xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: สื่อ AP แกะรอย “บอส” ทายาทกระทิงแดง ตีแผ่เครือข่ายธุรกิจออฟชอร์ “อยู่วิทยา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส” ทายาทวัย 32 ปีของตระกูลเจ้าของธุรกิจ “กระทิงแดง”
สำนักข่าวเอพีอ้างอิงเอกสารลับ “ปานามา เปเปอร์ส” ขุดคุ้ยธุรกิจออฟชอร์ซึ่งเป็นช่องทางให้ตระกูล “อยู่วิทยา” เจ้าของแบรนด์เครื่องดื่ม “กระทิงแดง” ปกปิดการซื้อเครื่องบินส่วนตัวและอสังหาริมทรัพย์สุดหรู ซึ่งรวมถึงบ้านในกรุงลอนดอนซึ่งเป็นสถานที่ที่มีคนเห็น “บอส - วรยุทธ อยู่วิทยา” หลานชายเจ้าสัวเฉลียวผู้ก่อตั้งกิจการ ใช้ชีวิตอย่างสุขสบายระหว่างหนีคดีขับรถชนตำรวจตายคาเครื่องแบบ

รายงานของเอพีชี้ว่า ความพยายามปกปิดทรัพย์สินของตระกูลอยู่วิทยาเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้เล่นทางการเงินระดับโลกนั้นสามารถโยกย้ายเงินเป็นพันๆ ล้านดอลลาร์ได้อย่างง่ายดายและถูกต้องตามกฎหมาย โดยที่การตรวจสอบจากทางการนั้นมีน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย

การทำธุรกรรมออฟชอร์อย่างลับๆ ของครอบครัวนี้ถูกตีแผ่ขึ้นมาโดยบังเอิญจากกรณีที่ วรยุทธ หรือ “บอส” บุตรชายของ เฉลิม อยู่วิทยา ขับรถเฟอร์รารีชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อเกือบ 5 ปีที่แล้ว แต่ไม่ยอมไปแสดงตัวตามหมายเรียก และเป็นที่ครหากันมานานว่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองรู้เห็นเป็นใจให้คนผิดลอยนวล

เดือน เม.ย. ปีนี้ ผู้สื่อข่าวเอพีได้ตามแกะรอยจากโพสต์กว่า 120 โพสต์บนอินสตาแกรมและเฟซบุ๊กของเพื่อนและครอบครัวบอส จนไปพบบ้านพักของตระกูลอยู่วิทยาในกรุงลอนดอน รวมทั้งพบตัวบอสที่บริเวณหน้าบ้านหลังนี้ด้วย ทว่าเจ้าตัวไม่ยอมให้สัมภาษณ์ใดๆ

ทางการไทยอ้างว่าไม่รู้ผู้ต้องหารายนี้หลบหนีไปอยู่ที่ไหน และสิ่งที่ทำได้ก็คือการเพิกถอนหนังสือเดินทาง และออกหมายจับ

การสืบหาสถานที่กบดานของ บอส อยู่วิทยา ได้นำไปสู่การศึกษาสืบค้น “ปานามา เปเปอร์ส” หรือเอกสารทางการเงินลับที่มีผู้นำออกมาเปิดโปงรวมทั้งสิ้น 11 ล้านฉบับ เอกสารเหล่านี้เป็นของบริษัท มอสแซค ฟอนเซกา บริษัทกฎหมายในปานามาซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วโลก และเป็นตัวแทนของบรรดามหาเศรษฐีและผู้มีอำนาจที่ต้องการปกปิดทรัพย์สินเงินทอง

หนังสือพิมพ์ “ซุดดอยช์ ไซตุง” ของเยอรมนีคือสื่อเจ้าแรกที่ได้รับเอกสารปานามา และได้นำไปศึกษาวิจัยร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวสายสืบสวนนานาชาติ โดยเริ่มเผยแพร่รายงานกับองค์กรสื่อต่างๆ เมื่อปี 2016 การเปิดโปงดังกล่าวทำให้ผู้มั่งคั่งและผู้มีอำนาจมากมายในกว่า 70 ประเทศถูกตรวจสอบ และมีหลายคนที่ถึงขั้นถูกปลดออกจากตำแหน่ง เช่น นายกรัฐมนตรี นาวาซ ชารีฟ แห่งปากีสถาน

