยทางทฤษฎีและการทดลองในเรื่องความเป็นธรรม โดยเขาแสดงให้เห็นว่า “ความใฝ่ใจในเรื่องความเป็นธรรมของผู้บริโภคมีผลอย่างไรในการทำให้พวกบริษัทห้างร้านต้องหยุดยั้งไม่ขึ้นราคาในช่วงเวลาที่มีดีมานด์ความต้องการสูง แต่ไม่ได้หยุดยั้งเช่นนั้นในเวลาที่ต้นทุนกำลังเพิ่มขึ้น” คำประกาศของคณะกรรมการตัดสินบอก

ทั้งนี้เธเลอร์และเพื่อนร่วมงานของเขาได้คิดสร้างเครื่องมือชิ้นหนึ่งขึ้นมาที่เรียกกันว่า “เกมผู้เผด็จการ” (the dictator game) ซึ่งถูกใช้ในการศึกษาวิจัยหลายๆ อย่าง ในการวัดทัศนคติเกี่ยวกับความเป็นธรรมในหมู่ประชาชนทั่วโลก

เกมนี้ออกแบบมาเพื่อใช้ประเมินว่าบุคคลมีการสนองตอบอย่างไรต่อสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งผลประโยชน์ของตัวเองปะทะกับความเสมอภาคเท่าเทียม โดยการทดลองนี้จะให้เงินแก่ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งที่เป็น “ผู้เผด็จการ” ขณะที่ผู้เป็น “คนรับ” (receiver) นั้น ไม่ได้อะไรเลย
<i>นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ริชาร์ด เธเลอร์ ยิ้มแย้มขณะเดินทางถึงห้องทำงานของเขาในวิทยาลัยธุรกิจบูธ มหาวิทยาลัยชิคาโก  เมืองชิคาโก, สหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ (9 ต.ค.) ภายหลังทราบว่าเขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปีนี้ </i>
ผู้ได้รางวัลเป็นอเมริกันเยอะมาก แต่ไม่มีผู้หญิง

รางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นทางการว่า รางวัลธนาคารกลางสวีเดนในด้านวิทยาศาสตร์ทางเศรษฐกิจเพื่อการรำลึกถึง อัลเฟรด โนเบล (Sveriges Riksbank Prize in Economic Sciences in Memory of Alfred Nobel) เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาในปี 1968 โดยไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรางวัล 5 สาขาดั้งเดิมซึ่งระบุเอาไว้ในพินัยกรรมปี 1895 ของ อัลเฟรด โนเบล มหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งจากกิจการผลิตดินระเบิด

เหมือนกับธรรมเนียมปฏิบัติในปีก่อนๆ เศรษฐศาสตร์เป็นสาขาสุดท้ายที่ประกาศผู้รับรางวัลในปีนี้ หลังจากที่รางวัลในสาขา สรีรวิทยาหรือการแพทย์, ฟิสิกส์, เคมี, วรรณกรรม และสันติภาพ ได้ประกาศผู้ชนะกันไปตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

สหรัฐฯเป็นประเทศที่มีพลเมืองได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์มากที่สุด ตั้งแต่ที่ก่อตั้งรางวัลสาขานี้มา ผู้ชนะราวๆ ครึ่งหนึ่งทีเดียวเป็นอเมริกัน โดยที่ระหว่างปี 2000 จนถึง 2013 นั้น มีนักวิชาการสหรัฐฯ เป็นผู้ชนะหรือผู้ชนะร่วมของรางวัลนี้อยู่ทุกปี

ขณะที่ชาวอเมริกันเป็นผู้ชนะท่วมท้นครอบงำรางวัลโนเบลไม่ใช่สาขาเศรษฐศาสตร์เท่านั้นแต่ยังในสาขาทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ด้วย กลับปรากฏว่าผู้หญิงได้รับรางวัลเหล่านี้กันน้อยมาก อันที่จริงแล้วมีสตรีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เคยได้โนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ นั่นคือ เอลิเนอร์ ออสตรอม (Elinor Ostrom) เมื่อปี 2009 แถมในปี 2017 นี้ ไม่มีผู้หญิงในฐานะปัจเจกบุคคลแม้แต่คนเดียวที่ได้รางวัลโนเบลไม่ว่าในสาขาใด

“เรารู้สึกผิดหวังเมื่อพิจารณาดูในภาพรวม ในการที่ไม่มีสตรีจำนวนมากขึ้นกว่านี้ได้รับรางวัล” เป็นคำกล่าวของ โกรัน แฮนส์สัน (Goran Hansson) เลขาธิการของราชบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (Royal Swedish Academy of Sciences) ซึ่งเป็นผู้พิจารณาตัดสินรางวัลโนเบลหลายสาขา

เขาบอกว่าทางราชบัณฑิตยสภาจะจัดการประชุมเพื่อหารือในประเด็นนี้ และจะขอให้ผู้ทำหน้าที่เสนอชื่อผู้สมควรได้รับรางวัลทั้งหลาย ระบุตัวนักวิทยาศาสตร์หญิงที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ รวมทั้งพิจารณาเรื่องการกระจายตัวทางชาติพันธุ์และทางภูมิศาสตร์ด้วย

“เรามีความเป็นห่วง เรากำลังมีมาตรการ ผมหวังว่าในอีก 5 ปี อีก 10 ปี เราจะเห็นการแบ่งสันปันส่วนที่แตกต่างออกไปมาก” แฮนส์สันกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น