xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : “โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน” จากเจ้าชายหนุ่มผู้ทรงอำนาจสู่มกุฎราชกุมารซาอุฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย
นับเป็นความเคลื่อนไหวที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลกอาหรับ เมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบียทรงมีพระบรมราชโองการสถาปนาเจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน พระราชโอรสองค์ใหญ่ ขึ้นดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารแทนที่เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ ซึ่งเป็นพระราชภาติยะ (หลานลูกพี่ชาย) เมื่อวันพุธที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนตัวมกุฎราชกุมารครั้งที่ 2 ในรัชสมัยของพระองค์ และทำให้เจ้าชายหนุ่มผู้ทรงอิทธิพลในวัยเพียง 31 พรรษาก้าวสู่สถานะว่าที่กษัตริย์อย่างเป็นทางการ

สถานีโทรทัศน์อัลอราบิยา รายงานว่า การแต่งตั้งเจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เป็นมกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาสวามิภักดิ์ (Allegiance Council) แห่งราชอาณาจักรซาอุฯ และ สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน ก็ทรงเรียกร้องให้ข้าราชบริพารและประชาชนถวายความจงรักภักดีต่อพระราชโอรส

เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วย แต่ขณะเดียวกันก็ยังทรงรั้งเก้าอี้รัฐมนตรีกลาโหม รวมถึงตำแหน่งอื่นๆ อยู่ ส่วนเจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ วัย 57 พรรษา ทรงถูกปลดออกจากทุกๆ ตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นรองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

เรียด คาห์วาจี ผู้ก่อตั้งสถาบันวิเคราะห์ด้านการทหารในภูมิภาคตะวันออกใกล้และอ่าวอาหรับ (INEGMA) ชี้ว่า การสถาปนาเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน “เป็นเรื่องที่คาดหมายกันมานานมากแล้ว”

เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวโรกาสในการแต่งตั้งมกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่ รัฐบาลซาอุฯ ได้ประกาศเพิ่มวันหยุดยาวช่วงเทศกาลตรุษอีดิลฟิฏรีออกไปอีก 1 สัปดาห์ ซึ่งโดยปกติแล้วเจ้าหน้าที่รัฐจะได้มีวันหยุดพักผ่อน 10 วันหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน

สถานีโทรทัศน์ซาอุฯ ได้เผยแพร่ภาพนาทีประวัติศาสตร์ที่เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงจุมพิตพระหัตถ์และคุกพระชงฆ์ต่อหน้าอดีตมกุฎราชกุมารที่มีพระชันษาแก่กว่าถึง 26 ปี ขณะที่เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ ก็ทรงวางพระหัตถ์บนบ่าของเจ้าชายหนุ่มเพื่อแสดงความยินดี

“ฉันจะได้พักเสียที ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยเหลือท่าน” เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ ตรัสอวยพรแก่พระญาติผู้น้อง ซึ่งมกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่ก็ได้ตรัสตอบว่า “ขอพระเจ้าทรงช่วยเหลือท่านเช่นกัน ข้าพเจ้าจะไม่ทำสิ่งใดโดยไม่ขอคำปรึกษาจากท่าน”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การมีมกุฎราชกุมารที่ยังทรงหนุ่มแน่นในวัยเพียง 31 พรรษานั้นถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับชาวซาอุฯ ซึ่งคุ้นเคยกับการมีกษัตริย์ที่พระชนมายุมาก ดังเช่นสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานซึ่งมีพระชนมายุ 81 พรรษา และสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ซึ่งเสด็จสวรรคตเมื่อปี 2015 ขณะมีพระชนมายุได้ 90 พรรษา

ก่อนหน้านี้ สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานทรงเคยเปลี่ยนตัวมกุฎราชกุมารมาแล้วครั้งหนึ่ง คือ เจ้าชาย มุคริน บิน อับดุลอาซิซ พระอนุชาต่างมารดาของพระองค์ซึ่งสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ได้ทรงแต่งตั้งไว้ โดยทรงให้เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนในเดือน เม.ย. ปี 2015

อันเดรียส ครีก นักวิเคราะห์จากภาควิชากลาโหมศึกษา มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ลอนดอน ระบุว่า “เวลานี้เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ก็คือผู้ปกครองซาอุฯ ในทางปฏิบัติ... ความวุ่นวายในภูมิภาคทำให้สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานทรงจำเป็นที่จะต้องสร้างฐานอำนาจที่แข็งแกร่งให้แก่พระราชโอรส”