ข้อมูลในปานามาเปเปอร์บ่งชี้ว่า มีสินทรัพย์ราวๆ 135,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ถูกซุกซ่อนโดยบริษัทเกือบ 400 แห่งทั่วโลก รายงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ประจำปี 2017 และยังกระตุ้นให้คณะกรรมาธิการยุโรปและรัฐบาลอีกหลายประเทศต้องลุกขึ้นมาจัดการกับแหล่งหลบเลี่ยงภาษีนอกประเทศ

เอพี ระบุว่า เครือข่ายบริษัทออฟชอร์ของตระกูลอยู่วิทยาซึ่งดำเนินการจัดตั้งโดย มอสแซค ฟอนเซกา นั้นมีความซับซ้อนอย่างมาก และไม่มีชื่อ “อยู่วิทยา” หรือแบรนด์กระทิงแดงเกี่ยวข้องด้วยเลย แต่ถึงกระนั้นเอกสารที่เอพีได้รับมาก็แสดงให้เห็นว่า ครอบครัวนี้มีการใช้บริษัทนิรนามซึ่งจัดตั้งขึ้นในดินแดนที่ไม่มีการเก็บภาษีโดยตรง มาเป็นเวลานานกว่า 2 ทศวรรษแล้ว

ตระกูลอยู่วิทยาซึ่งเป็นเจ้าของกิจการกระทิงแดงในระดับนานาชาติร่วมกับ ดีทริช เมเทสซิตซ์ (Dietrich Mateschitz) นักธุรกิจออสเตรีย ปฏิเสธที่จะตอบคำถามผู้สื่อข่าวเอพีซึ่งติดต่อไปขอสัมภาษณ์หลายครั้ง ขณะที่กระทิงแดงออกคำแถลงว่า สถานะทางกฎหมายของ บอส เป็นเรื่องของตระกูลอยู่วิทยา ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท และในฐานะที่เป็นเอกชน กระทิงแดงจึงมีสิทธิ์ที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลด้านการค้าและการเงิน

ผู้เชี่ยวชาญระบุตรงกันว่า การเปิดบริษัทออฟชอร์เพื่อเลี่ยงภาษีนั้นไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย และนักธุรกิจใหญ่ๆ ทั่วโลกก็ทำกัน รวมถึงตระกูลเศรษฐีอันดับต้นๆ ของเมืองไทย และบริษัทเปลือกเหล่านี้ก็ช่วยให้การกระจายสินทรัพย์ในหลายประเทศทำได้ง่ายขึ้น

เอพีย้ำว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ว่าตระกูลอยู่วิทยาทำผิดกฎหมาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกรรมการเงินที่เป็นความลับเช่นนี้อาจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือเลี่ยงภาษีหรือฟอกเงิน

เพียงไม่กี่วันหลังจากที่ทนายของ บอส แจ้งต่อศาลไทยว่าทายาทกระทิงแดงวัย 32 ปี ไม่สามารถเดินทางมารับทราบคำสั่งฟ้อง เนื่องจากติดภารกิจในสหราชอาณาจักร ผู้สื่อข่าวเอพีคนหนึ่งก็ได้ไปเจอ บอส ที่หน้าบ้านพักในลอนดอน และตะโกนถามเขาว่า “คุณติดภารกิจอะไรในสหราชอาณาจักรหรือบอส? คุณทำอะไรอยู่ที่นี่? คุณจะกลับเมืองไทยไปพบอัยการไหม?”

ชายหนุ่มผู้ถูกถามเพียงแต่ยิ้มน้อยๆ และไม่ให้คำตอบอะไร หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง บอสและพ่อแม่ของเขาก็รีบหิ้วกระเป๋าเผ่นออกจากบ้านพักหรูซึ่งเป็นสถานที่จัดปาร์ตี้วันเกิดและงานเลี้ยงภายในครอบครัวอยู่วิทยามานานหลายปี

