xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนของสหรัฐฯและญี่ปุ่น ว่าด้วย‘ความได้เปรียบในการแข่งขัน’ใน‘ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์’

เผยแพร่:   โดย: เฮนรี เครสเซล

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Competitive advantage not God-given – as US and Japan know
By Henry Kressel
12/07/2017

เฮนรี เครสเซล ผู้เป็นทั้งนักเทคโนโลยีและนักเขียน ให้ความเห็นที่ผ่านการเก็บรับบทเรียนจากประสบการณ์จริง ถึงเหตุผลที่ทำให้ชาติต่างๆ ต้องสูญเสียฐานะการเป็นผู้ครอบงำอุตสาหกรรมไป โดยเฉพาะเรื่องราวของธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์นั้น เขาชี้ว่ามันแสดงให้เห็นว่า นวัตกรรมที่ขับดันโดยภาคธุรกิจแต่ก็ได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลด้วย คือกุญแจสำคัญที่ทำให้สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ได้อย่างยาวนาน

ผมใช้เวลา 20 ปีแรกแห่งการทำงานประกอบอาชีพของผมในห้องแล็ปเพื่อการวิจัยและพัฒนาของบริษัท อาร์ซีเอ คอร์เปอเรชั่น (RCA Corporation)[1] ซึ่งเวลานั้นเป็นหนึ่งในบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ระดับนำหน้าของโลก และก็นำอยู่เป็นเวลาหลายปีด้วย จากวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ของ เดวิด ซาร์นอฟฟ์ (David Sarnoff)[2]

นอกเหนือจากการพัฒนาโทรทัศน์สีแล้ว ประดิษฐกรรมจาก อาร์ซีเอ แลบอราทอรีส์ (RCA Laboratories) ยังมีทั้งจอภาพแบบจอแบน, แสงเลเซอร์ทุกๆ ประเภท, อุปกรณ์ประมวลผลภาพแบบโซลิดสเตท (solid state imaging devices), เทคโนโลยีชิป ซีมอส (CMOS chip technology), และระบบสื่อสาร รวมทั้งระบบไมโครเวฟ และระบบออปติคัล นวัตกรรมเหล่านี้ได้ช่วยสร้างอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ ขึ้นมาที่ทำรายรับแต่ละปีในปัจจุบันเฉียดๆ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และก็เป็นรากฐานของโลกดิจิตอลอีกด้วย

ทว่ามาถึงเวลานี้ปรากฏว่าผลิตภัณฑ์โครงสร้างพื้นฐานอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้แทบไม่มีชนิดไหนที่ผลิตกันในสหรัฐฯอีกแล้ว และไม่มีชนิดใดเอาเลยที่สหรัฐฯยังคงรักษาฐานะความเป็นผู้นำของโลกไว้ได้ ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมจอภาพแบบจอแบน ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วเป็นผู้ส่งชิ้นส่วนให้แก่ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกๆ อย่าง ตอนนี้สามารถทำรายรับได้มากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี — จากโรงงานต่างๆ ซึ่งตั้งอยู่ทางเอเชีย และราว 73%ของเครื่องรับโทรทัศน์สีทั้งหมดในปัจจุบันผลิตขึ้นในประเทศจีน ในเรื่องชิปความจำ ผู้นำ 2 รายของโลกเวลานี้อยู่ในไต้หวันและเกาหลีใต้ตามลำดับ ขณะที่จีนก็กำลังพัฒนาอุตสาหกรรมแขนงนี้ของตนเองอย่างรวดเร็ว

