xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: เมื่อ “คิม” ห้าวยิงจรวดข้ามหัว “ญี่ปุ่น” UN-สหรัฐฯ จะทำอะไรได้มากกว่าคว่ำบาตร?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้นำ คิม จอง อึน แห่งเกาหลีเหนือ เดินทางไปชมการยิงทดสอบขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์พิสัยกลาง ฮวาซอง-12 เมื่อวันที่ 29 ส.ค.
เกาหลีเหนือโชว์ความห้าวครั้งใหญ่ยิงขีปนาวุธพิสัยกลางข้ามหมู่เกาะญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้ สร้างความอกสั่นขวัญแขวนไปทั่วทั้งภูมิภาค และก่อให้เกิดคำถามน่าคิดว่าสหรัฐฯ และองค์การสหประชาชาติจะทำอย่างไรต่อไปเมื่อบทลงโทษทางเศรษฐกิจและคำขู่ใช้ไม่ได้ผลกับ คิม จอง อึน และปฏิบัติการตอบโต้ทางทหารนั้นจะคุ้มค่าต่อการเสี่ยงหรือไม่

ตั้งแต่เดือน ก.พ. เป็นต้นมา เกาหลีเหนือทดสอบยิงขีปนาวุธแล้วทั้งสิ้น 14 ครั้ง โดยใช้จรวดไปทั้งหมด 21 ลูก และแต่ละครั้งก็ดูเหมือนจะทำให้เทคโนโลยีของพวกเขามีประสิทธิภาพเชื่อถือได้มากขึ้นเรื่อยๆ

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ออกมาแถลงตอบโต้การยิงจรวดครั้งล่าสุดของโสมแดงเมื่อวันอังคาร (29 ส.ค.) โดยบอกว่าสิ่งที่เปียงยางทำถือเป็นการ “ลบหลู่ประเทศข้างเคียง องค์การสหประชาชาติ และมาตรฐานขั้นต่ำสุดที่นานาชาติจะยอมรับได้” พร้อมย้ำว่าสหรัฐฯ “มีทุกทางเลือกวางอยู่บนโต๊ะ”

กองทัพเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ขีปนาวุธลูกนี้ถูกยิงออกจากใกล้ๆ กรุงเปียงยางเมื่อเวลาประมาณ 06.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น และพุ่งเป็นระยะทาง 2,700 กิโลเมตร แตะระดับความสูง 500 กิโลเมตรข้ามหมู่เกาะญี่ปุ่น ก่อนจะตกลงห่างจากแหลมเอริโมะของเกาะฮอกไกโดไปทางตะวันออกราว 1,180 กิโลเมตร

ต่อมาในวันที่ 30 ส.ค. สำนักข่าว KCNA ของเกาหลีเหนือยืนยันว่า มีการยิงทดสอบขีปนาวุธพิสัยกลาง “ฮวาซอง-12” ข้ามเกาะฮอกไกโดของญี่ปุ่นจริง โดยเป็นการตอบโต้ปฏิบัติการซ้อมรบร่วมระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ นอกจากนี้เปียงยางยังตั้งใจกำหนดวันทดสอบให้ตรงกับช่วงครบรอบ 107 ปีสนธิสัญญาญี่ปุ่น-เกาหลีเมื่อปี 1910 ซึ่งเป็นเหตุให้คาบสมุทรเกาหลีต้องตกอยู่ภายใต้การยึดครองของแดนอาทิตย์อุทัย

“มันเดินทางข้ามคาบสมุทรโอชิมะบนเกาะฮอกไกโด และแหลมเอริโมะของญี่ปุ่น ตามเส้นทางที่ได้กำหนดไว้ และสามารถโจมตีเป้าหมายในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือได้อย่างแม่นยำ” KCNA ระบุ พร้อมขู่สำทับว่า “การซ้อมยิงจรวดนำวิถีเสมือนเกิดสงครามจริงนี้เป็นปฏิบัติการขั้นเริ่มต้นของกองทัพประชาชนเกาหลีในแปซิฟิก และเป็นปฐมบทที่มีความหมายต่อการขยายพื้นที่ไปยังเกาะกวม”

