xs
xsm
sm
md
lg

นัก กม.เตือนการใช้คำสั่งแบน 6 ชาติมุสลิมเข้าสหรัฐฯ “บางส่วน” จะก่อความสับสนอลหม่าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - หลักเกณฑ์ที่ศาลสูงสุดสหรัฐฯ กำหนดขึ้นเพื่อใช้คัดคนที่จะสามารถเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ตามคำสั่งแบนมุสลิม 6 ชาติของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจสร้างความสับสนแก่เจ้าหน้าที่ทั้งในสหรัฐฯ และต่างแดนซึ่งมีหน้าที่ต้องบังคับใช้เกณฑ์เหล่านี้ และคาดว่าจะนำไปสู่การยื่นอุทธรณ์คัดค้านระลอกใหม่ ผู้เชี่ยวชาญระบุ

ศาลสูงสุดสหรัฐฯ หยิบยื่นชัยชนะให้แก่ ทรัมป์ ด้วยการอนุมัติให้คำสั่งแบนมุสลิม 6 ชาติ และผู้ลี้ภัยมีผลบังคับบางส่วนและเป็นการชั่วคราวเมื่อวานนี้ (26) โดยกำหนดข้อยกเว้นให้เฉพาะชาวต่างชาติที่มีความสัมพันธ์ “โดยสุจริต” (bona fide) กับบุคคลหรือองค์กรในสหรัฐฯ

“กฎเกณฑ์แบบนี้ไม่เคยมีมาก่อน เท่าที่ผมทราบ” เจฟฟรีย์ กอร์สกี อดีตที่ปรึกษากฎหมายประจำสำนักงานวีซาของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ

กอร์สกี เตือนว่า การกำหนดมาตรฐานด้วยคำว่า “โดยสุจริต” นี้อาจสร้างความสับสนให้แก่เจ้าหน้าที่กงสุลซึ่งมีหน้าที่ออกวีซ่า และบางกรณีอาจต้องให้ศาลช่วยตัดสินว่าความสัมพันธ์ลักษณะไหนบ้างที่สุจริตเพียงพอสำหรับการเดินทางเข้าสหรัฐฯ

ศาลสูงสุดได้รับวินิจฉัยการยื่นอุทธรณ์ของรัฐบาลทรัมป์ โดยจะเริ่มทำการไต่สวนในเดือน ต.ค. ซึ่งระหว่างนี้ศาลจะอนุญาตให้มีการบังคับใช้คำสั่งห้ามดังกล่าวในบางส่วน

ผู้พิพากษา แคลเรนซ์ โทมัส ชี้ว่า ศาลน่าจะอนุมัติให้คำสั่งแบนมีผลบังคับอย่างเต็มรูปแบบไปก่อน “เพราะการไปลดขอบเขตคำสั่งจะยิ่งเพิ่มภาระให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร ซึ่งจะต้องตัดสินว่าพลเมืองจาก 6 ชาติดังกล่าวมีความสัมพันธ์เพียงพอกับบุคคลหรือองค์กรในสหรัฐฯ หรือไม่”

ในคำพิพากษาเมื่อวานนี้ (26) ศาลได้ยกตัวอย่างความสัมพันธ์ที่ถือว่าเข้าเกณฑ์ “โดยสุจริต” เช่น กรณีบุคคลทั่วไปจะต้องมีความสัมพันธ์ถึงระดับ “ญาติสนิท” กับผู้ที่พำนักอยู่ในสหรัฐฯ ส่วนความสัมพันธ์กับองค์กรก็จะต้องมีเอกสารยืนยันอย่างเป็นทางการ เช่น นักศึกษาต่างชาติที่ถูกตอบรับเข้าเรียนในสถานศึกษาของอเมริกา หรือแรงงานต่างชาติที่ถูกว่าจ้างโดยบริษัทอเมริกัน เป็นต้น

ศาลระบุด้วยว่า อันที่จริงคำสั่งของทรัมป์ก็กำหนดข้อยกเว้นเป็นกรณีๆ ไปสำหรับชาวต่างชาติที่มีความเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ อยู่แล้ว

