รอยเตอร์ - มาลาลา ยูซาฟไซ เด็กสาวชาวปากีสถานเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2014 เรียกร้องให้นางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐพม่าซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพเช่นเดียวกับเธอ กล่าวประณามการปฏิบัติ “ที่น่าละอาย” ต่อมุสลิมโรฮิงญาในพม่า พร้อมย้ำว่าทั่วโลกกำลังเฝ้ารอวีรสตรีนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยออกมาแสดงจุดยืนเรื่องนี้
เหตุรุนแรงในรัฐยะไข่ที่ปะทุขึ้นตั้งแต่เดือน ส.ค. ทำให้ชาวโรฮิงญาต้องอพยพหนีตายเข้าไปยังบังกลาเทศแล้วเกือบ 90,000 คน และนับเป็นวิกฤตการเมืองที่ท้าทายที่สุดสำหรับ ซูจี ซึ่งถูกนักวิจารณ์ตะวันตกโจมตีว่าทำนิ่งเฉยไม่ให้ความช่วยเหลือต่อชนกลุ่มน้อยในพม่าที่ตกเป็นเหยื่อการกวาดล้างมานาน
“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ดิฉันได้ออกมาประณามการปฏิบัติที่น่าเศร้าและน่าละอายเช่นนี้” มาลาลา โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์
“ดิฉันยังคงรอให้คุณอองซานซูจี ซึ่งเป็นเจ้าของรางวัลโนเบล ออกมากระทำในสิ่งเดียวกัน... ทั่วโลกกำลังรอคอย และชาวมุสลิมโรฮิงญาก็กำลังรออยู่เช่นกัน”
นักเคลื่อนไหวในอินโดนีเซียซึ่งเป็นชาติที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลกได้รวมตัวประท้วงที่หน้าสถานทูตพม่าในกรุงจาการ์ตาเมื่อวันเสาร์ (2) พร้อมเรียกร้องให้คณะกรรมการโนเบลเพิกถอนรางวัลสาขาสันติภาพที่มอบให้แก่อองซานซูจี ตามรายงานของสำนักข่าวอันตารา
เหตุสู้รบครั้งรุนแรงในรัฐยะไข่เริ่มปะทุขึ้น หลังจากมีกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาบุกโจมตีค่ายตำรวจและทหารพม่าเมื่อวันที่ 25 ส.ค. จนนำมาสู่การปะทะและปฏิบัติการทางทหารที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 400 ศพ
ทางการพม่ากล่าวโทษกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาว่าเป็นตัวการเผาบ้านเรือนและเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ แต่ผู้สังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและชาวโรฮิงญาที่หลบหนีเข้าไปในบังกลาเทศกลับยืนยันว่ากองทัพพม่ามีการใช้อาวุธล่าสังหารชาวโรฮิงญาอย่างป่าเถื่อนเพื่อขับไล่พวกเขา
มาลาลา วัย 20 ปี เคยถูกมือปืนตอลิบานลอบยิงศีรษะเมื่อปี 2012 เนื่องจากไม่พอใจที่เธอออกมารณรงค์ต่อสู้เพื่อสิทธิทางการศึกษาของเด็กผู้หญิงในปากีสถาน เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2014 ร่วมกับ ไกลาส สัตยาร์ธี นักเคลื่อนไหวชาวอินเดีย