xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : “ทรัมป์” ปราศรัย UN ด่ากราด “3 รัฐอันธพาล” ตอกย้ำนโยบาย “อเมริกาเฟิร์สต์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ กล่าวปาฐกถาต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ครั้งที่ 72
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ กล่าวปาฐกถาครั้งแรกบนเวทีสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ครั้งที่ 72 เมื่อวันอังคาร (19 ก.ย.) โดยขู่ทำลาย “เกาหลีเหนือ” ให้สิ้นซาก และเรียกผู้นำ คิม จอง อึน ว่าเป็น “มนุษย์จรวด” ที่กำลังหาทาง “ฆ่าตัวตาย” ขณะเดียวกันก็ชี้แจงวิสัยทัศน์ด้านการต่างประเทศภายใต้นโยบาย “อเมริกาเฟิร์สต์” ที่มุ่งสร้างพันธมิตรบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน โดยสหรัฐฯ จะไม่พยายามใช้กำลังทหารสร้างประชาธิปไตยขึ้นในดินแดนไกลโพ้น หรือกำหนดเจตจำนงของประเทศอื่นๆ

ถ้อยคำบางช่วงบางตอนของ ทรัมป์ ที่เต็มไปด้วยสำนวนเผ็ดร้อน เช่น ระบุว่าโลก “กำลังจะลงนรก” และเรียกอิหร่านว่า “รัฐอันธพาล” ชวนให้นึกถึงบทปาฐกถาของผู้นำจากค่ายสังคมนิยมอย่าง นีกีตา ครุสชอฟ, ฟิเดล คาสโตร หรือ อูโก ชาเบซ มากกว่าผู้นำโลกเสรีประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา

ทรัมป์ ไม่ได้เอ่ยถึงปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงซึ่งนานาชาติถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดที่โลกกำลังเผชิญอยู่ แม้แต่กระบวนการฟื้นฟูสันติภาพในตะวันออกกลาง หรือวิกฤตความรุนแรงในรัฐยะไข่ของพม่า ก็ไม่ถูกเอ่ยถึงเช่นกัน

เช่นเดียวกับที่อดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เคยจัดเกาหลีเหนือ อิรัก และอิหร่านเอาไว้ใน “ขั้วแห่งความชั่วร้าย” (axis of evil) ทรัมป์ เองก็เรียกร้องให้นานาชาติต้องเลือกระหว่าง “ฝ่ายดีส่วนใหญ่” และ “ฝ่ายเลวส่วนน้อย” แต่ใช้ถ้อยคำรุนแรงยิ่งกว่า บุช เพราะไม่เคยมีผู้นำสหรัฐฯ คนใดประกาศกลางเวทียูเอ็นว่าจะทำลายล้างประเทศอื่นให้ “สิ้นซาก” มิหนำซ้ำยังไม่ได้พูดเจาะจงไปที่ระบอบ คิม จอง อึน เท่านั้น แต่ขู่จะทำลายโสมแดงทั้งประเทศเลยทีเดียว

ไม่กี่นาทีก่อนที่ ทรัมป์ จะกล่าวปาฐกถา เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส ได้เรียกร้องให้ผู้นำทุกประเทศหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำยั่วยุ โดยเตือนว่า “คำพูดที่ก้าวร้าวรุนแรงอาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้นได้”

เกาหลีเหนือได้ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งที่ 6 และยิงขีปนาวุธข้ามหมู่เกาะญี่ปุ่นไปตกในมหาสมุทรแปซิฟิกถึง 2 ครั้งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งยังเปิดตัวขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ICBM) ที่อาจยิงถล่มเป้าหมายได้เกือบทุกจุดในอเมริกา เล่นเอารัฐบาลสหรัฐฯ นั่งไม่ติดต้องก็ออกมาปรามหนักๆ ด้วยการส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ไปบินข่มขู่เหนือคาบสมุทรเกาหลี และยังจัดการซ้อมรบด้วยระเบิดจริงใกล้เขตปลอดทหารอีกด้วย

เจมส์ แมตทิส รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่าสหรัฐฯ มี “หลายทางเลือก” ที่จะใช้จัดการกับเปียงยางได้ รวมถึงบางวิธีที่เขามั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อความปลอดภัยของกรุงโซล

บทปาฐกถาของ ทรัมป์ ยังโจมตีข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 ซึ่งถือเป็นผลงานด้านการทูตชิ้นโบแดงของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา โดยกล่าวว่า “เชื่อผมเถอะ ถึงเวลาแล้วที่ทั่วโลกจะร่วมกับอเมริกาเรียกร้องให้อิหร่านยุติการไล่สังหารและการทำลายล้าง” พร้อมเตือนด้วยว่า ภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดสำหรับเตหะรานไม่ใช่กองทัพอเมริกัน แต่เป็นประชาชนอิหร่านที่หมดความอดทน

โมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ทวีตข้อความตอบโต้ทันทีว่าคำปราศรัยของผู้นำสหรัฐฯ นั้น “โง่เขลาเบาปัญญา” และปลุกเร้าความเกลียดชังราวกับถ้อยคำในยุคกลาง ไม่ใช่ยูเอ็นในศตวรรษที่ 21 ขณะที่ประธานาธิบดี เอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศส เตือนว่าการยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์จะเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวง และหากวอชิงตันไม่เคารพข้อตกลง ก็เท่ากับไร้ความรับผิดชอบ

ทรัมป์ ยังวิจารณ์ประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร แห่งเวเนซุเอลาว่าเป็นผู้ทำลายระบอบประชาธิปไตยในประเทศตนเอง และสถานการณ์ในเวเนซุเอลาเป็นสิ่งที่อเมริกาไม่อาจยอมรับได้

ผู้นำสหรัฐฯ รายนี้ยังคงชูนโยบาย “อเมริกาเฟิร์สต์” และเผยแนวคิดชาตินิยมจัดออกมาอย่างโจ่งแจ้ง โดยประกาศว่าตราบที่ยังอยู่ในตำแหน่ง เขาจะปกป้องผลประโยชน์ของอเมริกาเหนือสิ่งอื่นใด
(จากซ้ายไปขวา) ประธานาธิบดี ฮัสซัน รอฮานี แห่งอิหร่าน, ผู้นำ คิม จอง อึน แห่งเกาหลีเหนือ และประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร แห่งเวเนซุเอลา
ในความพยายามย้ำให้เห็นข้อแตกต่างระหว่างนโยบายต่างประเทศของตนกับผู้นำสหรัฐฯ คนก่อนๆ ทรัมป์ กล่าวว่าแต่ละประเทศย่อมมีสิทธิ์ที่จะรักษาไว้ซึ่ง “ค่านิยม” และ “วัฒนธรรม” ของตนเองโดยปราศจากแทรกแซงจากภายนอก และหน้าที่ของยูเอ็นคือการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างชาติที่เข้มแข็งและมีอิสระ ไม่ใช่กำหนดกฎเกณฑ์ให้ทุกประเทศต้องทำตาม

เจ้าหน้าที่อาวุโสของทำเนียบขาวระบุว่า ทรัมป์ ใช้เวลาอ่านทบทวนบทปาฐกถาส่วนที่มีความเป็น “ปรัชญาล้ำลึก” ซึ่งจะแสดงให้ทั่วโลกได้เห็นถึงวิสัยทัศน์ด้านการต่างประเทศของเขา และถ้อยแถลงนี้ “ครอบคลุมทัศนะของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมากที่สุดเท่าที่ ทรัมป์ เคยพูดมา”

เจ้าหน้าที่คนเดิมเผยด้วยว่า รัฐมนตรีต่างประเทศ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ถึงกับลุกขึ้นยืนเมื่อ ทรัมป์ พูดจบ และหันไปกล่าวชม สตีเฟน มิลเลอร์ ที่ปรึกษาฝ่ายนโยบายซึ่งเป็นคนร่างบทให้ ทรัมป์ ว่า “คุณทำงานยอดเยี่ยมมาก” โดย มิลเลอร์ นั้นถูกมองว่าเป็นพวกชาตินิยมจัดเช่นเดียวกับ สตีฟ แบนนอน อดีตหัวหน้าทีมยุทธศาสตร์ของ ทรัมป์ ที่เพิ่งลาออกไป ส่วน ทิลเลอร์สัน จะมีแนวคิดที่ค่อนข้างเป็นสากลมากกว่า

เฉิง เสี่ยวเหอ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเหรินหมินในกรุงปักกิ่ง มองว่าคำปราศรัยของ ทรัมป์ เป็นสัญญาณเตือนว่าสหรัฐฯ ใกล้จะประกาศสงครามกับเกาหลีเหนือเต็มทน และหากเปียงยางทดสอบขีปนาวุธอีกก็มีโอกาสสูงมากที่วอชิงตันจะลงมือสกัดกั้นด้วยตัวเอง

แอรอน เดวิด มิลเลอร์ อดีตผู้แทนเจรจาด้านตะวันออกกลางของรัฐบาลสหรัฐฯ เตือนว่า สิ่งที่ ทรัมป์ พูดอาจทำให้ประเทศพันธมิตรเข้าใจผิดคิดว่าเขาไม่ต้องการที่จะรับผิดชอบภารกิจสำคัญๆ ของโลก

“ปัญหาใหญ่ของโลกอย่างเกาหลีเหนือและอิหร่านไม่สามารถแก้ได้ด้วยนโยบายแบบ อเมริกาเฟิร์สต์ ซึ่งเน้นแต่ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เองเป็นหลัก” เขากล่าว พร้อมชี้ว่าคำปาฐกถาครั้งนี้สะท้อนให้เห็นแนวคิดชาตินิยมจัดที่ยังฝังแน่นในหัวของทรัมป์ ซึ่งเจ้าหน้าที่สาย “โกลบัลลิสต์” ในทำเนียบขาวยังไม่มีอิทธิพลพอที่จะเปลี่ยนแปลงทัศนคตินี้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น