xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : กราดยิงคอนเสิร์ต “ลาสเวกัส” ช็อกอเมริกา ปลุกกระแสเรียกร้อง “ควบคุมปืน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประชาชนจำนวนมากวิ่งแตกตื่นหนีตายออกจากเทศกาลดนตรีกลางแจ้งในนครลาสเวกัส หลังมีเสียงปืนดังขึ้นเมื่อค่ำวันที่ 1 ต.ค.
สหรัฐอเมริกาเผชิญเหตุนองเลือดครั้งใหญ่จากอาวุธปืนอีกครั้ง เมื่อคนร้ายวัย 64 ปี เปิดฉากสาดกระสุนจากโรงแรมระฟ้าในนครลาสเวกัสเข้าใส่ฝูงชนที่กำลังสนุกสนานกับการชมคอนเสิร์ตเพลงคันทรีเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าครึ่งร้อย บาดเจ็บอีกกว่าครึ่งพัน กลายเป็นโศกนาฏกรรมสังหารหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของอเมริกา และปลุกกระแสเรียกร้องกฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่เข้มงวดขึ้น ขณะที่ตำรวจกำลังเร่งหาเบาะแสเพื่อระบุให้ได้ว่าเหตุใดชายซึ่งไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมและอาการทางจิตจึงสะสมอาวุธร้ายแรงจำนวนมาก และเข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์ได้อย่างเลือดเย็น

โศกนาฏกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. ของวันอาทิตย์ (1 ต.ค.) ซึ่งเป็นช่วงท้ายๆ ของเทศกาลเพลงคันทรีที่จัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน โดยขณะเกิดเหตุมีผู้ชมแออัดกันอยู่ในงานซึ่งเป็นการแสดงคอนเสิร์ตกลางแจ้งถึง 22,000 คน และ เจสัน อัลดีน ศิลปินคันทรีชื่อดัง กำลังแสดงอยู่บนเวที

มือปืนซึ่งถูกระบุชื่อว่า “สตีเฟน เครก แพดด็อก” วัย 64 ปี ได้ทุบกระจกหน้าต่างห้องสวีทบนชั้น 32 ของโรงแรมมัณฑะเลย์ เบย์ และส่องปืนกราดยิงลงมาเบื้องล่าง ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 58 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 500 คนทั้งจากคมกระสุนและการถูกเหยียบย่ำระหว่างที่ผู้ชมนับหมื่นพยายามวิ่งหนีตาย

คลิปเหตุการณ์เผยให้เห็นผู้คนกรีดร้องอย่างเสียขวัญ และพยายามหมอบลงบนพื้นหรือวิ่งหนี โดยมีเสียงปืนรัวมาจากที่ไกลๆ ซึ่งตำรวจคาดคะเนว่าน่าจะไกลกว่า 500 ยาร์ด หรือประมาณ 457 เมตร

เหตุชุลมุนยุติลงเมื่อหน่วย SWAT จู่โจมเข้าไปในห้องสวีทของโรงแรม พบว่ามือปืนได้ยิงตัวตายแล้ว

ตำรวจสหรัฐฯ ระบุว่า แพดด็อก สาดห่ากระสุนใส่ผู้คนที่ชมคอนเสิร์ตประมาณ 9-11 นาทีก่อนจะฆ่าตัวตาย และยังติดตั้งกล้องเอาไว้ทั้งภายในและด้านนอกห้องพัก เพื่อจะได้รู้ว่าตำรวจมาถึงแล้วหรือยัง

เจ้าหน้าที่พบปืนทั้งสิ้น 47 กระบอก กระสุนอีกหลายพันนัด จากการตรวจค้นสถานที่ 3 แห่ง ได้แก่ ห้องพักในโรงแรมมัณฑะเลย์เบย์, บ้านของ แพดด็อก ที่เมืองเมสคีต และบ้านหลังที่สองของเขาในเมืองรีโน มลรัฐเนวาดา เฉพาะที่โรงแรมพบมากถึง 23 กระบอก และมีอยู่ 12 กระบอกที่ติดตั้งอุปกรณ์ “บัมพ์สต็อก” ซึ่งช่วยให้สามารถยิงรัวต่อเนื่องได้เหมือนปืนกล โดยอุปกรณ์ตัวนี้สามารถหาซื้อได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ภายในรถยนต์ของ แพดด็อก ยังมีสาร “แอมโมเนียมไนเตรต” ซึ่งเป็นสารผลิตปุ๋ยเคมีที่ใช้ทำระเบิดได้ โดยสารชนิดนี้เคยถูกใช้ก่อเหตุระเบิดสำนักงานรัฐในเมืองโอคลาโอมาซิตีเมื่อปี 1995 และทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 168 ราย

กลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) อ้างว่า แพดด็อก เป็น “ทหารของรัฐคอลีฟะห์” ที่เพิ่งเปลี่ยนมารับอิสลามเมื่อไม่กี่เดือนก่อน แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยังไม่ปักใจเชื่อ

ข้อมูลสาธารณะระบุว่า แพดด็อก เคยเดินทางไปทั่วฝั่งตะวันตกและตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกา เคยทำงานเป็นผู้จัดการอพาร์ตเมนต์และพนักงานบริษัทอากาศยานและอวกาศ ก่อนจะตัดสินใจซื้อบ้านอยู่ในชุมชนคนวัยเกษียณที่รัฐเนวาดาเมื่อไม่กี่ปีก่อน

อีริก น้องชายของ แพดด็อก ระบุว่า พี่ชายมีฐานะทางการเงินมั่นคง ชอบเล่นโปกเกอร์ออนไลน์และล่องเรือสำราญ และตนคิดไม่ออกเลยว่าพี่ชายทำเรื่องแบบนี้ได้อย่างไร

