xs
xsm
sm
md
lg

In Pics : ไม่ธรรมดา! “ดอน ปรมัตรวินัย” นั่งติด “ทรัมป์” ประชุมข้อเสนอ “ปฏิรูปยกเครื่องบริหารยูเอ็น” เชื่อลงนามหนุนตามร่างวอชิงตันเรียบร้อย แถมมีภาพท่านทูตจัดเก้าอี้ให้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพข่าวจากเอพี-เอเอฟพี-รอยเตอร์
เอเจนซีส์/MGR ออนไลน์/เอพี - สุดฮือฮา “ดอน ปรมัตถ์วินัย” รมว.ต่างประเทศไทย นั่งแถวหน้าติดทั้งผู้นำสหรัฐฯ เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ และรมว.ต่างประเทศอังกฤษ ประชุมปฏิรูปยูเอ็นรับหลักการสหรัฐฯ เชื่อฝ่ายไทยต้องยอมลงนามรับรองก่อนถึงเข้าห้องประชุมได้ หลังทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็นยืนยัน “จะเข้าร่วมได้ต้องเซ็นรับรองก่อนเท่านั้น” พบวันเปิดตัวทรัมป์ ไม่มีทั้งรัสเซียและจีนร่วม แต่ส่งเสียงปฏิเสธ

เดลีเมล์สื่ออังกฤษ รายงานในวันจันทร์ (18 ก.ย.) ว่า เอพีและสื่อทั่วโลกรายงานภาพการประชุมยูเอ็นรอบนอกในวันแรกที่ถูกจัดขึ้นในเมืองนิวยอร์ก ซิตี เมื่อวานนี้ (18) พบภาพรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ดอน ปรมัตถ์วินัย นั่งติดกับผู้นำสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นชาติเจ้าภาพจัดการประชุม และเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาชาติ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส รวมไปถึงรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ บอริส จอห์นสัน

สื่อนอกเป็นต้นว่า เอพี เอเอฟพี และรอยเตอร์ ต่างรายงานไปถึงภาพความใกล้ชิดระหว่างท่านทูตดอนและทรัมป์ ที่มีทั้งฉากท่านทูตไทยช่วยขยับเก้าอี้ให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไปจนถึงขั้นเขย่ามืออย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานปรากฏว่าตัวแทนจากไทยสามารถแทรกเข้าไปนั่งในจุดสำคัญติดกับผู้นำระดับโลกได้อย่างไร

ทั้งนี้ ในรายงานข่าวประจำวันของกระทรวงต่างประเทศไทยวันนี้ (19 ก.ย.) ยืนยันว่า  “นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 72 (UNGA72) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 17-24 กันยายน 2560”

โดยในรายงานสรุปประจำวันของกระทรวง ชี้ว่า ในการเดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัชชาองค์การสหประชาชาติ ผู้นำกระทรวงบัวแก้วมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมว่าด้วย ปฏิรูปสหประชาชาติ เพื่อสนับสนุนกูเตอร์เรส ตามคำเชิญของผู้นำสหรัฐฯ นั้น ซึ่งทางกระทรวงต่างประเทศของไทยระบุว่า การเดินทางร่วมการประชุมในฐานะ “เป็นเจ้าภาพร่วมและการรับรองร่างปฏิญญาทางการเมืองของกิจกรรมระดับสูงว่าด้วยการปฏิรูปสหประชาชาติ (Political Declaration for UN Reform High Level Event)”

ซึ่งสื่อการเมืองสหรัฐฯ เดอะ โพลิติโก ระบุว่า สหรัฐฯเป็นผู้ร่างข้อเสนอผลักดันให้มีการปฎิรูปครั้งใหญ่นี้ ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างย่อๆว่า “ปฏิญญาทางการเมือง 10 ประการ” (the 10-point political declaration )ในขณะที่ผู้นำองค์กรคือ กูเตอร์เรส กลับเพิ่งจะเข้ารับตำแหน่งเมื่อไม่นานมานี้เอง

โดยในปฏิญญา 10 ข้อตามคำประกาศ พบว่าในข้อแรก ได้ระบุว่า “เราขอขอบคุณเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กูเตอร์เรส ในบทบาทต่อพันธะของเขาที่มีต่อวาระการปฏิรูปครั้งใหญ่ ทั้งในด้าน สันติภาพและความมั่นคง การพัฒนาและการจัดการ”

