เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - จอห์น โพเดสตา (John Podesta) อดีตผู้จัดการหาเสียงให้กับ ฮิลลารี คลินตัน ปี 2016 แสดงความเห็นผ่านหน้าสื่อวอชิงตันโพสต์วันจันทร์ (31 ก.ค.) เตือน พลเอก จอห์น เคลลี (John Kelly) อย่ารับตำแหน่งหัวหน้าคณะทำงานทำเนียบขาวเพื่อทรัมป์ ใช้ประสบการณ์อดีตหัวหน้าคณะให้กับ ปธน. บิล คลินตัน ประกัน ชี้ “เป็นงานหิน” ต้องทำให้ทำเนียขขาวกลับคืนสู่ระเบียบ ที่ในตอนนี้ทั้งยุ่งเหยิง ไล่ออกรายวัน เต็มไปด้วยข่าวลือประธานาธิบดีสหรัฐฯ พัวพันรัสเซีย
หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ รายงานเมื่อวานนี้ (31 ก.ค.) ของความเห็น อดีตผู้จัดการคลินตัน และยังเคยดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะทำงานให้กับประธานาธิบดี บิล คลินตัน และที่ปรึกษาของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ในข้อเขียนผ่านหน้าบทบรรณาธิการ
ในการเสนอแนะ โพเดสตา ที่มีประสบการณ์ในการทำงานในวอชิงตันมาอย่างยาวนาน ได้จั่วหัวถึง น้องใหม่ พลเอก จอห์น เคลลี(John Kelly) จากกองทัพนาวิกโยธินสหรัฐฯ ภายใต้หัวข้อ The best advice I could have given to John Kelly: Don’t do it! หรือ คำแนะนำที่ดีที่สุดที่ผมจะให้กับ จอห์น เคลลี ได้ คือ “อย่ารับงานนี้เด็ดขาด”
ซึ่ง โพเดสตา ได้อ้างประสบการณ์ในฐานะอดีตเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว ออกมาชี้ว่า พลเอกเคลลี ที่เคยนั่งอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงปกป้องมาตุภูมิสหรัฐฯเมื่อมกราคมนี้ และมีเกียร์ติภูมิในการรับใช้ชาติอย่างกล้าหาญในระหว่างที่ปฎิบัติหน้าที่ในกองทัพนาวิกโยธินสหรัฐฯ และเกษียณราชการออกมา แต่อย่างไรก็ตาม โพเดสตา เชื่อว่า ***คงจะเป็นงานยากสำหรับพลเอกเคลลี*** ที่จะนำระเบียบ และความสมดุลกลับคืนสู่ทำเนียบขาวของประธานาธิบดี ทรัมป์ ซึ่งในปัจจุบันนี้มีแต่ความยุ่งเหยิง เจ้าหน้าที่ถูกไล่ออก และข่าวลือ
โดยทรัมป์ตั้งความหวังในการที่จะให้พลเอก จอห์น เคลลี เข้ามาช่วยแก้ปัญหาข้อมูลความลับรั่วถึงมือสื่อ ที่ออกมาฉาวไม่เว้นแต่ละวัน โดยล่าสุด วอชิงตันโพสต์ รายงานในวันอังคาร (1 ส.ค.) ว่า ทรัมป์เขียนแถลงการณ์ให้ลูกชาย ดอน จูเนียร์ ในขณะที่เกิดปัญหา สื่อรู้ถึงการพบปะลูกชายคนโตของทรัมป์ และทนายความรัสเซีย ซึ่งสื่อสหรัฐฯรายงานว่า ทรัมป์สั่งให้ แถลงการณ์ของดอน จูเนียร์ กล่าวถึงโครงการรับบุตรบุญธรรมรัสเซีย โดยที่ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสหรัฐฯเข้ามาเกี่ยวข้อง
ซึ่ง โพเดสตา ยืนยันว่า การที่ พลเอก เคลลี จะนำเอากฎเกณฑ์ และระเบียบ รวมไปถึงการจดจ่อทางยุทธศาสตร์เพื่อถึงเป้าหมายกลับคืนสู่ทำเนียบขาว เขาต้องบรรลุถึง 3 ขั้นตอนด้วยกัน