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้เปิดประชุมด่วนแบบปิดลับตามการเรียกร้องของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ก่อนจะมีมติเอกฉันท์ประณามเกาหลีเหนือ และเรียกร้องให้ผู้นำคิมยอมยุติโครงการอาวุธอย่างสมบูรณ์แบบ โดยไม่หวนกลับไปสู่เส้นทางนี้อีก

อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายยังตั้งคำถามว่าคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นจะมีวิธียับยั้งไม่ให้โสมแดงข่มขู่เพื่อนบ้านอีกได้อย่างไร

ผู้เชี่ยวชาญบางคนในเอเชียมองว่า คิม กำลังใช้แสนยานุภาพทางทหารกดดันให้วอชิงตันยอมเจรจาด้วย

“พวกเขาคิดว่าหากโชว์ศักยภาพเช่นนี้ออกมา หนทางสู่การเจรจาคงจะเปิดออก” มาซาโอะ โอโกโนงิ ศาสตราจารย์กิตติคุณจากมหาวิทยาลัยเคโอ ประเทศญี่ปุ่น ให้ความเห็น

เมื่อต้นเดือน ส.ค. คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นได้ลงดาบคว่ำบาตรโสมแดงอีกชุดใหญ่ โดยหวังสกัดแหล่งรายได้ที่เกาหลีเหนือนำไปใช้อุดหนุนโครงการขีปนาวุธและนิวเคลียร์ แต่แทนที่จะทำให้โสมแดงลดราวาศอก มาตรการบีบคั้นเช่นนี้กลับยิ่งทำให้ คิม มุ่งมั่นที่จะเอาชนะ

จอห์น เดลูรี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยยอนเซของญี่ปุ่น ชี้ว่า การที่เปียงยางยิงทดสอบจรวดไม่หยุดหย่อนสะท้อนให้เห็นถึงวงจรอุบาทว์ด้านความมั่นคงที่ผู้เล่นแต่ละฝ่ายพยายามข่มขู่ให้ฝ่ายตรงข้ามเกรงกลัว และเมื่อฝ่ายหนึ่งพัฒนาศักยภาพด้านการป้องปราม อีกฝ่ายก็มองว่าเป็นการยั่วยุ

ก่อนหน้านี้เพียง 1 สัปดาห์ รัฐมนตรีต่างประเทศ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ของสหรัฐฯ เพิ่งจะกล่าวชื่นชมเกาหลีเหนือว่ารู้จัก “อดทนอดกลั้น” ไม่ทดสอบอาวุธใดๆ มานานหลายสัปดาห์ ซึ่งตนเชื่อว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ได้ ขณะที่ประธานาธิบดี ทรัมป์ ก็ส่งสัญญาณรอมชอม โดยระบุว่า คิม “เริ่มที่จะให้เกียรติเรามากขึ้น”
สำนักข่าว KCNA ของเกาหลีเหนือเผยแพร่ภาพเมื่อวันพุธ (30 ส.ค.) ซึ่งระบุว่าเป็นการยิงทดสอบขีปนาวุธพิสัยกลาง “ฮวาซอง-12” ข้ามหมู่เกาะญี่ปุ่น
อดัม เมาทน์ นักวิเคราะห์จากศูนย์เพื่อความก้าวหน้าอเมริกัน (Center for American Progress) ชี้ว่า จุดพลิกผันของเกมนี้เกิดขึ้นหลังจากโสมแดงตัดสินใจกดปุ่มปล่อยจรวด ฮวาซอง-12 เมื่อวันอังคาร (29) และถึงแม้การเจรจาจะยังเป็นไปได้ แต่สหรัฐฯ “ต้องใช้ความพยายามให้มากยิ่งกว่านี้”

