xs
xsm
sm
md
lg

“ทรัมป์” เยือนปารีสกระทบไหล่ “มาครง” ขณะที่สื่อสหรัฐฯ รุมแฉสมคบ “ปูติน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ และภริยา เมลาเนีย ก้าวลงจากเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวัน หลังเดินทางถึงสนามบินออร์ลีย์ในกรุงปารีส เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (13 ก.ค.)
เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ พร้อมด้วยสตรีหมายเลขหนึ่ง เมลาเนีย ทรัมป์ เดินทางถึงกรุงปารีสวันนี้ (13 ก.ค.) ในฐานะแขกวีไอพีของรัฐบาลเมืองน้ำหอมเนื่องในวันชาติฝรั่งเศส 14 ก.ค. ท่ามกลางมรสุมข่าวเรื่องการสมคบคิดกับรัสเซีย ตลอดจนท่าทีหมางเมินจากมิตรประเทศที่เอือมระอานโยบายการค้าแบบ “อเมริกาเฟิสต์” และการปฏิเสธต่อสู้โลกร้อน

เครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันของผู้นำสหรัฐฯ ร่อนลงแตะรันเวย์สนามบินออร์ลีย์หลังเวลา 06.30 น. GMT เพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเยือนฝรั่งเศส 24 ชั่วโมง ซึ่งมีทั้งกำหนดการร่วมชมพิธีสวนสนามกองทัพเนื่องในวันบาสตีย์ (Bastille Day) และกิจกรรมรำลึกครบ 100 ปีที่ทหารอเมริกันเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1

ก่อนหน้านี้ไม่กี่สัปดาห์ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียก็ได้เดินทางมาเป็นแขกพิเศษของมาครง ที่พระราชวังแวร์ซายส์

แม้จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์จะไม่ค่อยราบรื่นนัก แต่ดูเหมือนว่า ทรัมป์ และประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ต่างก็มีแรงจูงใจที่จะสร้างมิตรภาพที่ดีต่อกัน โดย มาครง นั้นหวังที่จะผลักดันฝรั่งเศสให้มีบทบาทเพิ่มขึ้นในเวทีโลก ขณะที่ ทรัมป์ ซึ่งถูกโดดเดี่ยวจากผู้นำหลายประเทศก็หวังที่จะได้เพื่อน

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา สื่ออเมริกันได้ทยอยเปิดโปงหลักฐานใหม่ๆ ที่บ่งบอกว่าคนใกล้ชิด ทรัมป์ รู้เห็นเป็นใจให้รัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว โดยเฉพาะอีเมลของ “โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์” บุตรชายคนโตของทรัมป์ ซึ่งระบุชัดเจนว่า “ยินดี” รับความช่วยเหลือจากรัสเซียเพื่อดิสเครดิต ฮิลลารี คลินตัน

เจ้าหน้าที่ทำเนียบเอลีเซระบุว่า ผู้นำทั้งสองจะหารือจุดยืนร่วมในด้านการทหารและการทูต และ มาครง จะใช้โอกาสนี้หยิบยกปัญหาสำคัญๆ ขึ้นมาพูดคุยกับ ทรัมป์ ด้วย หลังจากที่ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ ถูกหลายประเทศเมินหน้าหนีจากการละทิ้งข้อตกลงปารีส และนโยบายอเมริกาเฟิร์สต์

ผู้ช่วยของมาครง เปิดเผยว่า เขาไม่อยากให้ ทรัมป์ รู้สึกว่ากำลังถูกต้อนจนนมุม

“สิ่งที่ประธานาธิบดีมาครง ต้องการจะทำก็คือ ดึงคุณทรัมป์กลับมาสู่แวดวงของเรา สหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลกจะได้ไม่ถูกกีดกันออกไป” คริสตอฟ กัสตาเนร์ โฆษกรัฐบาลฝรั่งเศส ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ BFM TV

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญของการสนทนาคงจะหนีไม่พ้นความร่วมมือในการปราบปรามกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในอิรักและซีเรีย ซึ่งกองทัพสหรัฐฯ และฝรั่งเศสได้ร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันอยู่

ทันทีที่เดินทางถึงฝรั่งเศส ทรัมป์ และภริยาได้มุ่งหน้าไปยังบ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในกรุงปารีสเพื่อรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับนายทหารระดับสูง ก่อนจะไปพบกับ มาครง ที่ โอแตล เดแซงวาลีดส์ (Hotel des Invalides) อาคารเก่าแก่ซึ่งสร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17 และเป็นสถานที่ฝังพระศพจักรพรรดิ นโปเลียน โบนาปาร์ต รวมถึงบรรดาวีรชนสงคราม

หลังจากนั้น สองผู้นำและสตรีหมายเลขหนึ่ง “เมลาเนีย-บริจิตต์” จะร่วมรับประทานอาหารค่ำที่ภัตตาคาร “ฌูลส์ แวร์น” (Jules Verne) บนชั้น 2 ของหอไอเฟล

เจ้าหน้าที่ทำเนียบเอลีเซระบุว่า กำหนดการที่วางไว้ทั้งหมดนี้ล้วนสื่อความหมายในเชิงสัญลักษณ์ว่า “ปารีสยังคงเป็นปารีส” และเป็นการท้าทายคำพูดที่ ทรัมป์ เคยกล่าวเอาไว้ขณะหาเสียงเมื่อปีที่แล้วว่า การโจมตีของกลุ่มอิสลามิสต์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ “ฝรั่งเศสไม่ใช่ฝรั่งเศสอีกต่อไป”

ทรัมป์ และ มาครง นั้นแทบจะไม่มีอะไรที่เหมือนกันเลย ทั้งวัยที่ห่างกันกว่า 30 ปี การใช้ชีวิตส่วนตัว และยังมีจุดยืนคนละขั้วในเรื่องของโลกาภิวัตน์และผู้อพยพ

หลายฝ่ายให้คำนิยาม มาครง วัย 39 ปี ว่าเป็นเสมือน “พลังต่อต้านทรัมป์” ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสเมื่อต้นปีนี้






กำลังโหลดความคิดเห็น