ประการแรกคือ ระเบียบวินัย (discipline) โพเดสตา ชี้ว่า คงไม่ต้องสงสัยว่า ทุกคนต้องคาดหวังว่า นายพล 4 ดาว จากกองทัพนาวิกโยธินสหรัฐฯ จะสามารถทำให้การจัดการและบริหารภายในทำเนียบขาวกลับคืนสู่ความเรียบร้อยที่เคร่งครัดไปด้วยกฎระเบียบอีกครั้ง
ซึ่งโพเดสตากล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบบรรยากาศทำเนียบขาวของทรัมป์ กับทำเนียบขาวที่จืดชืดของโอบามา หรือ ทำเนียบขาวแบบคาวบอยเท็กซัสของบุช โดยชี้ว่า สภาพทำเนียบขาวของทรัมป์ในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยมุ้งต่างๆ การแก่งแย่ง และการข้ามหัวไปมาระหว่างหัวหน้ามุ้ง
โดยอดีตผู้จัดการหาเสียงของ ฮิลลารี คลินตัน ชี้ว่า บรรยากาศการทำงานในทำเนียบขาว และวัฒนธรรมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันสะท้อนออกมาจากตัวของผู้นำสหรัฐฯ เป็นต้นว่า การแสดงออกอย่างไม่มีความนับถือของทรัมป์ต่อ ไรซ์ พริบัส อดีตหัวหน้าคณะทำงานของตัวเอง ที่เคยดำรงตำแหน่งบอสพรรครีพับลิกันมาก่อน และรวมไปถึง เจฟ เซสชันส์ รัฐมนตรียุติธรรมที่ถูกทรัมป์เลือกมากับมือ
และทำให้เกิดการนำไปสู่การแสดงออกแบบไม่เป็นมืออาชีพของ ผู้อำนวนการฝ่ายสื่อสารทำเนียบขาว ที่ในปัจจุบันกลายเป็นอดีต แอนโทนี สการามุชชี (Anthony Scaramucci) ที่อยู่ในตำแหน่งได้แค่ 10 วันเท่านั้น โดยในรายงานของสื่อ CNN พบว่า ชายผู้นี้ถูกเจ้าหน้าที่ประกบ นำตัวออกนอกทำเนียบไป
โดย โพเดสตา ชี้ว่า การแสดงออกของสการามุชชี แน่นอนที่สุด อ้างจากโฆษกทำเนียบขาว ซารา ฮัคคาบี แซนเดอร์ส ที่เธอได้ประกาศต่อสาธารณะว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ “สนับสนุน” พฤติกรรมเช่นนี้
จอห์น โพเดสตา กล่าวต่อว่า พลเอกเคลลี เดินเข้าทำเนียบขาวในสภาพเหมือนไก่ชนตัวผู้ที่มีเดือยแหลมคมกำลังลงสนามประลอง มากกว่า “staff ทำเนียบขาว” ในซีรีส์ เดอะ เวสต์ วิง (The West Wing ซีรีส์เกี่ยวกับการทำงานของทำเนียบขาวในส่วนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯจะอยู่ในส่วนที่เรียกว่า “เดอะ อีสต์ วิง”) ซึ่งทางโพเดสตาเชื่อว่า วัฒนธรรมการทำงานแบบเวสต์วิง ต้องถูกเปลี่ยนแบบถึงราก เป็นเพราะพลเอกเคลลีต้องมีความสามารถ “ในการที่จะไล่ออกทุกคนได้ตามที่ตัวเองปราถนา” และรวมไปถึงการบังคับใช้ “นโยบายแบบไม่ต้องอดทน” ต่อพฤติกรรมที่หน้าเกลียดของบรรดาเจ้าหน้าที่ทำเนียบอาวุโสหัวหน้ามุ้ง
โพเดสตาชี้ว่า การไล่สการามุชชี ที่ถูกเรียกชื่อในสื่ออเมริกาว่า “มุช” ออกในวันจันทร์ (31 ก.ค.) ถือเป็นจุดเริ่มที่ดี แต่ยังเตือนว่า พลเอกเคลลีจำเป็นต้องเข้มงวดต่อบรรดาเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวของทรัมป์ ที่ปัจจุบันเคยชินกับขอบเขตเพียงเล็กน้อย
