เอเจนซีส์ - องค์การเพื่อผู้อพยพสากล (IOM) ออกรายงานล่าสุดถึงปัญหาการเสียชีวิตผู้อพยพกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพิ่มขึ้น สาเหตุที่มีการเข้มงวดบริเวณพรมแดนยุโรปด้านตะวันออก ผลักดันให้กลุ่มผู้ลี้ภัยต้องเลือกเส้นทางข้ามเข้ายุโรปทางทะเลแทน
หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานวันนี้ (11 ก.ย.) ว่า รายงานขององค์การเพื่อผู้อพยพสากล (IOM) ที่ออกมาวันจันทร์ (11) แสดงถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นในเส้นทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเข้าสู่ยุโรป โดยชี้ว่า
“ในขณะที่จำนวนในภาพรวมของผู้อพยพพยายามข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนผ่านทางยุโรปตะวันออกลดลงอย่างมากในปี 2016 หลังจากข้อตกลงสหภาพยุโรป-ตุรกีเกิดขึ้น แต่กลับพบว่าอัตราการเสียชีวิตได้เพิ่มขึ้น 2.1% ในปี 2017 เมื่อเปรียบเทียบจาก 1.2% ในปี 2016” อ้างอิงจากรายงานของ IOM
ในรายงานยังกล่าวต่อโดยชี้ไปถึงปัญหาว่า “ส่วนหนึ่งที่จำนวนผู้อพยพเพิ่มมากขึ้นในการตัดสินใจเลือกเส้นทางที่เสี่ยงอันตรายที่สุด โดยความพยายามในการข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนช่วงตอนกลาง และส่งผลทำให้ในปี 2016 ทุก 1 ใน 49 คนของผู้อพยพเสียชีวิต”
โดยในรายงาน IOM ได้ระบุถึงเส้นทางตอนกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนนั้นจะจบที่ ลัมเปดูซา (Lampedusa) หรือเกาะซิซิลี ของอิตาลี ซึ่งอ้างอิงจากรายงานชิ้นนี้ พบว่า 88% ของจำนวนผู้อพยพทั้งหมดเสียชีวิตในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่ง 1 ใน 4 ของจำนวนผู้อพยพเกือบ 1.5 ล้านคนที่เดินทางมาถึงฝั่งยุโรปนับตั้งแต่ปี 2014 เลือกที่จะเสี่ยงตายใช้เส้นทางนี้
ทั้งนี้ ในเดือนที่ผ่านมา อิตาลีซึ่งเป็นประเทศแรกที่ผู้อพยพจากตอนกลางของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเดินทางมาถึง ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดทำการผลักดันผู้อพยพไม่ให้สามารถเดินทางมาจนถึงพรมแดนทางทะเลของอิตาลีได้ โดยการตั้งศูนย์กักกันผู้อพยพนอกชายฝั่งขึ้น
แต่กระนั้น แอมเนสตีสากล หน่วยปกป้องสิทธิมนุษยชนออกมาตำหนินโยบายโรม โดยชี้ว่าเป็นการผลักดันให้ผู้อพยพเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศ และความรุนแรง หรือถูกสังหาร ในขณะเดียวกันในรายงานของ IOM ได้ออกมาชี้ว่า พบว่าขบวนการลอบค้ามนุษย์ในลิเบีย และอิตาลีเลือกที่จะใช้เรือที่มีคุณภาพต่ำในการขนผู้อพยพข้ามทะเล
ในรายงานก่อนหน้าของเดอะการ์เดียนในช่วงกลางเดือนสิงหาคมล่าสุด กลุ่ม NGO 3 หน่วยงานที่ออกปฎิบัติการทางทะเลช่วยผู้อพยพจากน้ำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งเดินทางออกมาจากฝั่งลิเบีย ได้ออกมาประกาศหยุดการทำหน้าที่ พบว่าองค์กรช่วยชีวิตเด็ก (Save the Children) องค์กรซีอาย (Sea Eye) ของเยอรมนี และองค์กร และ MSF Médecins sans Frontières ได้ออกแถลงการณ์ประกาศการหยุดปฎิบัติหน้าที่ชั่วคราว โดยอ้างเหตุผลความไม่ปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ NGO บนเรือบรรเทาทุกข์ ที่ต้องปะทะกับเจ้าหน้าที่ยามฝั่งลิเบียบ่อยครั้งกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่มีบางครั้งพบถูกหน่วยงานยามฝั่งลิเบียใช้ปืนกับเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์เหล่านี้ โดยทางลิเบียอ้างถือสิทธิ์ปฏิบัติการนอกพื้นที่ 12 ไมล์ทะเลจากฝั่งในการปฎิบัติหน้าที่
สื่ออังกฤษรายงานต่อถึงรายงาน IOM ว่า จากสถิติพบว่ามีผู้อพยพไม่ต่ำกว่า 120,000 คน เดินทางเข้าสู่ยุโรปทางทะเลในปีนี้ และพบว่าส่วนใหญ่จะออกเดินทางออกมาจากลิเบียในทวีปแอฟริกา ซึ่งตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับอิตาลี และรวมไปถึงจากฝั่งตุรกีมุ่งหน้าเข้ากรีซ หรือเส้นทางใหม่เมื่อไม่นานมานี้ จากโมร็อกโก เข้าสู่สเปน
ทั้งนี้ 82% ของผู้อพยพเดินทางเข้าอิตาลีล้วนออกมาจากลิเบียทั้งสิ้น ซึ่งแค่เฉพาะในเดือนมิถุนายนปีนี้ พบว่าหน่วยงานยามฝั่งอิตาลีสามารถช่วยเหลือผู้อพยพจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้ถึง 5,000 คนภายในแค่วันเดียว
ทั้งนี้เดอะการ์เดียนชี้ว่า รายงาน IOM ที่ถูกเปิดเผยวันนี้ (11 ก.ย.) ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ มกราคม 2014 - มิถุนายน 2017 และไม่ครอบคลุมไปถึงปัญหาโรฮิงญาอพยพหนีออกจากพม่า หรือการที่หน่วยงานยามฝั่งลิเบียผลักดันบรรดาหน่วยกู้ภัยเอ็นจีโอไม่ให้ช่วยเหลือผู้อพยพนอกชายฝั่งลิเบีย