บทเรียนที่เคร่งขรึมจริงจังประการหนึ่งซึ่งสามารถเรียนรู้จากเรื่องนี้ได้ก็คือ ความได้เปรียบในการแข่งขันของอุตสาหกรรม (industrial competitive advantage) เป็นสิ่งที่เปราะบางแตกหักเสียหายได้ง่ายดายมาก สหรัฐฯเคยเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเหล่านี้เนื่องจากพวกมันถูกประดิษฐ์ขึ้นในสหรัฐฯ โดยได้รับความสนับสนุนจากทรัพยากรของพวกบริษัทใหญ่ๆ ซึ่งโฟกัสเน้นหนักที่เรื่องนวัตกรรม และยังได้รับการสนับสนุนอย่างอ้อมๆ จากเงินทุนส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาของรัฐบาลกลางสหรัฐฯซึ่งมอบให้แก่พวกมหาวิทยาลัยสถาบันการศึกษาต่างๆ ตลอดจนห้องแล็ปของภาคบริษัทแห่งสำคัญๆ

ในโลกอุดมคตินั้น แต่ละประเทศควรดีดตัวเพิ่มระดับความได้เปรียบในการแข่งขันของตนเอง ด้วยการผลิตและการส่งออกสิ่งซึ่งตนสามารถแข่งขันได้ดีที่สุด (เมื่อพิจารณาในแง่ของต้นทุนและคุณภาพ) เข้าไปสู่การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างกันที่เปิดกว้าง ในโลกอุดมคติเช่นนี้ พวกผู้บริโภคได้รับประโยชน์ และธุรกิจต่างๆ ก็สามารถมั่งคั่งรุ่งเรืองได้เพราะพวกเขาดำเนินกิจการอยู่ในตลาดโลกที่มีขนาดขอบเขตอันกว้างขวางใหญ่โต ทว่าทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงทฤษฎีแบบที่คิดขึ้นในห้องเรียนอันแสนสุข เราไม่ได้กำลังอาศัยอยู่ในโลกอุดมคติและการค้าเสรีเลย เนื่องจากพวกผู้นำของประเทศต่างๆ ใช้กลวิธีต่อระบบ โดยผ่านมาตรการให้การอุดหนุนแก่อุตสาหกรรม และการตั้งข้อจำกัดต่างๆ ทางด้านระเบียบกฎหมายขึ้นมา ซึ่งส่งเสริมสนับสนุนพวกอุตสาหกรรมที่เป็นที่โปรดปรานของพวกเขา ด้วยการจำกัดสินค้านำเข้าที่จะเข้ามาแข่งขันขณะที่ส่งเสริมเพิ่มพูนสินค้าส่งออกของตนเอง

แน่นอนทีเดียว ความได้เปรียบในการแข่งขันบางอย่างบางประการนั้นเป็นเรื่องที่อิงอาศัยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และดอกผลจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและเหมืองแร่ที่มีต้นทุนต่ำ แต่เมื่อมาถึงเรื่องผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว ความได้เปรียบในการแข่งขันเป็นเรื่องที่มนุษย์สร้างขึ้นมาล้วนๆ

ที่อาร์ซีเอ ฐานะความเป็นผู้นำของบริษัทถูกท้าทายอย่างสาหัสจริงจังครั้งแรก จากพวกบริษัทอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงทศวรรษ 1970 ได้เริ่มต้นแคมเปญที่มุ่งโฟกัสที่การเข้ายึดตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค –โดยที่ในตอนนั้นผลิตภัณฑ์หลักก็ได้แก่เครื่องรับโทรทัศน์สี อันที่จริงแล้ว เทคโนโลยีนี้ได้รับไลเซนส์จากอาร์ซีเอ ซึ่งเวลานั้นมีนโยบายให้ไลเซนส์แบบเปิดกว้างแก่ผู้ที่มาขออนุญาตใช้ ญี่ปุ่นนั้นไม่ได้มีความได้เปรียบในการแข่งขันใดๆ เลยในการเข้าสู่ตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค –นอกจากความสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งรวมถึงการสกัดกั้นทีวีนำเข้าด้วย และด้วยเหตุฉะนี้จึงทำให้ราคาภายในประเทศสูงกว่าในสหรัฐฯเป็นอย่างมาก กล่าวคือ ในช่วงทศวรรษ 1970 เครื่องรับโทรทัศน์ญี่ปุ่นขายกันในราคาเครื่องละ 300 ดอลลาร์สหรัฐฯในอเมริกา แต่เครื่องแบบเดียวกันนี้ขายในราคาเครื่องละ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯในโตเกียว ผลที่เกิดขึ้นก็คือ พวกผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นต้องจ่ายในราคาสูงขึ้น และจากการนี้ก็คือกำลังให้การอุดหนุนแก่ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไปยึดครองตลาดโลกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ ซึ่งไม่ได้มีการตั้งข้อจำกัดใดๆ สำหรับการนำเข้า และช่องทางการจัดจำหน่ายก็พรักพร้อมให้ใช้งานได้อยู่แล้ว