และในปฏิญญาข้อแรกยังระบุว่า ได้มีบรรดานานาประเทศลงนามร่วมสนับสนุนตามข้อเสนอนี้ โดยกล่าวว่า “เรา ตัวแทนของชาติสมาชิกขององค์การสหประชาชาติที่ได้มีการลงนาม ดังนี้ขอประกาศพันธผูกพันต่อกรอบหลักการเพื่อในการสนับสนุนความเป็นผู้นำของเลขาธิการใหญ่ และเพื่อความโปร่งใสที่จะมีผลสัมฤทธิ การปฎิรูปเพื่อที่จะทำให้องค์การสหประชาชาติสามารถทำงานได้ตามเป้าหมาย”

เดอะอินไซเดอร์ ฟ็อกซ์นิวส์ รายงานในวันอาทิตย์ (15 ก.ย.) ว่า ในวันศุกร์ (15) ที่ผ่านมา นิกกี เฮลีย์ (Nikki Haley ) ได้ออกมายืนยันกับผู้สื่อข่าวทำเนียบขาวว่า การประชุมในวันจันทร์ (18) ระดับยูเอ็นครั้งแรกของทรัมป์นั้น มีความสำคัญเป็นอย่างมาก และชี้ไปถึงชาติที่จะมีสิทธิ์อยู่เข้าร่วมนี้ว่า ได้ร่วมลงนามรับรองร่างข้อเสนอของสหรัฐฯ โดยเธอกล่าวว่า

“เราได้ขอให้ชาติอื่นๆ ให้ร่วมลงนามในการสนับสนุนเพื่อการปฏิรูป และ 120 ชาติ ได้ร่วมลงนาม และจะเข้าร่วมครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่มหัศจรรย์มาก”

อย่างไรก็ตาม ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการขององค์การสหประชาชาติ ที่เผยแพร่ในวันจันทร์ (18) ระบุว่า มีชาติสมาชิกทั้งหมด 128 ชาติได้ร่วมลงนามผลักดันการปฎิรูป

ทางฟ็อกซ์นิวส์ยืนยันว่า ***ในตอนแรก ทั้ง 120 ชาติต้องยอมลงนามรับรองร่างข้อเสนอของวอชิงตัน ก่อนที่จะได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานนี้ได้*** โดยสื่อสหรัฐฯ ได้ชี้ว่ามีชาติสมาชิกยูเอ็นมากกว่าครึ่งให้การสนับสนุนร่างปฏิญญา 10 ข้อของสหรัฐฯ และทำให้เชื่อว่า การที่ท่านทูต ดอน ปรมัตถ์วินัย ของไทยสามารถมีที่นั่งระดับแถวหน้ากระทบไหล่ทั้งทรัมป์และกูเตอร์เรสได้นั้น อาจยอมลงนามตามสหรัฐฯ อย่างแน่นอน แต่ในแถลงการณ์จากไทยไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนในเรื่องนี้

โดยแถลงของกระทรวงผ่านทางเว็บไซต์กล่าวเพียงว่า ไทยเข้าร่วมเพื่อ “แสดงเจตนารมณ์สนับสนุนเลขาธิการสหประชาชาติในการปฏิรูปสหประชาชาติ และส่งเสริมบทบาทของไทยที่ร่วมปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในกระบวนการปฏิรูปสหประชาชาติ”


อย่างไรก็ตาม ยังคงถือว่าเป็นเงื่อนงำสำหรับวาระการผลักดันการปฏิรูปองค์การสหประชาชาติตามแนวคิดของสหรัฐฯ นี้ว่า ไทยจะมีผลได้หรือผลเสียอย่างไร เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า ทรัมป์เป็นนักธุรกิจที่เขี้ยวลากดิน และทำทุกอย่างตามดีลธุรกิจเท่านั้น และมักมีการต่อรองทางการเงินเข้าเกี่ยวข้อง จะเห็นได้จากตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ผู้นำสหรัฐฯพยายามกดดันชาติต่างๆ เป็นต้นว่า ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมไปถึง ชาติในยุโรปให้ต้องออกเงินสนับสนุนช่วยสหรัฐฯ ด้านการทหารในการปกป้องประเทศให้มากขึ้น และยังรวมไปถึงนโยบายปกป้องการค้าอเมริกา พยายามผลักดันให้ทั้งแคนาดาและเม็กซิโก ต้องกลับมาเจรจา ข้อตกลงการค้าเสรีนาฟตาใหม่อีกครั้ง รวมไปถึงทำการช็อกโลกด้วยการประกาศถอนตัวออกมาจากข้อตกลงการค้าเสรีรอบมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นต้น

