เอเอฟพี - กระทรวงพาณิชย์จีนจะเริ่มจำกัดการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมไปยังเกาหลีเหนือตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป เพื่อแสดงให้เห็นว่าจีนพร้อมที่จะปฏิบัติตามมติคว่ำบาตรล่าสุดของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเพื่อดัดนิสัยเกาหลีเหนือ
สัปดาห์ที่แล้ว คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น รวมถึงจีนซึ่งเป็นสมาชิกถาวร ได้มีมติเอกฉันท์รับรองมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ เพื่อตอบโต้การทดสอบนิวเคลียร์ครั้งที่ 6 โดยแรกเริ่มนั้นสหรัฐฯ ขอให้มีการปิดกั้นขนส่งน้ำมันอย่างเต็มรูปแบบ (oil embargo) แต่สุดท้ายก็ยอมผ่อนปรนเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจีนและรัสเซีย “วีโต”
กระทรวงพาณิชย์จีนมีถ้อยแถลงผ่านเว็บไซต์เมื่อค่ำวานนี้ (22) โดยอ้างถึงมติคว่ำบาตรยูเอ็นครั้งล่าสุดซึ่งกำหนดห้ามไม่ให้รัฐสมาชิกยูเอ็นส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมกลั่นไปยังเกาหลีเหนือเกิน 500,000 บาร์เรลภายใน 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. และไม่เกิน 2 ล้านบาร์เรลภายใน 1 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. ปีหน้า
“รัฐบาลจีนจะประกาศแจ้งเมื่อปริมาณการส่งออกถึงระดับสูงสุดที่ยูเอ็นกำหนด และจะห้ามส่งออกน้ำมันกลั่นไปยังเกาหลีเหนือสำหรับปีนั้นๆ โดยเริ่มตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป”
กระทรวงยังระบุด้วยว่า รัฐบาลจีน “มีมาตรการแบนสิ่งทอนำเข้าจากเกาหลีเหนืออย่างครอบคลุม” โดยเป็นไปตามมติของยูเอ็นซึ่งห้ามโสมแดงส่งออกสิ่งทอไปยังต่างประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า มาตรการแบนสิ่งทอซึ่งเป็นสินค้าออกที่สำคัญของเกาหลีเหนือจะทำให้รายได้สกุลเงินแข็งของเปียงยางลดลงอย่างมาก โดยนักวิเคราะห์จาก IHS Markit ประเมินว่า โสมแดงทำรายได้จากการส่งออกส่งทอประมาณ 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
วัตถุดิบที่เกาหลีเหนือนำเข้าจากจีนจะถูกนำไปถักทอเป็นเครื่องนุ่งห่มตามโรงงานที่ค่าแรงถูกๆ ก่อนจะส่งกลับเข้าไปขายในจีนอีกทอดหนึ่ง
ประกาศของทางการจีนมีขึ้นท่ามกลางความวิตกกังวลของนานาชาติ เพราะในช่วงไม่กี่วันมานี้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ และผู้นำ คิม จอง อึน แห่งเกาหลีเหนือ ต่างออกมาขู่แก้แค้นซึ่งกันและกันด้วยถ้อยคำแข็งกร้าว
สหรัฐฯ กล่าวหาจีนว่าไม่พยายามใช้อิทธิพลกดดันเปียงยางให้ล้มเลิกโครงการนิวเคลียร์
เกาหลีเหนือนำเข้าน้ำมันส่วนใหญ่จากจีน แต่ปริมาณมากน้อยเท่าใดนั้นยังไม่มีข้อมูลแน่ชัด เนื่องจากปักกิ่งไม่เคยเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2014
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลศุลกากรของยูเอ็นซึ่งระบุว่า จีนส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันไปยังเกาหลีเหนือประมาณ 6,000 บาร์เรลต่อวันในปี 2016