ก่อนที่พระราชบิดาจะเสด็จฯ ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ที่ 7 แห่งซาอุดีอาระเบียในเดือน ม.ค. ปี 2015 เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แทบจะไม่เป็นที่รู้จักภายนอกประเทศ ทว่าในช่วง 2 ปีเศษที่ผ่านมาได้ทรงพิสูจน์พระองค์เองแล้วว่า ทรงเป็นพลังสำคัญและมันสมองที่อยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์อย่างแท้จริง
เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงจุมพิตพระหัตถ์เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ มกุฎราชกุมารพระองค์ก่อน
แม้ในขณะที่ยังเป็นรองมกุฎราชกุมารอยู่นั้น เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน หรือที่หลายคนเรียกพระนามย่อว่า “MBS” ก็ทรงมีบทบาทสำคัญในกิจการหลายด้านของซาอุฯ โดยเฉพาะการทำสงครามต่อต้านกบฏนิกายชีอะห์ในเยเมน

พระองค์ทรงยืนยันว่าริยาด “ไม่มีทางเลือกอื่น” นอกจากเข้าแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือประธานาธิบดี อับดุรรับบูห์ มันซูร์ ฮาดี ผู้นำเยเมนที่นานาชาติให้การยอมรับ และกำจัดพวกกบฏฮูตีสมุนอิหร่านที่เป็นภัยคุกคามต่อการเดินเรือในทะเลแดง รวมถึงความมั่นคงของราชอาณาจักรซาอุฯ

ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงมีอำนาจควบคุมงบด้านการทหารของซาอุฯ ซึ่งสูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก นอกจากนี้ยังทรงดำรงตำแหน่งประธานสภาเพื่อกิจการเศรษฐกิจและการพัฒนา (CEDA) ซึ่งประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีที่มีการประชุมรายสัปดาห์เพื่อหารือนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การศึกษา ระบบสาธารณสุข และที่อยู่อาศัย เป็นต้น

เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ยังทรงเป็นประธานบอร์ดบริหารสูงสุดของอรัมโก (Aramco) บริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่มีมูลค่าตลาดอยู่ระหว่าง 2-2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นเจ้านายซาอุฯ พระองค์แรกที่เข้ามากำกับดูแลรัฐวิสาหกิจน้ำมันของประเทศ ซึ่งแต่เดิมจะถูกสงวนไว้สำหรับพวก “เทคโนแครต” เท่านั้น

เมื่อเดือน เม.ย. ปี 2016 เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงประกาศแผน “Vision 2030” ซึ่งมุ่งยุติ “การเสพติดน้ำมัน” และเปลี่ยนผ่านประเทศเข้าสู่การเป็นมหาอำนาจด้านการลงทุนของโลกภายในปี 2030 โดยภายใต้แผนฉบับนี้ ซาอุดีอาระเบียจะขายหุ้นเกือบ 5% ในอรัมโก, กระตุ้นรายได้ที่ไม่ได้มาจากการขายน้ำมันให้เพิ่มขึ้นอีก 6 เท่าจากระดับ 43,500 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบันเป็น 267,000 ล้านดอลลาร์, ส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมัน และสนับสนุนภาคเอกชนให้มีส่วนช่วยสร้างรายได้จาก 40% เพิ่มขึ้นเป็น 65% ของจีดีพี

เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ยังทรงมีบทบาทสำคัญในการชักชวนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรนให้ตัดสัมพันธ์การทูตกับกาตาร์เมื่อเดือนที่แล้ว โดยอ้างว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนลัทธิก่อการร้าย และฝักใฝ่อิหร่าน

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า การแต่งตั้งมกุฎราชกุมารพระองค์นี้เป็นสัญญาณเตือนว่าซาอุดีอาระเบียจะใช้นโยบายที่ดุดันแข็งกร้าวยิ่งขึ้นกับอิหร่านและคู่แข่งในอ่าวอาหรับอย่างกาตาร์ ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคย่ำแย่ลงไปอีก

“ภายใต้การกุมบังเหียนของเจ้าชายพระองค์นี้ ซาอุฯ เริ่มหันมาใช้นโยบายต่างประเทศที่ก้าวร้าวมากขึ้น (กับเยเมนและกาตาร์) และพระองค์ก็ไม่เกรงกลัวที่จะวิพากษ์วิจารณ์อิหร่าน” โอลิเวอร์ เจค็อบ ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทที่ปรึกษาน้ำมัน Petromatrix ในสวิตเซอร์แลนด์ ระบุ

“คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่า การเผชิญหน้ากับอิหร่านครั้งใหม่จะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่เป็นเมื่อไหร่ต่างหาก”
สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุฯ ทรงมีพระปฏิสันถารกับเจ้าชาย โมฮัมเหม็ด พระราชโอรส

กำลังโหลดความคิดเห็น