xs
xsm
sm
md
lg

InClip : สุดฮือฮา! “ปูติน” ยอมรับ “คุมปฎิบัติการลับ KGB” จารกรรมผิด กม.ทุกรูปแบบในต่างแดน - เคียฟเคืองเสี่ยหมีแอบดอดเข้าไครเมีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - สุดฮือฮาผู้นำรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ยอมรับกับสาธารณะเมื่อวันเสาร์ (24 มิ.ย.) ทางทีวีรัสเซีย ครบรอบ 95 ปีก่อตั้งสำนักข่าวกรองลับ KGB เคยคุมปฏิบัติการจารกรรมลับผิดกฎหมายในต่างแดน เลือกใช้คนทุกรูปแบบเพื่อให้สำเร็จ ท่ามกลางข่าวฉาวสายลับรัสเซียฝังตัวในสหรัฐฯ อันนา แชปแมน (Anna Chapman) ที่ถูกเนรเทศออกจากสหรัฐฯ ในปี 2010 ข้อหาจารกรรม เชื่อมีสัมพันธ์กับผู้นำมอสโก

RT สื่อรัสเซียรายงานเมื่อวานนี้ (25 มิ.ย.) ว่า ในการให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์รัสเซีย Russia-1 TV ในวันเสาร์ (24) เนื่องในโอกาสครบรอบ 95 ปี สำนักงานข่าวกรองของออดีตสหภาพโซเวียต KGB ซึ่ง วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียที่มีประวัติทำงานให้กับหน่วยงาน KGB โซเวียตตั้งแต่ปี 1975 และเคยถูกส่งทำงานเป็นเอเยนต์ KGB ในเมืองเดรสเดน (Dresden) เยอรมันตะวันออกเมื่อปี 1985-1990 ออกมายอมรับกับสาธารณะเป็นครั้งแรกว่าเขาใช้เอเยนต์ซึ่งมีที่มาทุกรูปแบบเพื่อทำงานให้ปฏิบัติการลุล่วงในต่างแดน

โดยสื่อรัสเซียรายงานว่า ปูตินกล่าวว่า บุคคลที่จะปฏิบัติในฐานะเอเจนต์พิเศษนั้นเป็นกลุ่มคนที่ต้องมีความเชี่ยวชาญพิเศษ และมีความคิดที่แตกต่างเป็นอย่างมากจากบุคคลทั่วไปตามปกติ ซึ่งผู้นำรัสเซียเชื่อว่า บุคคลเหล่านี้ได้เสียสละชีวิตทั้งหมดตัวเองเพื่อมาตุภูมิประเทศอดีตสหภาพโซเวียต และสมควรที่จะได้รับการยกย่อง

“ไม่ใช่ใครทุกคนสามารถเสียสละชีวิตของตัวเอง คนที่ตัวเองรัก ต้องห่างจากครอบครัวเป็นเวลานานหลายปี ไม่ใช่ใครทุกคนที่จะสามารถอุทิศชีวิตทั้งหมดของตัวเองเพื่อมาตุภูมิบ้านเกิด” ผู้นำรัสเซียกล่าวในวันเสาร์ (24 มิ.ย.)

สื่อสหรัฐฯ นิวยอร์กโพสต์ชี้ว่า ในการให้สัมภาษณ์นี้แสดงให้เห็นว่า เป็นครั้งแรกที่ “วลาดิมีร์ ปูติน” ออกมายอมรับกับคนทั่วโลกว่า เขาเคยทำงานควบคุมเครือข่าย “จารกรรมผิดกฎหมายในต่างแดน” ให้แก่หน่วยงานตำรวจลับรัสเซีย KGB ในสมัยอดีตสหภาพโซเวียต

แต่ทว่าในการให้สัมภาษณ์นั้น ปูตินไม่ได้กล่าวระบุถึงประเทศที่เขาเคยออกปฎิบัติการจารกรรมผิดกฎหมาย แต่เป็นที่รู้ว่า อ้างอิงจากสื่อ RT ปูตินเคยถูกส่งทำงานเป็นเอเยนต์ KGB ประจำเมืองเดรสเดน (Dresden) เยอรมันตะวันออกนาน 5 ปี อย่างไรก็ตาม การปฎิบัติงานของเขาในเดรสเดนนั้นไม่ได้ถูกยืนยันอย่างเป็นทางการ และตัวปูตินเองยังพูดถึงน้อยมากในเรื่องนี้

ในการออกมายอมรับของผู้นำรัสเซียในวันเสาร์ (24 มิ.ย.) สื่อสหรัฐฯ ชี้ต่อว่า ปูตินยืนยันว่า เขาใช้เอเยนต์นอกเครื่องแบบที่ไม่มีสถานะทางการทูตคุ้มกัน ซึ่งเอเยนต์เหล่านี้รู้จักในชื่อรหัส “illegal” หรือเอเยนต์เถื่อน และทางสื่อสหรัฐฯ ยังได้โยงต่อไปถึงข่าวฉาวการเนรเทศ อันนา แชปแมน (Anna Chapman) ออกจากสหรัฐฯ ในปี 2010 ข้อหาจารกรรม โดยมีข่าวฉาวลือว่า ปูตินนั้นมีความสัมพันธ์กับแชปแมน

