เอพี – ศาลรัฐธรรมนูญกัวเตมาลาออกคำพิพากษาเมื่อวานนี้(29 ส.ค)ยืนยันว่าประธานาธิบดีกัวเตมาลา จิมมี โมลาเลส ไม่สามารถใช้อำนาจสั่งขับหัวหน้าคณะกรรมาธิการต่อต้านคอร์รัปชันองค์การสหประชาชาติออกนอกประเทศได้
เอพีรายงานวันนี้(30 ส.ค)ว่า ประธานาธิบดีกัวเตมาลา จิมมี โมลาเลส ออกคำสั่งขับ อิวาน เวลาสเกซ(Ivan Velasquez) หัวหน้าคณะกรรมาธิการต่อต้านคอร์รัปชันองค์การสหประชาชาติในวันอาทิตย์(27 ส.ค)โดยประกาศให้เป็นบุคคลไม่พึงปรารถนา (persona non grata)
แต่ทว่า ศาลรัฐธรรมนูญกัวเตมาลา ซึ่งถือเป็นศาลสูงสุดของประเทศ ได้ออกมาเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วด้วยการสั่งแขวนคำสั่งที่ว่านี้ และเมื่อวานนี้(29 ส.ค)ทางคณะผู้พิพากษาได้ออกคำพิพากษา สั่งให้เป็นโมฆะต่อคำสั่งของโมลาเลสในวันอาทิตย์(27 ส.ค)ที่ประกาศให้เวลาเกซเป็นบุคคลไม่พึงปรารถนาของกัวเตมาลา โดยทางศาลให้เหตุผลว่า เป็นคำสั่งที่ออกมาอย่างไม่เหมาะสม
เอพีชี้ว่าชุดคณะกรรมาธิการของยูเอ็นและอัยการท้องถิ่นกัวเตมาลาได้สร้างชื่อมาอย่างยาวนานในหมู่ประชาชนตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ถึงความพยายามเข้าจัดการปัญหาคอร์รัปชันที่กลายเป็นโรคเรื้อรังในประเทศแดนลาตินแห่งนี้ และรวมไปถึงมีส่วนในการทำให้อดีตผู้นำกัวเตมาลาต้องตกจากอำนาจเมื่อ 2 ปีก่อนหน้า
ทั้งนี้คำสั่งประกาศให้กลายเป็นบุคคลไม่พึงปรารถนาของโมลาเลส สร้างความโกรธให้กับประชาชนกัวเตมาลาจำนวนมาก และยังเรียกเสียงตำหนิออกมาจากประชาคมโลก รวมไปถึงสหรัฐฯ
ด้านเลขาธิการใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตร์เรส ในช่วงเช้าวันอังคาร(29 ส.ค) ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า เขารู้สึกตกใจต่อท่าทีของประธานาธิบดีกัวเตมาลา และได้แสดงการสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อเวลาเกซ
ซึ่งถึงแม้ว่าโมลาเลสจะยังคงปกป้องต่อคำสั่งขับของตัวเองในตอนแรก แต่เอพีชี้ว่า 1 วันหลังจากนั้น(28 ส.ค) ผู้นำกัวเตมาลามีท่าทีที่อ่อนลง โดยระบุว่าเขาพร้อมที่จะยอมทำตามคำสั่งของศาลกัวเตมาลา
“ประชาชนแห่งกัวเตมาลา ในฐานะประธานาธิบดีของสาธารณรัฐแห่งนี้ ผมยังคง และจะยอมรับต่อคำตัดสินขององค์กรอื่นๆของรัฐบาลกัวเตมาลา ความเป็นนิติรัฐควรจะยังคงอยู่เสมอ” รายงานแถลงการณ์ของโมลาเลสที่เผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก
เอพีรายงานว่า ในวันอังคาร(29 ส.ค) ประธานาธิบดี จิมมี โมลาเลส ปรากฏตัวเป็นครั้งแรกต่อสาธารณะนับตั้งแต่ได้ออกคำสั่งที่อื้อฉาวก่อนหน้า โดยรัฐบาลกัวเตมาลาได้โพสต์คลิปสั้นๆทางทวิตเตอร์ที่มีความยาวแค่ 14 วินาทีแสดงฉากเสียงปรบมือของบรรดานายกเทศมนตรีเมืองต่างๆของกัวเตมาลาที่จงรักภักดีต่อโมลาเลส กำลังปรบมือให้กำลังใจในตัวผู้นำสูงสุด และส่งเสียงสนับสนุนในตัวเขา
ทั้งนี้เอพuวิเคราะห์ว่า บรรดานายกเทศมนตรีเหล่านี้อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนในกรณีหากโมลาเลสประสบความสำเร็จ ขับคนของยูเอ็นออกนอกกัวเตมาลาได้ เนื่องมาจากในปี 2015 อิวาน เวลาสเกซ และหัวหน้าอัยการกัวเตมาลา เตลมา อัลดานา(Thelma Aldana) ได้ร่วมมือจัดการพรรคการเมืองกัวเตมาลาจำนวนหนึ่งถึงปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งกลุ่มที่ตกเป็นเป้าหมายรวมไปถึง พรรคเนชันแนลคอนเวอร์เจนต์ฟรอนต์ (National Convergence Front)ของโมลาเลส โดยทางอัยการกัวเตมาลาได้ออกมาชี้ว่า พรรครัฐบาลกัวเตมาลาได้แอบปกปิดข้อมูลทางการเงินในการหาเสียงปี 2015 ของโมลาเลสที่มีจำนวน 825,000 ดอลลาร์ และรวมไปถึงรายการอื่นๆโดยไม่ยอมระบุที่มาทางการเงิน
และในขณะนี้ผู้นำกัวเตมาลายังตกที่นั่งลำบากเพราะศาลสูงของประเทศยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะยอมรับตามคำขอของอัยการหรือไม่ ที่ยื่นเรื่องร้องขอให้สั่งถอดภูมิตุ้มกันการถูกส่งดำเนินคดี