จากนั้นเป้าหมายต่อไปของพวกนักวางแผนชาวญี่ปุ่นก็คือชิปความจำเซมิคอนดักเตอร์ ผลิตภัณฑ์นำเข้าของญี่ปุ่นตีตลาดสหรัฐฯด้วยราคาที่ต่ำกว่า จึงก่อให้เกิดแรงกดดันในเรื่องความสามารถในการทำกำไรต่อพวกบริษัทอเมริกันอย่างเช่น เทกซัส อินสตรูเมนต์ส (Texas Instruments) ซึ่งได้ลงทุนไปแล้วอย่างมากมายในเรื่องโรงงานสถานที่ทำการผลิต จุดสำคัญอยู่ตรงที่ว่าเซมิคอนดักเตอร์นำเข้าเหล่านี้มีคุณภาพสูงทว่าราคาต่ำกว่า และพวกมันก็เข้าแทนที่ผลิตภัณฑ์ทำในสหรัฐฯอย่างรวดเร็ว ทำให้โรงงานภายในประเทศจำนวนมากประสบการขาดทุน

พวกนักอุตสาหกรรมอเมริกันในเวลานั้นเคยชินแต่การเห็นสินค้านำเข้าจากเอเชียที่ราคาต่ำทว่าคุณภาพก็ต่ำกว่าด้วย แต่การแข่งขันใหม่คราวนี้ซึ่งมาจากผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพแต่ราคาถูกกว่า ถือเป็นเรื่องใหม่และมีอันตรายยิ่งกว่ามากมายนัก

การที่จะแข่งขันกับสินค้านำเข้าของญี่ปุ่น ในประเภทที่ถูกฝ่ายญี่ปุ่นกำหนดตั้งเป็นเป้าหมายเอาไว้แล้วเช่นนี้ พวกผู้นำทางธุรกิจอเมริกันที่ได้รับความกระทบกระเทือนส่วนใหญ่พิจารณากันว่าเป็นเกมที่มีแต่จะพ่ายแพ้ พวกเขาไม่ได้คิดว่าการลงทุนให้หนักในเรื่องนวัตกรรมจะเป็นคำตอบในระยะยาวสำหรับการรักษาความสามารถในการแข่งขันให้ดำรงคงอยู่เอาไว้ พวกเขากลับมองทางเลือกอื่น –ถ้าหากไม่ถอนตัวออกจากตลาดซึ่งตกเป็นเป้าหมายของพวกเอเชียที่บุกเข้ามา ก็เสาะแสวงหาสถานที่ตั้งโรงงานผลิตซึ่งมีต้นทุนต่ำลงเพื่อที่จะแข่งขันในเรื่องราคาได้ พวกเขาเชื่อว่าต้นทุนที่ต่ำลงคือคำตอบในเรื่องนี้ เนื่องจากไม่สามารถที่จะหาทางให้ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ หรือได้รับการปกป้องคุ้มครองจากระเบียบกฎหมาย --เรื่องหลังนี้มีตัวอย่างพิสูจน์ให้เห็นจากกรณีของบริษัทซีนิธ คอร์เปอเรชั่น (Zenith Corporation) หนึ่งในโรงงานผู้ผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ชั้นนำของอเมริกา ซึ่งใช้เวลาอยู่หลายปีในการต่อสู้กับผู้นำเข้าชาวญี่ปุ่นในศาลยุติธรรม บนพื้นฐานของการกล่าวหาว่ามีการทุ่มตลาด แต่แล้วก็จบลงโดยซีนิธกลายเป็นฝ่ายปราชัย และเวลานี้ก็ถูกบริษัทเกาหลีใต้แห่งหนึ่งซื้อไปเนื่องจากต้องการแบรนด์เนมนี้

