เอเอฟพี - ญี่ปุ่นยื่นประท้วงจีน ต่อสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าความเคลื่อนไหวต้องสงสัยในพื้นที่ทางทะเลพื้นที่หนึ่งซึ่งอุดมไปด้วยแหล่งสะสมก๊าซธรรมชาติ ในทะเลจีนตะวันออก จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ในวันอังคาร (1 ส.ค.)
สองประเทศมีข้อพิพาทกันมาช้านานเกี่ยวกับหมู่เกาะแห่งหนึ่งในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งควบคุมโดยญี่ปุ่น แต่จีนก็อ้างกรรมสิทธิ์เช่นกัน โดยญี่ปุ่นเรียกเกาะแห่งนี้ว่าเซนกากุ ส่วนปักกิ่งเรียกว่าเตียวหยู
โตเกียวและปักกิ่งตกลงกันในเดือนมิถุนายน 2008 สำหรับความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำมันและก๊าซในพื้นที่ดังกล่าว แต่การเจรจาหยุดชะงักในอีก 2 ปีต่อมา ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และตั้งแต่นั้นยังไม่มีการพูดคุยกันใดๆ
“เรายืนยันได้ว่าจีนกำลังเคลื่อนไหวบางอย่าง ด้วยการจอดเรือขุดเจาะน้ำมันเคลื่อนที่ใกล้เส้นกลางที่กั้นระหว่างเขตเศรษฐกิจจำเพาะของสองประเทศในพื้นที่ดังกล่าว” โยชิฮิเดะ ซูกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวกับผู้สื่อข่าว “มันน่าเศร้าใจอย่างยิ่ง ที่จีนยังคงเดินหน้าความเคลื่อนไหวของพวกเขาเพียงฝ่ายเดียว”
ด้าน ฟูมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ก็แสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน ขณะที่ ซูกะ เสริมว่า ญี่ปุ่นเคยยื่นประท้วงไปแล้วเมื่อเดือนก่อน หลังสังเกตเห็นความเคลื่อนไหวดังกล่าว แต่ไม่ทราบอย่างชัดเจนว่ากองเรือของจีนนั้นกำลังทำอะไร
สำนักข่าวเกียวโดนิวส์รายงานว่า ก่อนหน้านี้ กองเรือขุดเจาะน้ำมันของจีนถูกพบเห็นอยู่ใกล้กับเส้นกลางระหว่างสองชาติครั้งสุดท้าย ย้อนกลับไปเมื่อเดือนตุลาคม 2016 ส่วนอาซาฮี ชิมบุน ระบุว่าปัจจุบัน ปักกิ่ง มีแท่นขุดเจาะน้ำมันที่อยู่ใกล้กับเส้นกลางทั้งหมด 16 แท่น
ซูกะ เรียกร้อง จีน คืนสู่โต๊ะเจรจาที่หยุดชะงัก เพื่อบุกเบิกพัฒนาทรัพยากรในพื้นที่ร่วมกัน ขณะที่ประเด็นนี้ถูกประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนและนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ หยิบยกมาพูดคุยหารือกันเมื่อเดือนกันยายนปีก่อน
แหล่งก๊าซภายใต้ข้อตกลงบุกเบิกพัฒนาร่วม ตั้งอยู่ในพื้นที่หนึ่งซึ่งทับซ้อนเขตเศรษฐกิจจำเพาะของสองชาติ
ญี่ปุ่นบอกว่า เส้นกลางระหว่างเขตเศรษฐกิจจำเพาะควรเป็นเขตหวงห้ามของแต่ละชาติ แต่จีนยืนกรานว่าเขตดังกล่าวควรขยับเข้าไปใกล้ญี่ปุ่นมากกว่านี้ หากดูจากไหล่ทวีปและภูมิประเทศอื่นๆ ของมหาสมุทร