รอยเตอร์ - กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อนุมัติจำหน่ายระบบต่อต้านขีปนาวุธในบรรยากาศชั้นสูง (THAAD) ให้ซาอุดีอาระเบีย ด้วยวงเงิน 15,000 ล้านดอลลาร์ โดยอ้างถึงความจำเป็นของริยาดที่จะต้องรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ ในภูมิภาค รวมถึงอริเก่าอย่างอิหร่าน กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แถลงวานนี้ (6 ต.ค.)
สัญญาณไฟเขียวนี้จะทำให้ซาอุดีอาระเบียสามารถสั่งซื้อหมู่อาวุธ THAAD ซึ่งประกอบด้วยแท่นยิงและขีปนาวุธสกัดกั้นจำนวน 360 ลูก รวมไปถึงสถานีควบคุมการยิง และระบบเรดาร์
“การจำหน่ายอาวุธคราวนี้เป็นไปตามนโยบายความมั่นคงและการต่างประเทศของสหรัฐฯ และยังช่วยสนับสนุนความมั่นคงของซาอุดีอาระเบียและภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียในระยะยาว ท่ามกลางการเผชิญหน้ากับอิหร่านและภัยคุกคามอื่นๆ” สำนักงานความร่วมมือด้านความมั่นคงทางกลาโหมในสังกัดเพนตากอน ระบุ
ทั้งซาอุดีอาระเบียและสหรัฐฯ ต่างวิพากษ์วิจารณ์ท่าทีก้าวร้าวของอิหร่านในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะโครงการพัฒนาขีปนาวุธของเตหะรานซึ่งใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาค
รัฐบาลอิหร่านมองว่าขีปนาวุธที่ทรงประสิทธิภาพคือสิ่งจำเป็นที่จะใช้ต่อกรกับสหรัฐฯ และชาติคู่อริ โดยเฉพาะบรรดารัฐอาหรับและอิสราเอล
สถานีโทรทัศน์ อัล-อราบิยา ของซาอุฯ รายงานเมื่อวันพฤหัสบดี (5) ว่า รัฐบาลริยาดเพิ่งตกลงสั่งซื้อระบบขีปนาวุธชนิดยิงจากพื้นดินสู่อากาศ S-400 จากรัสเซีย หลังจากที่สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนกรุงมอสโกอย่างเป็นทางการ ซึ่งนับว่าทรงเป็นกษัตริย์ซาอุฯ พระองค์แรกที่ได้เป็นแขกของรัฐบาลหมีขาว
การขายอาวุธของสหรัฐฯ คราวนี้ยังเกิดขึ้นในช่วงที่บทบาทของกลุ่มพันธมิตรซาอุฯ ต่อสงครามในเยเมนกำลังเป็นที่จับตามอง
ริยาดและชาติพันธมิตรอาหรับได้ส่งเครื่องบินเข้าไปทิ้งระเบิดถล่มกบฏฮูตีนิกายชีอะห์เยเมน หลังจากกบฏกลุ่มนี้ได้บุกยึดกรุงซานาและพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศเมื่อปี 2015 โดยรัฐบาลซาอุฯ ยืนยันว่าพวกเขากำลังจัดการกับ “ผู้ก่อการร้าย” และให้ความช่วยเหลือต่อประธานาธิบดีอับดุรรับบูห์ มันซูร์ ฮาดี ซึ่งเป็นผู้นำที่แท้จริงและมีความชอบธรรมของเยเมน
อย่างไรก็ตาม สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุว่า ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของฝ่ายซาอุฯ ได้คร่าชีวิตพลเรือนเยเมนไปเป็นจำนวนมาก
บริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน เป็นคู่สัญญาหลักที่รับหน้าที่ผลิตและพัฒนา THAAD และได้ เรย์ธีออน โค เข้ามาช่วยในเรื่องการติดตั้งประจำการ ระบบนี้ถูกออกแบบมาเพื่อทำลายขีปนาวุธพิสัยใกล้, กลาง และกลางกึ่งไกล (intermediate-range) โดยจะยิงขีปนาวุธสกัดกั้นขึ้นไปทำลายเป้าหมายในบรรยากาศระดับสูง หรือในอวกาศ
สหรัฐฯ เริ่มส่งระบบ THAAD เข้าไปติดตั้งในเกาหลีใต้ตั้งแต่ต้นปีนี้ เพื่อช่วยสกัดอันตรายจากจรวดพิสัยใกล้ของเกาหลีเหนือ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์อย่างรุนแรงจากจีนซึ่งเกรงว่าเรดาร์อันทรงพลังของ THAAD จะสอดแนมเข้าไปถึงแดนมังกรด้วย