รอยเตอร์ - บังกลาเทศเปิดการเจรจากับพม่าในวันนี้ (2 ต.ค.) ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการให้รับผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮิงญากว่าครึ่งล้านคนจากพม่ากลับไป พวกเขาส่วนใหญ่เดินทางเข้ามาตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม
องค์การสหประชาชาติเรียกการอพยพของชาวโรฮิงญา 507,000 คนนับตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคมว่าเป็นภาวะฉุกเฉินด้านผู้ลี้ภัยที่มีพัฒนาการเร็วที่สุดในโลก และระบุว่า สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธกำลังทำการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา
พม่าปฏิเสธข้อหาดังกล่าว กองทัพของพวกเขาเริ่มปฏิบัติการในตอนเหนือของรัฐยะไข่เพื่อตอบโต้การโจมตีของกบฏโรฮิงญาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม
พม่ากล่าวโทษว่าฝ่ายกบฏโจมตีพลเรือนและก่อเหตุวางเพลิงที่ทำให้หมู่บ้านชาวโรฮิงญากว่า 400 หมู่บ้านในตอนเหนือของรัฐยะไข่หายไปกว่าครึ่ง ฝ่ายกบฏปฏิเสธข้อหาดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยระบุว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 500 คนในความรุนแรงรอบล่าสุดนี้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกบฏ นายกรัฐมนตรีชัยค์ ฮาซินา ของบังกลาเทศเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและจัดตั้งเขตปลอดภัยในพม่าเพื่อให้ผู้ลี้ภัยสามารถกลับไปได้
เธอยังเรียกร้องให้ทีมสืบสวนข้อเท็จจริงของยูเอ็นไปยังพม่า และขอให้พม่าทำตามคำแนะนำจากทีมที่นำโดยอดีตเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ โคฟี อันนัน เกี่ยวกับการแก้ปัญหาในรัฐยะไข่
บังกลาเทศจะเน้นย้ำข้อเสนอ 5 ข้อนี้ในเจรจาในกรุงธากากับ จอ ถิ่นส่วย เจ้าหน้าที่รัฐบาลเมียนมาร์ โดยเฉพาะเรื่องการรับผู้ลี้ภัยกลับไป เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของบังกลาเทศ ระบุ
“เราไม่คิดว่าวิกฤตนี้จะแก้ได้ในการประชุมเพียงครั้งเดียว” เจ้าหน้าที่บังกลาเทศที่ปฏิเสธจะให้เปิดเผยชื่อเนื่องจากเขาไม่ได้รับอนุญาตให้พูดกับสื่อ กล่าว
วิกฤตเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาของพม่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่ผู้นำประเทศ อองซานซูจี เคยเผชิญนับตั้งแต่ก่อตั้งรัฐบาลเมื่อปีที่แล้วภายหลังชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อปลายปี 2015
ในการปราศรัยทั่วประเทศเมื่อเดือนที่แล้ว ซูจีกล่าวว่า พม่าพร้อมเริ่มกระบวนการตรวจพิสูจน์ภายใต้ข้อตกลงปี 1993 กับบังกลาเทศ และ “ผู้ลี้ภัยจากประเทศนี้จะได้รับการยอมรับโดยไม่มีปัญหาใดๆ”
ในบังกลาเทศมีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาอยู่แล้วราว 300,000 คนก่อนการอพยพครั้งล่าสุดนี้