การให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ของรัสเซีย ปูตินได้บรรยายไปถึงคุณสมบัติโดเด่นของเอเยนต์เถื่อนที่เขาเลือกใช้เพื่อให้ปฏิบัติการสำเร็จว่า “ผมรู้จักคนประเภทพวกนี้ดี พวกเขาและเธอเป็นกลุ่มคนพิเศษที่มีคุณสมบัติที่ไม่เหมือนคนอื่น มีประวัติทางอาชญากรที่ต่างออกไป และมีนิสัยที่แปลกและไม่เหมือนใคร”

นิวยอร์กโพสต์ชี้ว่า ถึงแม้ว่าผู้นำรัสเซียจะให้สัมภาษณ์ถึงสายลับ KGB และการจารกรรมผิดกฎหมายในอดีต แต่ทว่าในการให้สัมภาษณ์กลับไม่ยอมเอ่ยเลยไปถึงแชปแมน ซึ่งพบว่าในช่วงปี 2010 ที่เธอถูกเนรเทศออกนอกสหรัฐฯ นั้นมีข่าวลืออย่างหนาหูว่าเธอมีความสัมพันธ์กับปูติน

จากประวัติของแชปแมนพบว่า เธอนั้นแปลงสัญชาติเป็นชาวอังกฤษผ่านการแต่งงาน โดยเธอถูกสหรัฐฯ จับกุมในเมืองนิวยอร์ก ซิตี พร้อมด้วยชาวรัสเซียอีก 9 คนเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2010

โดยในขณะนั้นทางการสหรัฐฯ เชื่อว่าเธอเป็นสายลับภายนอกของหน่วยงาน FSB สหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งเป็นหน่วยงานความมั่นคงของรัสเซียที่ถูกก่อตั้งหลังจากที่หน่วยงาน KGB ถูกยุบ และประธานาธิบดีปูตินเคยนั่งทำหน้าที่เป็นผู้บริหารช่วงสั้นๆ ให้กับหน่วยงานนี้ในช่วงยุคปลาย 90

ทั้งนี้ ในวันเดียวกันกับที่มีการการออกอากาศให้สัมภาษณ์ของผู้นำรัสเซีย บังเอิญตรงกันกับการเดินทางของเขาเข้าแหลมไครเมีย ที่ถูกปูตินผนวกในปี 2014

สำนักข่าว ทาสส์ (TASS) ของรัสเซียรายงานวันเสาร์ (24 มิ.ย.) ถึงการประท้วงจากรัฐบาลยูเครนต่อการเดินทางไปเยือนไครเมียของปูติน ซึ่งในรายงานระบุว่ากระทรวงต่างประเทศยูเครนได้ยื่นหนังสือประท้วงไปยังกระทรวงต่างประเทศรัสเซียเพื่อประท้วงการเดินทางเยือนไครเมียครั้งนี้

“ในความเห็นของยูเครนต่อการเดินทางของเจ้าหน้าที่รัสเซียเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.เข้าไปยังไครเมีย สาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมียที่ถูกยึดครองชั่วคราว และเซวาสโตโปล (Sevastopol) ในเวลานี้ นั้นถือเป็นการละเมิดอธิปไตยและดินแดนของยูเครนอย่างร้ายแรง” รายงานจากแถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศยูเครนที่ถูกเผยแพร่ในวันเสาร์ (24)

ทั้งนี้ ทางเคียฟเห็นว่า การที่ทางผู้นำรัสเซียจะไปเยือนไครเมียได้นั้น สมควรต้องขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของยูเครนเสียก่อน

ในแถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศยูเครนยังระบุว่า “หนังสือประท้วงได้ส่งมอบให้กับกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย”

ทาสส์รายงานว่า ประธานาธิบดีปูตินพร้อมกับผู้ช่วยนายรัฐมนตรีรัสเซีย โอลกา โกโลเด็ตส์ (Olga Golodets) และผู้ช่วยของเขา อันเดร ฟูร์เซนโก (Andrei Fursenko) พร้อมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไครเมีย เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์เยาวชนนานาชาติอาร์ทเทค (Artek) ในช่วงเช้าวันเสาร์ (24)

ซึ่งในระหว่างการเยี่ยมชม ผู้นำรัสเซียเดินทางไปตรวจดูแคมป์ที่พักวันหยุดของเด็กๆ ชาวไครเมีย ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และอื่นๆ และในการเดินทางครั้งนี้ ปูตินยังได้พบกับเด็กๆ ชาวไครเมียซึ่งรอต้อนรับภายในศูนย์แห่งนี้เช่นกัน ซึ่งพบว่ามีเด็กบางส่วนมาจากสหรัฐฯ และดอนแบส (Donbass) และทางผู้นำรัสเซียยังได้ประกาศว่า ขอให้เด็กๆที่เข้าร่วมขอให้มีมิตรภาพที่แน่นแฟ้นและมีความรู้ใหม่

ทั้งนี้ สื่อทาสส์รัสเซียรายงานว่า การเดินทางเยือนของเจ้าหน้าที่รัสเซียยังไครเมียกลายเป็นเรื่องปกติ และเกิดขึ้นในโอกาสที่แตกต่างกันนั้บตั้งแต่ไครเมียถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียในปี 2014





กำลังโหลดความคิดเห็น