ซึ่ง นิกกี เฮลีย์ ได้ออกมาชื่นชมทรัมป์ถึงร่างการปฎิรูปยูเอ็นว่า เป็นการริเริ่มตามสายตาของนักธุรกิจที่เห็นถึงศักยภาพที่จะเกิดขึ้น อ้างอิงจากเดลีเมล สื่ออังกฤษ

สื่ออังกฤษยังชี้ต่อว่า ผู้นำสหรัฐฯ ได้เคยออกมาตำหนิองค์การสหประชาชาติมาแล้วในอดีต โดยพบว่าในระหว่างการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา ทรัมป์เคยกล่าวหาองค์การสหประชาชาติว่า “ไม่เป็นมิตรกับเสรีภาพ และแม้แต่กับสหรัฐฯ” และได้ยังเคยวิจารณ์ไปถึงเม็ดเงินที่ทางสหรัฐฯ ต้องให้การสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ถือเป็นผู้ที่ช่วยเหลือด้านการเงินแก่ยูเอ็นรายใหญ่ที่สุด โดยพบว่า สหรัฐฯ ให้เงินช่วยเหลือ 22% ของจำนวนงบประมาณกลางยูเอ็นทั้งหมด 5.4 พันล้านดอลลาร์ และอีก 28.5% ของจำนวนงบประมาณยูเอ็นทั้งหมด 7.3 พันล้านดอลลาร์ด้านการรักษาสันติภาพของยูเอ็น สื่อแคนาดา เดอะโกลบแอนด์เมล รายงาน

การขึ้นกล่าวต่อหน้าเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติในวันจันทร์ (18 ก.ย.) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ยืนยันว่า “องค์การสหประชาชาติต้องให้ความสนใจต่อผู้คนมากขึ้น และลดความล่าช้าตามระบบราชการลง” ซึ่งทางทรัมป์ได่กล่าวหาองค์กรยูเอ็นของกูเตอร์เรสที่นั่งฟังอยู่ด้านข้างว่า “ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะทำงานตามอย่างระบบราชการ และการจัดการบริหารที่ผิดพลาด” อ้างอิงจากสื่อวิทยุเสรียุโรป rferl

โดยทางวิทยุเสรียุโรป rferl ได้ชี้ต่อว่า ที่ผ่านมารัฐบาลของทรัมป์ได้เคยออกมาข่มขู่ที่จะตัดลดเงินช่วยเหลือองค์การสหประชาชาติในส่วนของสหรัฐฯ มาแล้ว โดยฝ่ายทรัมป์ระบุว่า เป็นการเปลืองภาษีคนอเมริกัน ซึ่งในครั้งนั้นกูเตอร์เรสได้ออกมาชี้ว่า การทำเช่นนี้จะเป็นการสร้างปัญหาที่ไม่มีวันแก้ได้

ซึ่งพบว่าเป็นผลมาจากการกดดันของรัฐบาลทรัมป์ ทำให้ในเดือนมิถุนายนล่าสุด ที่ประชุมใหญ่องค์การสหประชาชาติได้มีงมติอให้ตัดงบลดลงเกือบ 600 ล้านดอลลาร์จากงบประมาณด้านรักษาสันติภาพจำนวนทั้งหมด 8 พันล้านดอลลาร์

และในการประชุมวันจันทร์ (18 ก.ย.) ทรัมป์ยังคงยืนกระต่ายขาเดียวต่อ โดยกล่าวยืนยันว่า “สหรัฐฯ ยังคงไม่เห็นด้วยต่อแนวทางขององค์การสหประชาชาติในการลงทุนต่างๆ”