เมานท์ เตือนว่าคำขู่ของ ทรัมป์ ที่ว่าจะทำให้เกาหลีเหนือรู้ซึ้งถึง “ไฟและความโกรธเกรี้ยว” อาจฟังดูหวือหวา แต่ยังขาดอำนาจป้องปรามที่เป็นรูปธรรม และโสมแดงก็คงจะเล่นเอาเถิดกับสหรัฐฯ เรื่อยไป ตราบใดที่วอชิงตันยังไม่มีวิธีตอบโต้ที่เฉพาะเจาะจงกว่านี้

บรูซ เบนเน็ตต์ นักวิเคราะห์อาวุโสจากสถาบันวิจัย แรนด์ คอร์ปอเรชัน ซึ่งเชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือ ชี้ว่า สหรัฐฯ จำเป็นต้องเรียกศรัทธาด้วยการใช้ปฏิบัติการตอบโต้ทางทหารแบบเจาะจงเป้าหมาย

“ปฏิบัติการทางทหารนั้นอาจจะหมายถึงการยิงจรวดโทมาฮอว์กข้ามดินแดนเกาหลีเหนือ และให้ผ่านเหนือกรุงเปียงยางด้วย เพื่อแสดงให้พวกเขาเห็นว่าสหรัฐฯ ก็เล่นเกมแบบนี้เป็น”

“อเมริกาควรใช้ยุทธศาสตร์ที่หลากหลายเพื่อลดความเสี่ยงในการเผชิญหน้ากับเกาหลีเหนืออย่างเต็มรูปแบบ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องสั่งสอนให้พวกเขารู้จักความสูญเสียบ้าง”

หลังจากทดสอบนิวเคลียร์มาแล้ว 5 ครั้ง และงัดจรวดพิสัยไกลข้ามทวีปออกมายิงได้สำเร็จอีก 2 ครั้งในปีนี้ ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่าโอกาสที่จะสกัดไม่ให้เกาหลีเหนือครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ที่สามารถโจมตีถึงแผ่นดินสหรัฐฯ ได้นั้นหมดไปแล้ว และหากสหรัฐฯ เลือกใช้กำลังตอบโต้จนโสมแดงต้องงัดอาวุธในคลังแสงออกมาใช้ ทั้งที่อเมริกาเองก็แทบไม่มีข่าวกรองที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับเกาหลีเหนือ จะเป็นความเสี่ยงอย่างร้ายแรง

“ถ้าคุณโจมตีพวกเขาหลังจากที่พวกเขามีอาวุธนิวเคลียร์แล้วละก็ มันจะไม่ใช่สงครามเพื่อการป้องปราม แต่เป็นสงครามนิวเคลียร์แบบดั้งเดิมขนานแท้” เจฟฟรีย์ ลูอิส ผู้เชี่ยวชาญด้านการลดอาวุธจากสถาบันมิดเดิลบิวรีเพื่อนานาชาติศึกษา ระบุ

ต่อให้ไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ แต่คลังแสงขนาดใหญ่ของเกาหลีเหนือก็อาจนำความสูญเสียร้ายแรงมาสู่ “กรุงโซล” และพื้นที่โดยรอบ ขณะที่กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นก็ยังไม่มีศักยภาพพอที่จะตอบโต้หากปราศจากความช่วยเหลือของสหรัฐฯ

โรเบิร์ต เคลลี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติปูซาน ยอมรับกับ CNN ว่า เวลานี้ดูเหมือนว่าโลกจะยังไม่มีทางออกที่ดีสำหรับปัญหาเกาหลีเหนือ

“ถ้ามีเราคงไม่ต้องมาพูดเรื่องนี้กันทุกๆ 2-3 เดือน แต่ในความเป็นจริงคือยังไม่มีใครรู้ว่าจะเอาอย่างไรกับเกาหลีเหนือ”
สถานีโทรทัศน์ในญี่ปุ่นนำเสนอข่าวเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธข้ามเกาะฮอกไกโด เมื่อวันที่ 29 ส.ค.
กำลังโหลดความคิดเห็น