นั่นคือเหตุการณ์เมื่อเดือน เม.ย. และเป็นครั้งสุดท้ายที่สาธารณชนได้พบเห็น บอส

เอพี ระบุว่า บ้านก่ออิฐ 5 ชั้นที่ลอนดอนนั้นเป็นบ้านซึ่ง เฉลิม อยู่วิทยา พ่อของบอส ระบุเป็นที่อยู่ในเอกสารขณะดำเนินการก่อตั้งบริษัท ไทย สยาม ไวเนอรี ในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2002 ขณะที่ ดารณี แม่ของบอส ก็ใช้บ้านหลังนี้เป็นที่อยู่ขณะเปิดธุรกิจเกี่ยวกับอาหารเมื่อ 11 ปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เจ้าของบ้านหลังงามดังกล่าว รวมถึงอสังหาริมทรัพย์มูลค่านับล้านดอลลาร์อีกอย่างน้อย 4 แห่งในลอนดอน กลับไม่ใช่คนในตระกูลอยู่วิทยา แต่ตามเอกสารปานามาระบุว่าเป็นบริษัท คาร์นฟอร์ต อินเวสเมนต์ ซึ่งตั้งอยู่บนหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน โดยบริษัทแห่งนี้มี เจอร์ราร์ด คอมปานี เป็นผู้ถือหุ้นรายเดียว ขณะที่ผู้ถือหุ้น 1 ใน 3 ของเจอร์ราร์ดเป็นบริษัทออฟชอร์ที่มี เจเค ฟลาย ถือหุ้นอยู่ 25% และเจ้าของ เจเค ฟลาย ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น คาร์นฟอร์ต นั่นเอง

นอกจากนี้ เจอร์ราร์ด ซึ่งตั้งอยู่บนหมู่เกาะบริติชเวอร์จินเช่นเดียวกัน ยังเป็นผู้ถือหุ้นหลักของธุรกิจกระทิงแดงในสหราชอาณาจักร
แม้จะก่อคดีขับรถชนตำรวจตาย แต่ “บอส” ยังคงใช้ชีวิตหรูหราในต่างประเทศ ขณะที่ข้อหาต่างๆ ทยอยหมดอายุความ
บริษัทออฟชอร์สารพัดแห่งของตระกูลอยู่วิทยามีความเกี่ยวพันกันอย่างซับซ้อน โดยมีนายหน้า เลขานุการ กรรมการ และผู้บริหาร ที่ได้รับค่าจ้างเล็กๆ น้อยๆ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อลงชื่อในแบบฟอร์มและเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการแทนเจ้าของตัวจริงที่ชื่อเสียงเรียงนามยังคงถูกปิดเป็นความลับ

เอกสารปานามาระบุว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีเม็ดเงินไหลเวียนผ่านนิติบุคคลเหล่านี้จำนวนมาก เช่นเมื่อปี 2005 เจอร์ราร์ด ได้ปล่อยกู้ 6.5 ล้านดอลลาร์เพื่อให้ คาร์นฟอร์ต นำไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ 2 แห่งในลอนดอน ต่อมาในปี 2012 เจอร์ราร์ดยกเลิกสัญญาจำนองดังกล่าว และยกอสังหาริมทรัพย์เหล่านั้นให้เป็นของ คาร์นฟอร์ต นอกจากนี้นับจากปี 2010 เจเค ฟลาย ได้รับเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยประมาณ 14 ล้านดอลลาร์จาก คาร์นฟอร์ต ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นแต่เพียงผู้เดียวของบริษัท เพื่อนำไปซื้อเครื่องบิน

ศาสตราจารย์ เจสัน ชาร์แมน จากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธในออสเตรเลีย ซึ่งค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการทุจริตและฟอกเงิน ระบุว่า การโอนเงินโดยไม่ระบุชื่อผู้ทำธุรกรรมนั้นเกิดขึ้นเป็นปกติ ไม่ว่าจะในรูปแบบที่ถูกหรือผิดกฎหมายก็ตาม แต่สิ่งสำคัญก็คือ ตัวแทนที่เดินเรื่องเคลื่อนย้ายเงินย่อมต้องรู้ว่าเจ้าของที่แท้จริงเป็นใคร

แต่นั่นอาจไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอไป ตัวอย่างเช่น ในปี 2010 และ 2013 ผู้สอบบัญชีของสำนักงานใหญ่ มอสแซค ฟอนเซกา ตั้งข้อสังเกตว่า เอกสารยืนยันเจ้าของที่แท้จริงของ คาร์นฟอร์ต และ เจอร์ราร์ด ได้สูญหายไป และเตือนว่าหากถูกตรวจพบ บริษัทอาจถูกปรับทั้งในทางปกครองและตามกฎหมายเป็นเงินมหาศาล