สำหรับคำตอบของอาร์ซีเอนั้น สิ่งที่บริษัทตัดสินใจเลือกทำคือการลดต้นทุนการผลิตด้วยการโยกย้ายโรงงานผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ของตนไปยังเม็กซิโก และปิดโรงงานที่ตั้งอยู่ในเมืองอินเดียแนโพลิส ผลลัพธ์สำคัญมากที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจเช่นนี้ก็คือ พวกผู้บริหารธุรกิจระดับอาวุโสของบริษัทสูญเสียความกระหายที่จะทำการลงทุนในเรื่องสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค เมื่อเกิดประเด็นปัญหาขึ้นมาว่าสมควรหรือไม่ที่บริษัทจะทำการลงทุนในเรื่องผลิตภัณฑ์จอภาพแบบจอแบน ซึ่งอิงอาศัยประดิษฐ์กรรมต่างๆ ที่คิดค้นขึ้นมาโดย อาร์ซีเอ แลบอราทอรี อยู่แล้ว การตัดสินใจที่ออกมาคือไม่ลงทุน และเทคโนโลยีนี้ก็ถูกขายไลเซนส์ไปให้บริษัทชาร์ป คอเปอเรชั่น (Sharp Corporation) ในญี่ปุ่น ซึ่งได้ทำการลงทุนในระดับหลายพันล้านทีเดียวในเทคโนโลยีการผลิตจอภาพผลึกเหลว (liquid crystal display หรือ จอแอลซีดี)

ยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นในการสร้างอุตสาหกรรมของตนขึ้นมานั้นเดินไปตามสคริปต์ที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้า แล้วอะไรล่ะคือความได้เปรียบในการแข่งขันของญี่ปุ่นในตอนที่ตั้งเป้าหมายบุกธุรกิจสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคในช่วงทศวรรษ 1970? ประการแรกเลยคือ ความพยายามอย่างมีการจัดขบวนเป็นระเบียบแบบแผนในระดับชาติ โดยที่มีพวกบริษัทที่ได้รับคัดสรรเอาไว้แล้ว เป็นผู้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และก็มีการตั้งข้อจำกัดต่อสินค้านำเข้า ประการที่สอง ความสามารถที่จะหาเงินทุนเพื่อใช้จ่ายสำหรับการตั้งโรงงานใหม่ๆ และประการที่สาม การโฟกัสที่การผลิตพวกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพให้ได้เป็นจำนวนมากๆ โดยอาศัยเทคนิคการผลิตต่างๆ ที่ถือว่าเหนือชั้นอยู่ในเวลานั้น และอิงอาศัยความเข้าอกเข้าใจที่ว่าการที่นานาชาติจะให้ความยอมรับในผลิตภัณฑ์ใดๆ นั้น กำลังจะกลายเป็นเรื่องซึ่งต้องพึ่งพาอาศัยการผสมผสานกันระหว่างคุณภาพที่เหนือกว่าและราคาที่ต่ำ

