เอเจนซีส์ - กลุ่มจับตาเกาหลีเหนือ “38 นอร์ท” เปิดเผยภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุด 1 วันหลังเปียงยางทดสอบนิวเคลียร์ครั้งที่ 6 ชี้ มีแผ่นดินถล่มเกิดขึ้นหลายระลอกในเกาหลีเหนือหลังทดสอบบริเวณเขามันทัพ (Mount Mantap) ด้านบนของอุโมงค์ทดสอบนิวเคลียร์ เชื่อเกิดจากแผ่นดินไหวระดับ 6.3 จากวันอาทิตย์ (3 ก.ย.) ด้านทีมนักวิทยาศาสตร์จีนเคลื่อนไหวกดดัน เปียงยางเสี่ยงทำให้ภูเขาทั้งลูกถล่ม และถึงขั้นทำให้เกิดการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีไปทั่วภูมิภาค
หนังสือพิมพ์เซาท์มอร์นิงไชน่าโพสต์ รายงานเมื่อวานนี้ (6 ก.ย) ว่า มีการพบ “เหตุการณ์ดินถล่ม” เกิดขึ้นขึ้นบริเวณใกล้จุดทดสอบระเบิดไฮโดรเจนของเกาหลีเหนือ ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลมาจากการทดสอบในวันอาทิตย์ (3 ก.ย.) ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวระดับ 6.3 เขย่าภูมิภาค เป็นการเปิดเผยล่าสุดหลังไม่กี่วันก่อนหน้า นักวิทยาศาสตร์จีนประจำมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเหอเฟย์ ในเมืองเอกและเมืองขนาดใหญ่ที่สุดของมณฑลอันฮุย ออกมาเตือนว่า ภูเขาบริเวณด้านบนสถานีทดทดสอบนิวเคลียร์ก่อนหน้า 5 ครั้ง มีสิทธิ์เสี่ยงที่จะถูกเปียงยางทำให้ถล่มลงมา
ซึ่งในภาพถ่ายผ่านดาวเทียมที่ถูกเปิดเผยครั้งแรกเมื่อวานนี้ (6 ก.ย.) โดยกลุ่มสังเกตการณ์เกาหลีเหนือ 38 นอร์ท ประจำมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอพกินส์ ของสหรัฐฯ ชี้ว่า มีปรากฏการณ์แผ่นดินถล่มเกิดขึ้น บริเวณภูเขา Mount Mantap
ทั้งนี้ อ้างอิงจาก บีบีซี สื่ออังกฤษ ทาง 38 นอร์ท ยืนยันว่า “เป็นปรากฏการณ์แผ่นดินถล่มที่เกิดขึ้นหลายจุดและอยู่อย่างกระจัดกระจาย มากกว่าการทดสอบที่เกิดขึ้น 5 ครั้งก่อนหน้า”
โดยในการแถลงของ 38 นอร์ท ชี้ว่า ภาพถ่ายดาวเทียมเหล่านี้ถูกถ่ายขึ้นในวันจันทร์ (4 ก.ย) หรือ 1 วันหลังจากที่เปียงยางทำการทดสอบ
ในรายงานของสื่ออังกฤษยังกล่าวต่อว่า แต่อย่างไรไม่พบว่าแรงสั่นสะเทือนมหาศาลวันอาทิตย์ (3 ก.ย.) จะทำให้ปล่องภูเขา (creter) เกิดถล่มตามมา ซึ่งพบว่ามีผู้เชี่ยวชาญบางส่วนชี้ว่า แผ่นดินไหว 6.3 แมกนิจูด ได้ส่งผลทำให้อุโมงค์การทดสอบใต้ดินของศูนย์ทดสอบนิวเคลียร์พุงกเยรี (Punggye-ri) ใต้เขามันทัพ (Mount Mantap) เกิดถล่มลงมาแล้ว
เซาท์มอร์นิงไชน่าโพสต์ รายงานว่า ทั้งนี้ นักวิจัยทางธรณีฟิสิกส์จีน เตือนว่า หากเขามันทัพถล่มลงมาแล้ว จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีสู่ชั้นบรรยากาศครั้งร้ายแรงในภูมิภาค
ซึ่งในแถลงการณ์ของผู้นำทีมนักวิจัยด้านธรณีฟิสิกส์ผู้ทำการศึกษาประจำมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเหอเฟย์ และดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านธรณีศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยสโตนบรุ๊ก (Stony Brook University) ในนิวยอร์ก เหวิน เหลียนซิง (Wen Lianxing) กล่าวผ่านแถลงการณ์ที่ออกมาในวันจันทร์ (4 ก.ย)
โดยชี้ว่า อ้างอิงจากข้อมูลที่เก็บได้จากการเกิดแผ่นดินไหวไม่ต่ำกว่า 100 ครั้ง ในการตรวจจับจากศูนย์ในจีนทำให้พบว่า ขอบเขตความความคลาดเคลื่อน(margin of error) ไม่เกิน 100 ม.
ด้าน หวัง ไนยาน (Wang Naiyan) อดีตประธานนิวเคลียร์โซไซตีจีน และนักวิจัยอาวุโสประจำโครงการอาวุธนิวเคลียร์จีนได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ โดยชี้ว่า “หากว่าการคำนวณของทีมเหวินถูกต้อง” จะถือเป็นหันตภัยร้ายแรงทางด้านสิ่งแวดล้อมทีเดียว
ซึ่งเขาได้ให้ความเห็นต่อกรณีเขามันทัพที่จะมีสิทธิ์ถล่ม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับ (1) “พิกัดที่เปียงยางติดตั้งระเบิดไว้ภายใน”
โดยผู้เชียวชาญจีนรายนี้อธิบายว่า หากเป็นในกรณีที่วางระเบิดไว้ภายในอุโมงค์ที่ลากไปตามแนวยาวขนานกับพื้นโลก ลึกเข้าไปยังใจกลางของเทือกเขา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า (เมื่อเปรียบเทียบกับระบบอุโมงค์ตามแนวลึกลงไปยังแกนโลก) และง่ายต่อการติดตั้งสายเคเบิลและเซนเซอร์ตรวจจับเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลการระเบิด แต่จะมีความเสี่ยงสูงต่อการที่ด้านบนของเทือกเขาจะถล่มลงมา และทำให้อุโมงค์ใต้ดินทดสอบนิวเคลียร์ถูกเปิด และจะเป็นสาเหตุต่อการรั่วไหลของวัตถุสารกัมมันตภาพรังสีนิวเคลียร์ที่อยู่ภายในอุโมงค์สามารถฟุ้งกระจายขึ้นสู่อากาศทันที
และในการนี้ ***ทำให้การถล่มของเขามันทัพ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก*** โดยนอกเหนือจากนี้ ปัจจัยการเกิดการถล่มตามความเห็นของหวังยังรวมไปถึง (2) “ขนาดของระเบิด” ที่เปียงยางจะทำการทดสอบถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญต่อการถล่มของภูเขา
โดยในความเห็นของหวัง ไนยาน เขาชี้ว่า “ระเบิดขนาด 100 กิโลตันถือเป็นระเบิดขนาดใหญ่” และกล่าวต่อว่า “รัฐบาลเกาหลีเหนือสมควรที่จะต้องหยุดการทดสอบนี้ เพราะจะไม่แค่เสี่ยงกับประเทศเกาหลีเหนือ แต่ยังรวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน เป็นต้น”