เอพี/รอยเตอร์/เอเจนซีส์/MGR ออนไลน์ - เมื่อวานนี้ (27 ก.ย.) ประธานาธิบดีทรัมป์ เล็งออกคำสั่งยกเลิก ห้ามเรือต่างชาติเข้าสู่ดินแดนอาณานิคมอเมริกาชั่วคราว หลังโดนเปอร์โตริโกกดดันหนัก เปิดโอกาสให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าถึง ล่าสุดยังคับขัน ทั่วทั้งประเทศขาดอาหาร น้ำสะอาด ยารักษาโรค และน้ำมันดีเซล นานร่วมสัปดาห์หลังเกิดวิกฤต สภาพทั่วไปยังฝันร้าย คนในพื้นที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เป็นที่ฮือฮาเมื่อพบว่านักร้องแรปเปอร์ชื่อดังของสหรัฐฯ “พิตบูล” ส่งเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวรับคนไข้โรคมะเร็งออกจากเกาะ
เอพีรายงานเมื่อวานนี้ (27 ก.ย.) ว่า ล่าสุดประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาเปิดเผยในวันพุธ (27) ว่า รัฐบาลของเขากำลังพิจารณาอาจยกเลิกกฎหมายห้ามไม่ให้เรือต่างชาตินำสินค้าเข้าสู่เปอร์โตริโกชั่วคราว
โดยนักการเมืองจากทั้งพรรคเดโมแครต และพรรครีพับลิกัน ต่างออกมากดดันทรัมป์ให้การช่วยเหลือเปอร์โตริโกมากขึ้นด้วยการประกาศยกเลิกการใช้กฎหมายโจนส์ (Jones Act) ชั่วคราว
โดย ส.ว.รัฐแอริโซนาฝั่งพรรครีพับลิกันชื่อดัง จอห์น แม็กเคน ได้ออกมากล่าวให้ความเห็นในวันอังคาร (26) ว่า “การยกเลิกฉุกเฉินกฎหมายชั่วคราว จะส่งผลอย่างมหาศาลต่อการให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุข์ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ”
ทรัมป์ได้กล่าวในวันพุธ (27 ก.ย.) ว่า “ ทางเรากำลังพิจารณาในเรื่องนี้” แต่กล่าวต่อว่า “แต่ทางเรามีบริษัทขนส่งทางเรือมากมาย และผู้คนจำนวนมาก และผู้คนที่ทำงานในอุตสาหกรรมการขนส่งสหรัฐฯไม่ต้องการให้กฎหมายโจนส์ถูกยกเลิก ทางเรามีเรือจำนวนมากที่เดินทางไปจนถึงที่นั่นแล้ว”
ทรัมป์เชื่อว่า ในปัจจุบันนี้มีเรือจากสหรัฐฯ เข้าไปให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้กับเปอร์โตริโกอย่างเพียงพอ จึงไม่จำเป็นต้องยกเลิก แต่อย่างไรก็ตาม เอพีรายงานว่า สมาพันธ์พันธมิตรทางทะเลอเมริกัน(The American Maritime Partnership) ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนบริษัทเดินเรืออเมริกันร่วม 400 แห่งได้กล่าวอ้างว่า ***การยกเลิกกฎหมายโจนส์ อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการบรรเทาทุกข์ให้กับเกอร์โตริโก***
ทางประธานของกลุ่มอ้างว่า จะส่งผลทำให้เกิดการติดขัดขึ้นในระบบเนื่องมาจากมีเรือต่างชาติเข้ามา และส่งผลทำให้เกิดความสับสนขึ้น และเป็นปัญหาต่อการกระจายการบรรเทาทุกข์
แต่ความเป็นจริงแล้ว ทางอุตสาหกรรมการขนส่งอเมริกาอาจเกรงว่า อาจจะต้องเสียผลประโยชน์จากการยกเลิกกฎหมายนี้ ซึ่งดูจากการให้สัมภาษณ์ของทรัมป์ พบว่า ดูเหมือนจะออกมาปกป้องคนของอุตสหากรรมการเดินเรือทะเลสหรัฐฯ
เอพีชี้ว่า ปัญหาด้านมนุษยธรรมในเปอร์โตริโกแวลานี้เกิดมาจาก การที่สินค้าบรรเทาทุกข์ไม่สามารถนำลงออกมาจากท่าเปอร์โตริโกได้ และส่งต่อไปให้กับประชาชนในพื้นที่ อ้างอิงจากแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ ในการประชุมทางไกลผ่านทางวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์