และโพเดสตายังกล่าวเลยไปถึง คนในครอบครัวของทรัมป์ รวมไปถึง อิวังกา ทรัมป์ ลูกสาว และ จาเรด คุชเนอร์ ลูกเขย ว่า พลเอกเคลลี ***จำเป็นต้องกล่าวยืนยันอย่างชัดเจนว่า คนทั้งสองต้องเข้ามารายงานผ่านเขา ไม่ใช่ข้ามหัวไปมา***
อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของโพเดสตา งานยากที่จะทำให้เกิดระเบียบวินัยนั้นไม่ใช่จากคณะทำงาน หรือเจ้าหน้าที่ แต่เป็นตัวประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งดูได้จาก 1 วันหลังแต่งตั้ง พลเอก เคลลี ทรัมป์ ได้ทวีตด่าทอ ส.ว. พรรครีพับลิกัน ผ่านทวิตเตอร์ ที่ไม่สามารถทำให้ร่างกฎหมายโอบามาแคร์ถูกยกเลิกได้ ซึ่งในวันนี้ (1 ส.ค.) แกนนำสภาสูงสหรัฐฯ ออกมายอมรับว่า ไม่สามารถทำให้กฎหมายโอบามาแคร์ของพรรคเดโมแครตล้ม และจำเป็นต้องปล่อยเรื่องนี้ให้ผ่านไปโดยที่ไม่สามารถทำอะไรได้
โพเดสตา ยืนยันว่า เขาเชื่อมั่นว่า นายพลจากกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งต่างจากคนเก่า (ไรซ์ พริบัส) ไม่มีปัญหาในการพูดจาปฏิเสธต่อ “อำนาจ” แต่ทว่าโพเดสตาชี้ว่า แต่มันขึ้นอยู่กับว่า “อำนาจ” จะฟังพลเอกเคลลีหรือไม่ ซึ่งนั่นถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
และในขั้นตอนที่ 2 ที่พลเอกเคลลีจำเป็นต้องทำตามความเห็นของโพเดสตา คือ การนำยุทธศาสตร์ (strategic direction ) กลับคืนสู่ทำเนียบขาวเพื่อเดินหน้านโยบายของทรัมป์ที่อื้อฉาวในทุกเรื่องให้ลุล่วง
โดยในส่วนของกิจการภายใน หน้าที่ของพลเอก เคลลี คือ การเริ่มต้นสานความสัมพันธ์ครั้งใหม่กับกับบรรดาแกนนำสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯจากทั้งสองฝั่ง (เดโมแครต และ รีพับลิกัน) (ที่ทรัมป์ได้ประณามไปก่อนหน้า และสื่อสหรัฐออกมาชี้ว่า หากปราศจากพริบัส ทรัมป์ถือเป็นคนที่ไม่มีพรรค) ซึ่งยุทธศาสตร์ของทรัมป์ที่ใช้มาถึงปัจจุบัน คือ การใช้รูปแบบแนวอันธพาลข่มขู่เข้าแก้ปัญหา และทำให้ภายใต้การบริหารของทรัมป์ รัฐสภาสหรัฐฯแทบไม่สามารถออกกฎหมายสำคัญ และเดินหน้านโยบายใหม่ๆออกมาได้ เว้นแต่การยกเลิกนโยบายของประธานาธิบดีโอบามาเพื่อผลประโยชน์พิเศษ ซึ่งกฎหมายสำคัญที่ออกมาได้สำเร็จ โพเดสตา ชี้ คือ การออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย แต่กลับเป็นสิ่งที่ทำเนียบขาวคัดค้าน