แต่เดี๋ยวก่อนนะครับ นี่ยังไม่ถึงตอนจบของเรื่องนี้หรอก

ความได้เปรียบในการแข่งขันของญี่ปุ่นนี้ไปๆ มาๆ ก็กำลังกลายเป็นเรื่องแค่ชั่วประเดี๋ยวเดียว และปัจจุบันความเป็นผู้นำในเรื่องสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคก็หนีหายไปอยู่ที่อื่นเสียแล้ว ความเป็นผู้นำของญี่ปุ่นในเรื่องชิปความจำและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อบริโภคได้จากจรไปแล้ว และไม่มีบริษัทญี่ปุ่นรายไหนเลยที่ถูกนำมาคำนวณให้น้ำหนักความสำคัญในเวลาพูดถึงธุรกิจโทรศัพท์สมาร์ตโฟน ซึ่งเป็นธุรกิจสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดเวลานี้

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

มีการถกเถียงอภิปรายกันอย่างเยอะแยะมากมายเกี่ยวกับสาเหตุที่การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของญี่ปุ่นประสบภาวะหยุดชะงักนิ่งงัน สำหรับในส่วนของธุรกิจด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่ผมคุ้นเคยนั้น ผมขอระบุว่าจุดอ่อนข้อบกพร่องสำคัญอยู่ตรงที่พวกบริษัทใหญ่ๆ ของญี่ปุ่นขาดไร้ความสามารถที่จะสร้างนวัตกรรมอันแท้จริงขึ้นมา ด้วยการที่ตลาดภายในประเทศส่วนใหญ่ได้รับการปกป้องคุ้มครองจนไม่ต้องเผชิญการแข่งขันจากต่างชาติ พวกบริษัทใหญ่ๆ ที่ได้รับการอุ้มชูจากประดานักวางแผนของรัฐบาลจึงขาดไร้ความจำเป็นหรือไม่ได้มีความรู้สึกถูกบีบบังคับให้ต้องสร้างนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ขึ้นมา ผลก็คือ ขาดการลงทุนในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และในเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมากมาย ตัวอย่างเช่น ความเป็นผู้นำในด้านชิปความจำได้โยกย้ายไปอยู่ที่ ซัมซุง ในเกาหลีใต้ (ซึ่งเวลานี้ครองตลาดโลกเอาไว้ราว 40%) ความเป็นผู้นำในเรื่องจอแบนก็โยกย้ายไปอยู่ ซัมซุง เช่นเดียวกัน โดยที่เทคโนโลยีล่าสุด คือ OLEDs นั้น กำลังผลิตกันที่นั่น ชาร์ป ที่เคยเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแขนงนี้ก่อนหน้านี้ ไม่เพียงแต่ต้องออกจากธุรกิจนี้ไปเท่านั้น แต่ยังทำท่าจะถูกบริษัทไต้หวันเทคโอเวอร์ไปอีกด้วย ความเจริญรุ่งเรืองในโลกช่างเป็นเรื่องชั่วประเดี๋ยวประด๋าวเสียจริงๆ

ในหลายๆ ประเทศ รัฐบาลถือเป็นผู้แสดงบทบาทสำคัญรายหนึ่งในการสร้างพวกอุตสาหกรรมแห่งนวัตกรรมขึ้นมา ด้วยการให้ความสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนทางด้านเงินทุน ตลอดจนการให้เงินทุนอุดหนุนการวิจัยและพัฒนา ทว่าความได้เปรียบในการแข่งขันในเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ได้มาเสมือนเป็นของขวัญชิ้นหนึ่งซึ่งได้รับการประทานจากรัฐบาลหรือกระทั่งจากพระผู้เป็นเจ้า หากแต่เป็นสิ่งที่ได้มาจากการที่พวกผู้นำธุรกิจทำการบริหารจัดการเรื่องนวัตกรรม และการลงทุนด้านเงินทุนและด้านทรัพยากรมนุษย์ในวิถีทางที่ถูกจังหวะเวลา สหรัฐฯนั้นได้ยอมทอดทิ้งความเป็นผู้นำของตนไปสืบเนื่องจากการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ของพวกผู้นำภาคธุรกิจจำนวนมาก จากนั้นมันก็ถึงคราวของพวกญี่ปุ่น ใครกันจะเป็นรายต่อไป?