ทั้งนี้ รอยเตอร์รายงานเพิ่มเติมว่า หน่วยจัดการฉุกเฉินรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ที่รู้จักในนาม ฟีมา (FEMA) และกองทัพสหรัฐฯจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือเปอร์ดตริโกแล้ว แต่พบว่ายังคงมีประชาชนจำนวนมากบนเกาะเปอร์ดตริโกที่มีประชากรทั้งหมด 3.4 ล้านคน ยังคงต้องอยู่ต่อไปโดยที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ การเข้าถึงอาหาร น้ำสะอาด
สภาพทั่วไปในเวลานี้บนเกาะ ประชาชนต่างยืนรอต่อแถวยาวเพื่อรับน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลสำหรับปั่นไฟ และน้ำมันแกสโซลีนสำหรับเติมรถยนต์ให้สามารถวิ่งได้อีกครั้ง NPR สื่อสหรัฐฯรายงานก่อนหน้าว่า ปัญหาขาดเชื้อเพลิงในเปอร์โตริโกเป็นปัจจัยหลักต่อการเข้าไม่ถึงการบรรเทาทุกข์ของประชาชน
โดยนักข่าวในพื้นที่ได้เปิดเผยว่า ***ถึงแม้จะมีความช่วยเหลืออกมาจากกองทัพสหรัฐฯ แต่ทว่ารัฐบาลท้องถิ่นเปอร์โตริโกยังไม่สามารถแจกจ่ายของบรรเทาทุกข์ไปถึงมือประชาชนได้ เนื่องจากขาดน้ำมันเชื้อเพลิง***
ในขณะเดียวกัน สื่อสหรัฐฯ NBC NEWS รายงานก่อนหน้าว่า ในวันอังคาร (26 ก.ย.) ภายในท่าอากาศยานนานาชาติกรุงซานฮวน พบมีผู้โดยสารรอแน่นขนัดไปทั่ว โดยในขณะนั้นพบว่า แถวของผู้โดยสารต่อเป็นแนวยาว ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนเนื่องจากเครื่องปรับอากาศไม่ทำงาน
ทั้งนี้ พบว่าชาวเปอร์โตริโกนั้นมีสัญชาติอเมริกัน ทำให้สื่อสหรัฐฯชี้ว่า ผลจากวิกฤตพายุมาเรียที่สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลให้กับดินแดนอาณานิคมอเมริกา จะทำให้ชาวเปอร์โตริโกแห่เดินทางเข้าแผ่นดินใหญ่อเมริกาแทนอย่างไม่มีทางเลือก
ซึ่งพบว่าจนถึงวันอังคาร (26 ก.ย.) ไฟฟ้าสามารถกลับมาใช้ได้อีกครั้งบนเกาะเพียง 5% เท่านั้น
อ้างอิงจากแถลงการณ์กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ บนเว็บไซต์ทางการวันอังคาร (26) พบว่า 44% ของประชากรทั้งหมดในเปอร์โตริโกต้องอยู่โดยไม่มีน้ำสะอาดดื่ม และทางฟีมาจะจัดส่งโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมจำนวน 350 เครื่องเพื่อการสื่อสารในเปอร์โตริโก และหมู่เกาะยูเอส เวอร์จิน ไฮร์แลนด์
รอยเตอร์รายงานว่า ในวันพุธ(27 ก.ย) ผู้ว่าการรัฐแห่งเปอร์โตริโก และเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นออกมากดดันประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ให้ประกาศระงับใช้กฎหมายโจนส์( Jones Act) ชั่วคราว ซึ่งกำหนดว่า สินค้าใดๆก็ตามที่จะสามารถขึ้นท่าเปอร์โตริโกได้ ต้องถูกขนส่งโดยเรือที่มีสหรัฐฯเป็นเจ้าของและดำเนินการเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลสหรัฐฯไม่อนุญาตให้ต่างชาติสามารถนำสินค้าขึ้นที่ท่าเปอร์ดตริโกได้เป็นอันขาด
CNN สื่อสหรัฐฯ รายงานเมื่อวานนี้ (27 ก.ย.) ถือเป็นเรื่องสุดเหลือเชื่อ เมื่อพบว่าศิลปินชื่อดัง พิตบูล (Pitbull) ได้จัดส่งเครื่องบินส่วนตัวไปยังเปอร์โตริโก เพื่อทำการนำผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวนหนึ่งออกมาจากเกาะ เข้าสู่แผ่นดินใหญ่อเมริกาในการเข้ารับการรักษาเคมีบำบัดฉุกเฉิน จากสาเหตุ อ้างอิงจากแถลงการณ์เพนตากอน ที่พบว่า โรงพยาบาลในเปอร์ดตริโกทั้งหมด 69 แห่ง มีแค่ 11 แห่งเท่านั้นที่มีกระแสไฟฟ้าใช้
และการช่วยเหลือของนักร้องชื่อดังสหรัฐฯ ทำให้สมาชิกสภาคองเกรสจากเปอร์โตริโก เจนนิฟเฟอร์ กอนซาเลส (Jenniffer González) ได้ออกมาทวีตแสดงความขอบคุณในความช่วยเหลือ