อย่างไรก็ตาม เอพีไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า ทั้งสองบริษัทเคยมอบเอกสารดังกล่าวฉบับสมบูรณ์ให้ มอสแซค ฟอนเซกา หรือไม่

อีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อสำนักงานในปานามาของ มอสแซค ฟอนเซกา สั่งให้ตัวแทนในไทยทำการสอบทานธุรกิจของมหาเศรษฐีพันล้านชื่อดังของเมืองไทยคนหนึ่ง แต่กลับถูกปฏิเสธแข็งขัน

ทั้งนี้ เมื่อถูกขอให้แสดงสำเนาหนังสือเดินทางที่ได้รับการรับรอง ชื่อเจ้าของ และจดหมายอ้างอิง สตีฟ วากเนอร์ เจ้าหน้าที่ของ มอสแซค ฟอนเซกา ในสำนักงานในกรุงเทพฯ กลับระบุว่า เรื่องดังกล่าว “ไร้สาระ” พร้อมสำทับว่า พวกคนมีอันจะกินในเมืองไทยล้วนรู้จักหรือมีเส้นสายกับนักการเมืองทั้งสิ้น และตนจะไม่นำการล่าแม่มดเช่นนี้ไปเซ้าซี้กวนใจพวกลูกค้าชั้นดี

เอพีชี้ว่า ในขณะที่หลายประเทศมีมาตรการตอบสนองที่รวดเร็วและเด็ดขาดต่อการเปิดโปงข้อมูลในปานามาเปเปอร์ส ทว่าไม่ใช่กรณีของไทย และแม้เอกสารลับฉบับนี้จะเอ่ยพาดพิงคนไทยมากกว่า 1,400 ราย แต่รัฐบาลกลับปฏิเสธแข็งขันว่าเป็นแค่ข่าวลือที่ไม่มีมูล

ปีที่แล้ว สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ระบุว่า ได้มีการตรวจสอบอดีตนักการเมืองและนักธุรกิจนับสิบๆ ราย แต่จนถึงบัดนี้กลับยังไม่ได้ข้อสรุปว่ามีการก่ออาชญากรรมหรือไม่ และทาง ปปง. เองก็ปฏิเสธที่จะตอบคำถามของผู้สื่อข่าวเอพี

ศาสตราจารย์วีระพงษ์ บุญโญภาส ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลทางธุรกิจและการฟอกเงิน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับเอพีว่า “ใครๆ เขาก็ใช้วิธีซุกซ่อนเงินโกงกันแบบนี้” พร้อมปฏิเสธที่จะเอ่ยพาดพิงถึงตระกูลอยู่วิทยา บุคคล หรือบริษัทใดๆ เป็นการเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม ศ.วีระพงษ์ยอมรับว่า ในยุคที่ประเทศถูกปกครองโดยรัฐบาลทหาร การตรวจสอบและเอาผิดกับบรรดาเศรษฐีเหล่านี้ “มีโอกาสน้อยมาก” เพราะแม้รัฐบาลจะให้สัญญาปราบโกง แต่เศรษฐีเมืองไทยนั้นมีอิทธิพลกว้างขวาง และไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับรัฐบาลที่จะทลายเครือข่ายอันซับซ้อนนี้ได้

สุมาพร มานะสันต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของกระทรวงการคลัง ระบุว่า ไทยไม่มีกรอบการทำงานที่เป็นมาตรฐานสากลในการปราบปรามการฟอกเงินและการระดมทุนของผู้ก่อการร้าย ขณะที่การเลี่ยงภาษีโดยฝากเงินในบัญชีนอกประเทศที่ไม่ต้องระบุชื่อก็เป็นสิ่งที่กฎหมายอนุญาต และพบได้ทั่วไป

สุมาพร ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ถูกเรียกขานกันว่า “การวางแผนทางภาษี” นี้ทำให้รัฐบาลไทยสูญเสียรายได้มหาศาล ที่อาจจะนำไปก่อสร้างสาธารณูปโภค เช่น สะพาน ถนนหนทาง และโรงเรียนได้อีกมากมาย
“กระทิงแดง” ซึ่งวางจำหน่ายในต่างประเทศภายใต้แบรนด์ “เรดบูล”
เมื่อปี 1987 เฉลียว อยู่วิทยา ซึ่งเป็นปู่ของ บอส ได้นำบริษัท ที.ซี. ฟาร์มา ร่วมลงทุนกับ ดีทริช เมเทสซิตซ์ เพื่อบุกเบิกตลาดเครื่องดื่มชูกำลังผสมกาเฟอีนในไทย ต่อมากระทิงแดงได้ขยายตลาดสู่ต่างประเทศภายใต้แบรนด์ “เรดบูล” จนปัจจุบันมีเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อนี้วางจำหน่ายใน 170 ประเทศทั่วโลก

