xs
xsm
sm
md
lg

'ไทยยูเนี่ยน'ยักษ์ใหญ่อาหารทะเล จับมือกลุ่ม'กรีนพีซ' แก้ไขปัญหาจับปลามากเกินไป, ละเมิดสิทธิคนงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/รอยเตอร์/MGRออนไลน์ - สื่อนอกรายงานข่าว ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของโลก แถลงให้คำมั่นสัญญาในวันอังคาร (11 ก.ค.) จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติในการทำประมงของบริษัท เพื่อเป็นการแก้ไขรับมือปัญหาการจับสัตว์ทะเลที่มากเกินไป และป้องกันการใช้แรงงานในทางมิชอบ โดยความเคลื่อนไหวคราวนี้เป็นการตกลงร่วมกับกลุ่มกรีนพีซ ซึ่งได้กล่าวยกย่องชมเชยว่า เป็น “ความก้าวหน้าอย่างใหญ่โต”

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยเป็นเจ้าของแบรนด์ใหญ่อย่างเช่น Chicken of the Sea, John West , Petit Navire, และ ซีเล็ค นั้น เคยเป็นที่รังเกียจของพวกซึ่งรณรงค์คัดค้านการทำประมงมากเกินไปอันจะก่อให้เกิดปัญหาขาดแคลนในระยะยาว ตลอดจนพวกที่คัดค้านการล่วงละเมิดคนงานบนเรือประมงและโรงงานแปรรูปอาหารทะเล

แต่ในคำแถลงที่ ไทยยูเนี่ยน ออกร่วมกับกลุ่มกรีนพีซในวันอังคาร (11) ได้ประกาศมาตรการในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงชุดใหญ่ โดยที่ทั้งสองฝ่ายระบุว่าเรื่องนี้ควรที่ส่งเสริมผลักดันให้บริษัทอาหารทะเลยักษ์รายอื่นๆ กระทำตามบ้าง

“นี่เป็นหลักหมายแสดงถึงความก้าวหน้าอย่างใหญ่โตมหึมาสำหรับท้องทะเลและสิ่งมีชีวิตในทะเลของเรา และสำหรับสิทธิของผู้คนซึ่งกำลังทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมอาหารทะเล” บันนี แมคดิอาร์มิด ผู้อำนวยการบริหารของกลุ่มกรีนพีซ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุในคำแถลงฉบับดังกล่าว พร้อมกับบอกว่า “ตอนนี้ถึงเวลาสำหรับบริษัทอื่นๆ ที่จะก้าวขึ้นมา และแสดงให้เห็นความเป็นผู้นำในทำนองเดียวกันแล้ว”

ในบรรดาการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่ง ไทยยูเนี่ยน ให้คำมั่นที่จะกระทำนั้น เรื่องหนึ่งคือการลดจำนวนเครื่องมือการทำประมงประเภทซั้ง (fish aggregating devices หรือ FADs) ที่ใช้ในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกของบริษัท ลงมาให้ได้ 50% ภายในปี 2020 และลดการทำประมงโดยใช้เบ็ดราว (longline fishing)

FADs ซึ่งเป็นอุปกรณ์ลอยน้ำที่จำลองระบบนิเวศขนาดย่อมเพื่อดึงดูดหลอกล่อสัตว์น้ำ ตลอดจนการใช้เบ็ดราว เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการจับปลามีราคาอย่างเช่น ทูน่า แต่ก็มักมีสัตว์น้ำอื่นๆ ติดมาด้วย รวมทั้งพวกฉลามและเต่าที่อยู่ในภาวะถูกคุกคามใกล้สูญพันธุ์

การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ยังพุ่งเป้าหมายไปที่เรื่องเงื่อนไขการทำงานของคนงานซึ่งอยู่บนเรือ ทั้งของไทยยูเนี่ยนเอง และของบรรดาซัปพลายเออร์ของบริษัท รวมทั้งการขยายการระงับใช้วิธีการที่เรียกว่า “การขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำกลางทะเล” (transshipping)