เฮนรี เครสเซล เป็นนักเทคโนโลยีผู้มีชื่อเสียง, นักประดิษฐ์ (มีผลงานที่จดทะเบียนสิทธิบัตรในสหรัฐฯรวม 31 รายการ), และนักลงทุนหลักทรัพย์ภาคเอกชนในบริษัทเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จจำนวนมาก เมื่อเขาทำงานอยู่ที่ วอร์เบิร์ก พินคัส (Warburg Pincus) บริษัทเพื่อการลงทุนหลักทรัพย์ภาคเอกชน เขายังได้รับคัดเลือกให้เข้าเป็นสมาชิกของบัณฑิตยสถานแห่งชาติด้านวิศวกรรมศาสตร์ของสหรัฐฯ (US National Academy of Engineering) ด้วย ก่อนหน้าที่เขาหันมาเริ่มต้นงานอาชีพด้านการลงทุนของเขาในปี 1983 เขาเป็นผู้อำนวยการด้านการวิจัยและพัฒนาในเครื่องมืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อยู่ที่ อาร์ซีเอ แลบอราทอรีส์ เขายังเขียนหนังสือเอาไว้หลายเล่ม โดยเล่มท้ายสุด (เขียนร่วมกับ นอร์แมน วินาร์สกี้ Norman Winarsky) คือเรื่อง If You Want to Change the World (สำนักพิมพ์ Harvard Business Press, 2015)

หมายเหตุผู้แปล

[1] บริษัท อาร์ซีเอ คอร์เปอเรชั่น (RCA Corporation) เคยเป็นบริษัทอิเล็กทรอนิกส์อเมริกันรายใหญ่รายหนึ่ง ก่อตั้งขึ้นในปี 1919 โดยใช้ชื่อว่า เรดิโอ คอร์เปอเรชั่น ออฟ อเมริกา (Radio Corporation of America) ตอนแรกทีเดียว อาร์ซีเอเป็นกิจการในเครือของ เจเนอรัล อิเล็กทริก (General Electric หรือ GE) ซึ่งจีอีถือหุ้นเอาไว้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เมื่อปีถึง 1932 จีอีต้องยอมกระจายฐานะการควบคุมของตน โดยเป็นส่วนหนึ่งของการประนอมยอมความในคดีที่จีอีถูกฟ้องร้องว่าทำผิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด

ช่วงที่ขึ้นไปถึงขีดสูงสุดในตอนที่เป็นบริษัทอิสระแล้วนั้น อาร์ซีเอคือบริษัทด้านการสื่อสารโทรคมนาคมที่มีฐานะครอบงำเหนืออุตสาหกรรมนี้ในสหรัฐฯทีเดียว เริ่มต้นตั้งแต่ทศวรรษ 1920 บริษัทเป็นโรงงานผลิตเครื่องรับวิทยุรายใหญ่ และก็เป็นผู้พัฒนาเครือข่ายวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติรายแรกด้วย ซึ่งมีชื่อว่า เนชั่นแนล บรอดแคสติ้ง คอมปานี (National Broadcasting Company หรือ NBC) อาร์ซีเอยังมีบทบาทนำในการเปิดตัวโทรทัศน์แบบขาวดำในทศวรรษ 1940 และ 1950 และโทรทัศน์สีในทศวรรษ 1950 และ 1960 ระหว่างช่วงเวลาเหล่านี้ อาร์ซีเอมักเป็นที่รู้จักเคียงคู่ผูกพันอย่างใกล้ชิดกับความเป็นผู้นำของ เดวิด ซาร์นอฟฟ์ ผู้ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการใหญ่ในตอนก่อตั้งบริษัท ก่อนจะขึ้นเป็นประธานกรรมการบริหารในปี 1930 และยังคงมีบทบาทอย่างกระฉับกระเฉงในฐานะประธานของคณะกรรมการบริหารบริษัท จวบจนกระทั่งถึงสิ้นปี 1969