สำหรับความสัมพันธ์ที่สร้างขึ้นเพื่อหลบเลี่ยงคำสั่งแบนนั้นถือว่าใช้ไม่ได้ ตัวอย่างเช่น องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ก่อตั้งเพื่อช่วยเหลือคนเข้าเมืองไม่มีสิทธิเพิ่มชาวต่างชาติเข้าไปในรายชื่อผู้รับบริการ “และอ้างความเสียหายจากการกีดกันคนเหล่านั้นเป็นเหตุในการขออนุญาตเข้าประเทศ”

คำสั่งบริหารที่ ทรัมป์ ประกาศเมื่อวันที่ 6 มี.ค. ห้ามพลเมืองจากลิเบีย อิหร่าน โซมาเลีย ซูดาน ซีเรีย และเยเมนเดินทางเข้าสหรัฐฯ เป็นเวลา 90 วัน และงดรับผู้ลี้ภัยทั้งหมดเป็นเวลา 120 วัน จนกว่ารัฐบาลจะมีมาตรการคัดกรองที่เข้มงวดยิ่งขึ้น

สตีเฟน เลกอมสกี ที่ปรึกษาอาวุโสประจำสำนักงานบริการคนเข้าเมืองและสัญชาติ (US Citizenship and Immigration Services) ในรัฐบาลบารัค โอบามา ระบุว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งแบนมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ว่าความสัมพันธ์โดยสุจริตของพวกเขาถูกละเลย และแม้ว่าหลายๆ กรณีจะสามารถระบุได้ทันทีว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่ แต่ก็มีบางกรณีที่คลุมเครือจนอาจต้องพึ่งคำตัดสินของศาล เช่น การเดินทางมาเยี่ยมเพื่อนสนิท หรือมาร่วมงานแต่งงาน เป็นต้น

“ในทางทฤษฎี หากชาวต่างชาติประสงค์จะเดินทางมาท่องเที่ยว และได้จองโรงแรมเอาไว้ก็ถือว่าเป็นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ที่จะต้องรับเข้าประเทศ และโรงแรมก็ถือเป็นองค์กรประเภทหนึ่ง” กอร์สกีกล่าว

นักกฎหมายบางคนยังแสดงความเป็นห่วงว่า คำว่า “bona fide” นั้นมีความหมายคลุมเครือ และอาจถูกรัฐบาลตีความอย่างไร้ขอบเขต

“มันก็คือการเปิดไฟเขียวให้รัฐบาลทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ” คียานูช ราซากี ทนายผู้อพยพในรัฐแมริแลนด์ซึ่งให้ความช่วยเหลือลูกความชาวอิหร่านเป็นส่วนใหญ่ กล่าว

“ใครล่ะที่จะตอบได้ว่า ความสัมพันธ์โดยสุจริตหมายถึงอะไรแน่”

สตีเฟน วลาเดค อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทกซัส เตือนว่า หน้าที่พิจารณาคำอุทธรณ์ของชาวต่างชาติอาจไปตกหนักอยู่กับศาลชั้นต้นในรัฐแมริแลนด์และฮาวาย ซึ่งเคยใช้อำนาจยับยั้งคำสั่งของ ทรัมป์ มาแล้ว

“อาจจะมีการยื่นอุทธรณ์เป็นสิบๆ คดีระหว่างนี้จนถึงเดือน ก.ย.” วลาเดคกล่าว

เดวิด มาร์ติน อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิซึ่งผันตัวไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย เชื่อว่าคำตัดสินของศาลสูงสุด “มีความรัดกุม” และคำสั่งของ ทรัมป์ ก็ยังกำหนดข้อยกเว้นเป็นกรณีๆ ไปอยู่แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่คงจะนำไปบังคับใช้ได้ไม่ยาก

“ผมเชื่อว่าคงจะมีการฟ้องร้องเรื่องขอบเขตของความสัมพันธ์โดยสุจริต แต่มันจะไม่ยุ่งยากถึงขนาดที่ฝ่ายต่อต้านกลัวกัน”

กำลังโหลดความคิดเห็น