Transshipping เป็นวิธีการซึ่งพวกทำประมงรายยักษ์จำนวนมากใช้กันอยู่ เพื่อทำให้เรือประมงอยู่กลางทะเลได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยมีบ่อยๆ ที่การออกทะเลแต่ละครั้งจะอยู่กันนานเป็นปีๆ

ทั้งนี้สัตว์น้ำที่เรือประมงจับได้ จะถูกขนถ่ายไปยังเรือห้องเย็นซึ่งแล่นออกไปรับกลางทะเล วิธีการนี้แม้มีประสิทธิภาพในทางเศรษฐกิจ โดยประหยัดเวลาและต้นทุนด้านเชื้อเพลิงสำหรับเรือที่ต้องเดินทางกลับขึ้นฝั่ง แต่กลุ่มสิ่งแวดล้อมต่างๆ เตือนมานานแล้วว่า การขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำกลางทะเล เปิดทางให้พวกเรือประมงซุกซ่อนสัตว์น้ำที่จับอย่างผิดกฎหมาย อีกทั้งบ่อยครั้งยังทำให้พวกคนงานประมงที่ได้รับค่าตอบแทนต่ำอยู่แล้วถูกปฏิบัติเยี่ยงทาสซึ่งต้องอยู่แต่ในเรือเป็นเวลาแรมปี

ไทยยูเนี่ยนยังตกลงให้มีผู้สังเกตการณ์อิสระ หรือติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ติดตามระบบดิจิตอล บนเรือประมงเบ็ดราว ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกของบริษัท รวมทั้งจะพบปะหารือกับทางกลุ่มกรีนพีซเป็นประจำทุกๆ 6 เดือน เพื่อประเมินความคืบหน้าและการดำเนินการของบริษัท

ในคำแถลงร่วมฉบับนี้ ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไทยยูเนี่ยน กลาวว่า บริษัทของเขา “ยินดีรับบทบาทการเป็นผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ในฐานะที่เราเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก”

ไทยยูเนี่ยนได้ลงทุนเป็นจำนวนเงิน 90 ล้านดอลลาร์ในแผนการริเริ่มต่างๆ เพื่อให้เป็นที่มั่นใจว่าปลาทูน่าที่บริษัทนำมาใช้จะมาจากแหล่งที่ทำการประมงแบบมุ่งความยั่งยืน 100% เต็ม โดยบริษัทสัญญาว่าจะทำเช่นนี้ให้ได้อย่างน้อย 75% ภายในปี 2020

บริษัทยังแถลงในปีที่แล้วว่า จะขจัดการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจัดหางานจากคนงานของบริษัท อันเป็นความเคลื่อนไหวที่มุ่งคุ้มครองแรงงานไม่ให้ต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อเอามาจ่ายให้พวกนายหน้าจัดหางาน รวมทั้งไม่ให้แรงงานถูกขูดรีดหรือถูกล่วงละเมิด

ไทยยูเนี่ยนรายงานว่าทำยอดขายได้ทั่วโลกเป็นเงิน 3,800 ล้านดอลลาร์ในปี 2016 และมีเป้าหมายที่จะทำรายรับให้ได้ 8,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2020

ประเทศไทยนั้นเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ทว่าอุตสาหกรรมนี้ถูกกล่าวหามายาวนานในเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานและการใช้แรงงานราคาต่ำๆ ในเรือประมงตลอดจนในโรงงานแปรรูปอาหารจำนวนมาก โดยที่คนงานในอุตสาหกรรมแขนงนี้ของไทยส่วนใหญ่แล้วเป็นแรงงานจากพม่า, ลาว, และกัมพูชา

นานาชาติโดยเฉพาะสหภาพยุโรป ได้ข่มขู่ที่จะห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของไทย หากรัฐบาลไม่แก้ไขปัญหา

กำลังโหลดความคิดเห็น