รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ประกาศวานนี้ (5 ก.ย.) ให้ยกเลิกโครงการคุ้มครองผู้อพยพผิดกฎหมายที่ถูกพ่อแม่พาเข้าสหรัฐฯ ตั้งแต่ยังเด็ก (Deferred Action for Childhood Arrivals - DACA) แต่จะชะลอการบังคับใช้ไปจนถึงเดือน มี.ค.ปีหน้า เพื่อให้สภาคองเกรสมีเวลา 6 เดือนเตรียมแผนรองรับชะตากรรมของคนหนุ่มสาวเหล่านี้ ซึ่งมีอยู่เกือบ 800,000 คน
คำสั่งของผู้นำสหรัฐฯ ส่งผลให้อนาคตของเหล่า “ดรีมเมอร์” ซึ่งเคยได้รับสิทธิประโยชน์จาก DACA ตกอยู่ในความเสี่ยงทันที ขณะที่ผู้นำธุรกิจและองค์กรศาสนา นายกเทศมนตรี ผู้ว่าการรัฐ คนในพรรคเดโมแครต สหภาพแรงงาน นักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพพลเมือง หรือแม้แต่อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้เมื่อ 5 ปีก่อน ล้วนแต่ออกมาประณามการตัดสินใจของ ทรัมป์
ทรัมป์ ไม่ได้เป็นผู้แถลงคำสั่งด้วยตนเอง หากแต่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม เจฟฟ์ เซสชันส์ ซึ่งระบุว่า DACA เป็นโครงการที่เกิดจากการใช้อำนาจเกินขอบเขตของโอบามา จึงถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ
เซสชันส์ยืนยันว่า รัฐบาลจะยกเลิกโครงการนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป และทำตามขั้นตอนของกฎหมาย
ต่อมา ทรัมป์ ได้ออกถ้อยแถลงเป็นลายลักษณ์อักษรว่า “ผมไม่ได้ชอบลงโทษเด็กๆ ซึ่งส่วนมากก็เติบโตเป็นผู้ใหญ่กันแล้วในสิ่งที่พ่อแม่ของเขาเป็นผู้ก่อ แต่เราก็ต้องยอมรับด้วยว่า สหรัฐฯ ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งโอกาสก็เพราะเราเคารพกฎหมาย”
ทรัมป์ ตำหนิโครงการ DACA ว่าเป็นการใช้วิธี “อภัยโทษก่อน” (amnesty-first) ให้แก่พวกผู้อพยพผิดกฎหมาย พร้อมตอกย้ำนโยบาย “อเมริกาเฟิร์สต์” และเตือนพวกนักวิจารณ์ที่ห่วงใยชะตากรรมของดรีมเมอร์ว่า “เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องไม่ลืมว่าคนอเมริกันหนุ่มสาวก็มีความฝันเช่นกัน”
ผู้นำสหรัฐฯ ทวีตข้อความเมื่อค่ำวานนี้ (5) ว่า สภาคองเกรสมีเวลา 6 เดือนที่จะ “ทำให้ DACA ถูกกฎหมาย” และหากทำไม่ได้ ตนก็จะกลับมา “พูดถึงเรื่องนี้อีกครั้ง!”
ด้าน โอบามา ก็ออกมาแถลงวิจารณ์ ทรัมป์ ว่าใช้การเมืองเป็นเหตุผลตัดสินใจ พร้อมยืนยันในความถูกต้องชอบธรรมของ DACA และขอให้สภาคองเกรสช่วยคุ้มครองอนาคตของดรีมเมอร์
“นี่เป็นเรื่องของคนหนุ่มสาวที่เติบโตในอเมริกา เด็กๆ ที่เรียนในโรงเรียนของเรา ผู้ใหญ่ตอนต้นที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว คนรักชาติที่ให้สัญญาว่าจะภักดีต่อธงอเมริกัน... ดรีมเมอร์เหล่านี้มีความเป็นอเมริกันทั้งหัวใจ จิตวิญญาณ และทุกๆ แง่มุม เว้นแต่ในเอกสารเท่านั้น” โอบามาระบุ
ผู้ที่เข้าโครงการ DACA จะได้รับความคุ้มครองจากการถูกเนรเทศ และสามารถขอใบอนุญาตทำงานในสหรัฐฯ ได้ด้วย คนส่วนใหญ่ที่รับประโยชน์จากโครงการนี้ก็คือลูกหลานผู้อพยพในวัย 20 ต้นๆ โดยเฉพาะพวกฮิสแปนิก
รัฐบาลทรัมป์ยืนยันว่า คนกลุ่มนี้จะยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จนถึงวันที่ 5 มี.ค.ปีหน้า และหลังจากนี้เป็นหน้าที่ของสภาคองเกรสที่จะต้องออกกฎหมายคนเข้าเมืองฉบับใหม่เพื่อกำหนดชะตากรรมพวกเขา
ทั้ง ทรัมป์ และ เซสชันส์ ไม่ได้เอ่ยชัดเจนว่าอยากจะให้กฎหมายใหม่มีเนื้อหาเป็นไปในลักษณะใด แต่ ทรัมป์ บอกกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวภายหลังว่า “ผมมีความรักต่อคนกลุ่มนี้ หวังว่าคองเกรสคงจะช่วยพวกเขาได้ และต้องทำอย่างเหมาะสมด้วย... ผมเชื่อว่าเราจะได้ทางออกที่ดี”
มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ออกมาแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า “เป็นวันที่น่าเศร้าสำหรับประเทศของเรา... คำสั่งยกเลิก DACA ไม่ใช่แค่ผิดเท่านั้น แต่การหยิบยื่นอเมริกันดรีมให้แก่คนหนุ่มสาว สนับสนุนให้พวกเขาออกมาจากเงามืด บอกให้พวกเขาเชื่อมั่นในรัฐบาล แต่สุดท้ายกลับลงโทษพวกเขาแบบนี้ มันโหดร้ายทารุณ”
แบรด สมิธ ประธานไมโครซอฟท์ เรียกร้องให้สภาคองเกรส “เอาความจำเป็นด้านมนุษยธรรมของคน 800,000 คนมาใส่ไว้ในตารางพิจารณากฎหมาย” ก่อนที่จะให้ความสำคัญกับนโยบายลดภาษีของ ทรัมป์
หนุ่มสาวดรีมเมอร์เกือบ 800,000 คนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผู้อพยพไร้ทะเบียนประมาณ 11 ล้านคนในสหรัฐฯ ออกมายอมรับสถานะคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย และให้ข้อมูลส่วนตัวแก่รัฐบาลเพื่อสมัครเข้าร่วมโครงการ DACA แต่หลังจากเดือน มี.ค.ปีหน้าเป็นต้นไป พวกเขาอาจต้องถูกเนรเทศ หากไม่มีมาตรการอื่นๆ รองรับ
ซาราห์ แซนเดอร์ส โฆษกหญิงทำเนียบขาว ชี้ว่า “การที่ประธานาธิบดีพยายามรักษากฎหมายไม่ถือเป็นความใจจืดใจดำ” ขณะที่ ทรัมป์ เองก็รับรองว่า ผู้เข้าโครงการ DACA ที่ไม่ใช่อาชญากรหรือแก๊งอันธพาลจะไม่ถูกหมายหัวเนรเทศเป็นกลุ่มแรกๆ