แต่เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1970 อาร์ซีเอก็เริ่มตกต่ำ โดยบาดเจ็บจากการขาดทุนหนักในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ เมนเฟรม และโครงการที่ประสบความล้มเหลวอื่นๆ อย่างเช่น CED videodisc ในปี 1986 บริษัทถูกซื้อกลับไปโดยเจนเนอรัล อิเล็กทริก อีกครั้งหนึ่ง และอีกไม่กี่ปีถัดจากนั้น จีอีก็นำเอาทรัพย์สินต่างๆ แทบทั้งหมดของอาร์ซีเอออกมาตัดแบ่งจำหน่ายหรือแยกเป็นกิจการอิสระ เครื่องหมายการค้า อาร์ซีเอ ในปัจจุบันตกเป็นของ โซนี่ มิวสิก เอ็นเตอร์เทนเมนต์ (Sony Music Entertainment) และ เทคนิคคัลเลอร์ (Technicolor) ซึ่งก็ได้ไลเซนส์แบรนด์เนมนี้ไปให้บริษัทอื่นๆ เป็นต้นว่า ว็อกซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Voxx International), เคอร์ติส อินเตอร์เนชั่นแนล (Curtis International), และ ทีซีแอล คอร์เปอเรชั่น (TCL Corporation) ที่นำเอาไปใช้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ หลายหลากของพวกเขา
(ข้อมูลจาก Wikipedia)

[2] เดวิด ซาร์นอฟฟ์ (David Sarnoff) เกิดเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1891 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 1971 เขาเกิดในครอบครัวชาวยิวที่ อุซลยานีย์ (Uzlyany) เมืองเล็กๆ ในจักรวรรดิรัสเซียในเวลานั้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศเบลารุส ในปี 1900 หรือขณะมีอายุได้ 10 ขวบ เขาอพยพพร้อมครอบครัวมาพำนักอาศัยในนครนิวยอร์ก, สหรัฐฯ

ซาร์นอฟฟ์ เป็นนักธุรกิจอเมริกันซึ่งเป็นผู้บุกเบิกกิจการวิทยุและโทรทัศน์ของสหรัฐฯ แทบจะตลอดชั่วชีวิตการทำงานอาชีพของเขาทีเดียว เขาเป็นผู้นำของบริษัท เรดิโอ คอร์เปอเรชั่น ออฟ อเมริกา (Radio Corporation of America หรือ RCA) ในตำแหน่งต่างๆ นับตั้งแต่หลังการก่อตั้งบริษัทในปี 1919 ไม่นานนัก ไปจนกระทั่งเขาเกษียณไปในปี 1970

เขาเป็นผู้ปกครองเหนืออาณาจักรการสื่อสารโทรคมนาคม และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค ซึ่งขยายตัวเติบใหญ่ออกไปไม่หยุดยั้ง โดยมีทั้ง อาร์ซีเอ และ เอ็นบีซี และกลายเป็นหนึ่งในบริษัทใหญ่ที่สุดของโลกในตอนนั้น เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายทหารยศพลจัตวาของกองกำลังสำรอง สังกัดเหล่าทหารสื่อสารเมื่อปี 1945 หลังจากนั้นมา ซาร์นอฟฟ์ ก็เป็นที่รู้จักเรียกขานกันอย่างกว้างขวางในชื่อฉายาว่า “ท่านนายพล” (The General)

ซาร์นอฟ ได้รับเครดิตว่าเป็นผู้คิดค้น “กฎของซาร์นอฟฟ์” (Sarnoff's law) ซึ่งระบุว่า มูลค่าของเครือข่ายกิจการแพร่ภาพกระจายเสียง ย่อมเป็นอัตราส่วนสัมพันธ์กับจำนวนผู้ชมผู้ฟังของเครือข่ายนั้นๆ”

(ข้อมูลจาก Wikipedia)


กำลังโหลดความคิดเห็น