รอยเตอร์ - เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางถึงคูเวตแล้วในวันจันทร์ (10 ก.ค.) เพื่อร่วมเจรจาซึ่งมีเป้าหมายคลี่คลายวิกฤตอ่าวเปอร์เซีย อันมีต้นตอจากซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรอาหรับตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์
ในโดฮา ผู้แทนทูตสหรัฐฯ รายหนึ่งบอกว่าการสร้างกลไกตรวจตราการสนับสนุนทางการเงินแก่พวกก่อการร้ายจะอยู่ในหัวข้อของการสนทนาด้วย แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
ซาอุดีอาระเบีย, บาห์เรน, ยูเออี และอียิปต์ กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานกาตาร์เมื่อเดือนที่แล้ว โดยกล่าวหาโดฮา ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่พวกก่อการร้ายและใกล้ชิดอิหร่าน คำกล่าวหาที่กาตาร์ปฏิเสธ
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ทิลเลอร์สันจะหล่อหลอมความสัมพันธ์ในอ่าวเปอร์เซีย ในขณะที่อดีตซีอีโอของเอ็กซอนโมบิล รายนี้จะหารือกับพวกผู้นำในคูเวต, กาตาร์ และซาอุดีอาระเบีย ทั้งนี้ ทิลเลอร์สันบินมาจากอิสตันบูล หลังเพิ่งเสร็จสิ้นเข้าร่วมเวทีสัมมนาปิโตรเลียมนานาชาติ
อาร์.ซี.แฮมมอนด์ ที่ปรึกษาระดับอาวุโสของทิลเลอร์สัน บอกว่าเขาจะสำรวจแนวทางต่างๆ เพื่อยุติทางตัน หลังกาตาร์ปปฏิเสธข้อเรียกร้อง 13 ข้อ ที่พวกชาติอาหรับยื่นเป็นเงื่อนไขสำหรับแลกกับการยุติการคว่ำบาตร
“การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย และกาตาร์ เป็นเรื่องของศิลปะแห่งความเป็นไปได้” แฮมมอนด์กล่าว พร้อมระบุว่าเงื่อนไข 13 ข้อจบสิ้นไปแล้ว ไม่มีค่าในจะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ทั้งหมด แต่โดยส่วนตัวเขามองว่ามีหลายๆ อย่างในนั้นอาจใช้การได้
ข้อเรียกร้อง 13 ข้อนั้น ในนั้นรวมถึงปิดเครือข่ายสถานีโทรทัศน์อัลญาซีเราะห์ของกาตาร์ และฐานทัพตุรกีและกาตาร์ โดยซาอุดีอาระเบียและพันธมิตร กล่าวหาอัลญาซีเราะห์เป็นแพลตฟอร์มสำหรับพวกหัวรุนแรงและเป็นสายลับแทรกแซงกิจการภายในของพวกเขา พร้อมขู่คว่ำบาตรโดฮาเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามทางอัลจาซีเราะห์ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้
วิกฤตนี้ส่งผลกระทบต่อกาตาร์ ทั้งด้านการนำเข้าอาหารและการเดินทาง โหมกระพือความตึงเครียดในอ่าวเปอร์เซียและก่อความสับสนในหมู่นักธุรกิจ ขณะเดียวกันก็ผลักกาตาร์ใกล้ชิดอิหร่านและตุรกียิ่งขึ้น โดยทั้งสองชาติต่างเสนอตัวสนับสนุนโดฮา
สหรัฐฯ กังวลว่าวิกฤตนี้อาจกระทบต่อทหารและปฏิบัติการต่อต้านก่อการร้ายของพวกเขา และเพิ่มอิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาค เนื่องจากเตหะรานให้การสนับสนุนกาตาร์ โดยการอนุญาตให้โดฮาเชื่อมต่อทางอากาศและทางทะเลผ่านอาณาเขตของพวกเขา
กาตาร์เป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศอัล อูเดอิด ซึ่งเป็นฐานทัพใหญ่ที่สุดของกองทัพสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง ทั้งนี้พันธมิตรนานาชาติที่นำโดยอเมริกาใช้ฐานทัพอากาศแห่งนี้ส่งเครื่องบินรบขึ้นปฏิบัติการโจมตีทางอากาศถล่มกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในซีเรียและอิรัก
แฮมมอนด์บอกว่า มันเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่แค่กับกาตาร์ แต่รวมถึงริยาดและพันธมิตร ที่ต้องใช้มาตรการต่างๆ สำหรับยับยั้งการสนับสนุนทางการเงินแก่พวกกลุ่มหัวรุนแรง โดยเฉพาะหลังการโค่นล้มไอเอสในเมืองโมซุล ทางเหนือของอิรัก
“เราต้องการคืบหน้าด้านสกัดเงินทุนของพวกก่อการร้าย ท่านประธานาธิบดีเชื่อว่าหากคุณตัดขาดทางการเงิน คุณก็สามารถตัดศักยภาพของพวกก่อการร้ายในการยึดครองพื้นที่ใหม่ๆ” แฮมมอนด์ระบุ “ยิ่งไปกว่านั้น หากปล่อยให้ปัญหานี้ยืดเยื้อต่อไป ก็รังแต่เป็นการเปิดโอกาสให้แก่อิหร่าน”