เขายืนยันว่าทางครอบครัวจะไม่จัดงานศพให้ แพดด็อก เนื่องจากผู้ตายไม่นับถือศาสนา อีกทั้งครอบครัวก็ไม่ต้องการเป็นข่าวด้วย

ตำรวจสหรัฐฯ หวังจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์จาก “มาริลู แดนลีย์” หญิงชาวออสเตรเลียเชื้อสายฟิลิปปินส์วัย 62 ปีซึ่งอยู่กินกับ แพดด็อก โดยขณะเกิดเหตุเธอเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวที่ฟิลิปปินส์

เอฟบีไอส่งเจ้าหน้าที่ไปดักรอ แดนลีย์ ที่สนามบินทันทีที่กลับถึงลอสแองเจลิสเมื่อค่ำวันอังคาร (3) และได้เชิญตัวไปสอบปากคำ ต่อมา แดนลีย์ ได้แถลงผ่านทนายว่า เธอไม่ล่วงรู้หรือระแคะระคายมาก่อนว่า แพดด็อก มีแผนก่อเหตุร้ายระหว่างที่เธอไม่อยู่

“ดิฉันรู้จัก สตีเฟน แพดด็อก ว่าเป็นคนจิตใจดี เอาใจใส่ และเงียบขรึม ดิฉันรักเขาและหวังที่จะใช้ชีวิตร่วมกับเขาอย่างสงบ ดิฉันไม่รู้มาก่อนจริงๆ ว่าเขามีแผนก่อเหตุรุนแรงทำร้ายใคร” เธอกล่าว
สตีเฟน เครก แพดด็อก วัย 64 ปี ซึ่งใช้ปืนกราดยิงลงมาจากชั้น 32 ของโรงแรมมัณฑะเลย์เบย์ในนครลาสเวกัส จนทำให้ผู้ที่ชมคอนเสิร์ตเบื้องล่างเสียชีวิตอย่างน้อย 58 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 500 คน
แดนลีย์ ยอมรับว่า แพดด็อก เป็นคนซื้อตั๋วเครื่องบินให้เธอ และยังโอนเงิน 100,000 ดอลลาร์ไปให้ซื้อทรัพย์สินในฟิลิปปินส์ด้วย ซึ่งทำให้เธอนึกสงสัยว่าเขาอาจต้องการแยกทาง ขณะที่ อีริค ซึ่งเป็นน้องชายของ แพดด็อก บอกกับผู้สื่อข่าวว่า เงินที่พี่ชายโอนไปให้ แดนลีย์ นั้นแสดงให้เห็นว่า “สตีฟใส่ใจคนที่เขารัก” และคงอยากปกป้องเธอด้วยการส่งเธอไปเมืองนอก ก่อนที่ตนจะลงมือก่อเหตุ

การสังหารหมู่ครั้งเลวร้ายที่สุดนี้ทำให้กฎหมายควบคุมอาวุธปืนกลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงในสหรัฐฯ อีกครั้ง และสร้างแรงกดดันต่อประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเชื่อว่าสิทธิในการครอบครองปืนตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 2 เป็นหลักการศักดิ์สิทธิ์อันจะละเมิดมิได้

ทรัมป์ ประณามการกระทำของมือปืนรายนี้ว่าชั่วร้ายเหมือน “ปีศาจ” และสั่งให้มีการลดธงครึ่งเสาทั่วประเทศจนถึงเวลาพระอาทิตย์ตกของวันศุกร์ที่ 6 ต.ค. ก่อนจะเดินทางไปเยือนนครลาสเวกัสในวันพุธ (4) เพื่อปลอบขวัญเหยื่อกราดยิง

พรรครีพับลิกันซึ่งคุมเสียงส่วนใหญ่ในสภาคองเกรสยังไม่มีทีท่าว่าจะยอมโอนอ่อนเรื่องการออกกฎหมายควบคุมอาวุธปืน ขณะที่ ฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศจากพรรคเดโมแครตซึ่งเป็นคู่แข่งของ ทรัมป์ ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้ว ติเตียนสมาคมไรเฟิลแห่งชาติ (National Rifle Association - NRA) ซึ่งกำลังล็อบบี้คองเกรสให้ออกกฎหมายที่จะทำให้การซื้อหาท่อเก็บเสียงปืน (gun silencer) ทำได้ง่ายกว่าเดิม

เมื่อผู้สื่อข่าวถาม ทรัมป์ ในวันอังคาร (3) ว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่สหรัฐฯ จะต้องเริ่มอภิปรายเรื่องกฎหมายควบคุมอาวุธปืนอย่างจริงจัง ก็ได้รับคำตอบจากผู้นำสหรัฐฯ ว่า “มันอาจจะเกิดขึ้นก็ได้ แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้”

เว็บไซต์ Hedonometer ซึ่งเป็นเครื่องมือวัดค่าความรู้สึกของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์พบว่า เหตุกราดยิงคอนเสิร์ตที่ลาสเวกัสทำให้วันจันทร์ที่ 2 ต.ค. กลายเป็น “วันโศกเศร้าที่สุดบนทวิตเตอร์” ค่าเฉลี่ยความสุขลดฮวบลงมาอยู่ที่ 5.77 ทำลายสถิติต่ำสุด 5.84 หลังเกิดเหตุกราดยิงบาร์เกย์ในเมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 49 ราย บาดเจ็บกว่า 50 คนเมื่อปีที่แล้ว
กระจกหน้าต่างห้องพักชั้น 32 ของโรงแรมมัณฑะเลย์เบย์ซึ่งถูกทุบจนแตก และเป็นจุดที่ แพดด็อก เล็งปืนลงมาก่อเหตุสังหารหมู่
กำลังโหลดความคิดเห็น