ทั้งนี้ โพเดสตา ยืนยันว่า พลเอก เคลลี ไม่สามารถร้องขอให้รองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ หรือคนของเขา ช่วยท่านายพลในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทำเนียบขาวและบรรดาแกนนำสมาชิกรัฐสภาคองเกรสได้ โดยนายพล 4 ดาวจากเพนตากอนผู้นี้ได้ชื่อว่า “รักษาคำพูด” และทำให้เขาเชื่อว่า ชายผู้นี้จะสามารถใช้จุดนี้ในการสร้างความสัมพันธ์กับทั้งฝั่งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต ในความพยายามที่จะผ่านนโยบายต่างๆ เป็นต้นว่า การปฏิรูประบบภาษีสหรัฐฯ โครงสร้างพื้นฐานอเมริกา และแน่นอน ต่อชุดคณะกรรมาธิการร่วม 2 พรรคในปัญหาโอบามาแคร์
และต่อกิจการระหว่างประเทศ โพเดสตา เชื่อว่า พลเอก เคลลี ต้องช่วยที่ปรึกษาความมั่นคงทำเนียบขาว เอช.อาร์. แม็คมาสเตอร์ (H.R. McMaster) และรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ จิม แมตติซ (Jim Mattis) ต่อปัญหารัสเซีย ตะวันออกกลาง และเกาหลีเหนือ ซึ่งถือเป็นภารกิจแรกที่สำคัญที่สุดในเวลานี้
และจากสิ่งนี้ โพเดสตา กล่าวว่า อาจทำให้ พลเอก เคลลี ต้องกลับไปถามทางทำเนียบขาวอีกครั้งว่า เหตุใดมาจนถึงเวลานี้ ทรัมป์จึงยังไม่แต่งตั้งตัวแทนจากสหรัฐฯไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำเกาหลีใต้ เสียที หรือการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่จะรับผิดชอบแผนกเอเชียประจำกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ และกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ในตอนท้ายของความเห็นใน OpEd ของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ โพเดสตา เชื่อว่า ขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งจะเป็นสิ่งที่สาหัสที่สุดสำหรับพลเอกเคลลีคือ การปกป้องความเที่ยงตรงและความเป็นอิสระ ของหน่วยงานกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และอัยการสอบสวนพิเศษ โรเบิร์ต เอส. มุลเลอร์ ที่ 3(Robert S. Mueller III) ในคดีสอบสวนที่ถูกล้วงลูกอย่างต่อเนื่องจากทรัมป์และคนของเขาในทำเนียบขาว
ซึ่งในการนี้ โพเดสตา ยืนยันว่า พลเอกเคลลีจำเป็นต้องยืนยันอย่างหนักแน่นต่อการปกป้องธรรมเนียมปฎิบัติระบอบรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ และการให้กฎหมายถูกบังคับใช้ไปตามปกติ ซึ่งสิ่งนี้อาจจะทำให้เขาไม่เป็นที่รักของทรัมป์มากนัก แต่โพเดสตาเชื่อว่า ด้วยความหวังดีที่สุด สิ่งนี้จะทำให้ทรัมป์ออกจากความยากลำบากทั้งหมดในอนาคตได้
และสุดท้าย โพเดสตา ชี้ว่า เขายังเชื่อว่า ทรัมป์จำเป็นต้องมีพลเอก เคลลี มากกว่าที่พลเอกเคลลีต้องการทรัมป์ และทรัมป์ไม่สามารถทำกับพลเอก เคลลีเหมือนที่เคยทำกับคนอื่นๆ ที่ไล่ออก หรือบังคับให้ลาออก โดยที่ไม่เกิดหายนะตามมา ซึ่งหัวหน้าคณะคนใหม่สมควรที่จะต้องนำ “กฎระเบียบ” และ “ศักดิ์ศรี” กลับคืนสู่ทำเนียบขาวอีกครั้ง ซึ่งเขาดชื่อมั่นว่า ทางทำเนียบจำเป็นต้องมีสองสิ่งนี้