เรดบูลยังเข้าสู่วงการกีฬาโดยสนับสนุนทีมแข่งรถ เครื่องบิน และกีฬาประเภทเอ็กซ์ตรีมอีกมากมาย

จากรายงานผลประกอบการของเรดบูลในปีที่แล้วพบว่ามีกำไรสุทธิถึง 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับกรณีของ บอส ซึ่งขับรถเฟอร์รารีชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ อดีตผู้บังคับหมู่ปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2012 ได้จุดประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของคนร่ำรวย และบั่นทอนภาพลักษณ์ของแบรนด์ “เรดบูล” ในระดับโลก แม้เหตุการณ์จะล่วงเลยมาแล้วกว่า 4 ปี แต่ “บอส” ก็ยังไม่เดินทางกลับมาต่อสู้คดี

หนังสือพิมพ์ โทรอนโต ซัน ได้ลงข้อความพาดหัวเรื่องนี้ว่า “ทายาทเรดบูลที่โดนสปอยล์” ขณะที่เว็บไซต์ time.com ระบุว่า “ดูเหมือนเงินจะซื้อได้ทุกอย่างในประเทศไทย แม้แต่กระบวนการยุติธรรม”

ทางตำรวจได้แจ้ง 3 ข้อหากับ บอส ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด, ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือ และขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยข้อหาขับรถเร็วเกินกำหนดนั้นคดีขาดอายุความไปตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. ปี 2013 ส่วนข้อหาไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือนกำลังจะหมดอายุความในวันที่ 3 ก.ย. ปีนี้

เอพี ตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งที่เหตุการณ์เกิดมานานเกือบ 5 ปีแล้ว แต่ตำรวจไทยกลับเพิ่งมาออกหมายจับ บอส เอาเมื่อต้นปีนี้เอง และจากการแกะรอยของเอพีก็พบว่า หลังก่อคดีขับรถชนคนตาย ทายาทกระทิงแดงยังสามารถตระเวนเดินทางไปทั่วโลกด้วยเครื่องบินส่วนตัว ใช้ชีวิตหรูหราเป็นปกติสุข และไปนั่งชมการแข่งขันรถฟอร์มูลาวันทีม “เรดบูล เรซซิง” อยู่เป็นประจำ

แม้การถูกออกหมายจับจะทำให้ไลฟ์สไตล์ของ บอส เปลี่ยนไปบ้าง เพราะเขาไม่ได้ปรากฏตัวเชียร์ทีมเรดบูลในรายการแข่งขันกรังด์ปรีซ์ แม้แต่เพื่อนฝูงก็หยุดโพสต์ภาพถ่ายของเขาในงานปาร์ตี้ต่างๆ ทว่าผลกระทบร้ายแรงจากการหนีคดีที่เจ้าตัวอาจคิดไม่ถึงก็คือ การสืบสวนไล่บี้ของสื่อที่อาจนำมาสู่การเปิดโปงธุรกิจออฟชอร์อันลึกลับซับซ้อนของตระกูลอยู่วิทยา

โรเนน พาลัน อาจารย์จาก ซิตี ยูนิเวอร์ซิตี ลอนดอน ซึ่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินผ่านแหล่งเลี่ยงภาษี ยืนยันว่า หากมองอย่างผิวเผินก็ยังไม่เห็นว่าตระกูลอยู่วิทยาทำอะไรที่ผิดกฎหมาย

“แต่อย่างน้อยที่สุด เรื่องราวทั้งหมดนี้ก็บ่งชี้ถึงความพยายามเลี่ยงภาษี” พาลัน ระบุ
บริษัทกฎหมาย มอสแซค ฟอนเซกา ต้นตอเอกสารลับ “ปานามาเปเปอร์ส” ที่แฉพฤติกรรมหลบเลี่ยงภาษีซุกทรัพย์สินของบรรดาเศรษฐีทั่วโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น