ทั้งนี้ในทั้ง 10 ข้อของปฏิญญาว่าด้วยการปฎิรูปองค์การสหประชาชาติ พบว่ามีจำนวนอย่างน้อย 2 ข้อที่ทางวอชิงตันเสนอ ให้มีการลดทอนความซับซ้อนภายในองค์กรลง ที่ไม่แน่อาจเป็นการลดด้านกำลังคน หรือการสั่งปิดบางส่วนของหน่วยงาน และรวมไปถึงวอชิงตันยังสนับสนุนการให้ชาติสมาชิกต้องรับผิดชอบตัวเองเพิ่มมากขึ้น

ปฏิญญาข้อ 6 อ้างอิงจากโพลิติโก ได้กล่าวว่า “เราให้คำมั่นที่จะลดการซ้อนในคำสั่งการและอำนาจ การทับซ้อน รวมไปการเหลื่อมล้ำภายในหน่วยงานหลักขององค์การสหประชาชาติ” และในปฏิญญาข้อ 10 ได้กล่าวว่า “เรารับรู้ว่าแต่ละประเทศมีความรับผิดชอบเบื้องต้นต่อระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศของตัวเอง และทางเรายังรับรู้ต่อในบทบาทขององค์การสหประชาชาติในการให้พื้นที่เพื่อการแสดงออกถึงความเป็นพันธมิตร เพื่อสนับสนุนต่อพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก”

และสิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนในการขึ้นกล่าวของทรัมป์ในที่ประชุม ถึงปัญหาการจัดการบริหารเงินของหน่วยงานยูเอ็นและจำนวนคนที่ทำงานให้กับยูเอ็น อ้างอิงจากเดลีเมล์ ที่พบว่าทรัมป์ได้กล่าวว่า “ในขณะที่องค์การสหประชาชาติได้รับงบประมาณที่เพิ่มขึ้น 140% แต่กลับพบว่าจำนวนเจ้าหน้าที่กลับเพิ่มมากกว่า 2 เท่านับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ซึ่งทางเราไม่เห็นด้วยต่อการบริหารการลงทุนของทางองค์การสหประชาชาติ” ที่เชื่อว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นครั้งใหญ่ หากกูเตอร์เรสยอมทำตามอย่างที่วอชิงตันต้องการจริง แต่ทว่าในฝ่ายรัสเซียที่มีที่นั่งในคณะมนตรีความมั่นคงในองค์การสหประชาชาติ และไม่ได้ร่วมอยู่ในการประชุมเมื่อวานนี้ (18 ก.ย.) ที่รวมไปถึงจีนซึ่งไม่ได้เข้าร่วมเช่นกัน ได้ออกมาให้ความเห็นกับสื่อทาสส์ (TASS) ของรัสเซีย โดยยืนยันว่า

“องค์การสหประชาชาติไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” วาซิลี เนเบนซี (Vasily Nebenzy) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำองค์การสหประชาชาติให้ความเห็นผ่านการรายงานของสื่อวิทยุเสรียุโรปวันนี้ (19 ก.ย.)

นอกจากนี้ บรรดาเจ้าหน้าที่รัสเซียยังออกมาชี้ว่า ทางรัสเซียยังคงให้การสนับสนุนการทำงานตามแบบระบบราชการขององค์การสหประชาชาติต่อไป และกล่าวว่า ทางรัสเซียเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่จะมีต่อองค์การสหประชาชาติต้องเกิดมาจากการเห็นร่วมของบรรดาชาติสมาชิก มากกว่าที่จะออกมาจากใบสั่งที่ถูกร่างโดยวอชิงตัน

ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เกนนาดี กาติลอฟ (Gennady Gatilov) ออกมายืนยันเช่นเดียวกันว่า “การเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องออกมาจากการเจรจาหารือเท่านั้น”
ภาพข่าวจากเอพี-เอเอฟพี-รอยเตอร์
ภาพข่าวจากเอพี-เอเอฟพี-รอยเตอร์
ภาพข่าวจากเอพี-เอเอฟพี-รอยเตอร์
ภาพข่าวจากเอพี-เอเอฟพี-รอยเตอร์
ภาพข่าวจากเอพี-เอเอฟพี-รอยเตอร์

ภาพข่าวจากเอพี-เอเอฟพี-รอยเตอร์
ภาพข่าวจากเอพี-เอเอฟพี-รอยเตอร์
ภาพข่าวจากเอพี-เอเอฟพี-รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น