อาร์ทีนิวส์ - กองทัพรัสเซียเมื่อวันศุกร์(16มิ.ย.)ประสบความสำเร็จในการยิงทดสอบขีปนาวุธสกัดกั้นพิสัยใกล้ ที่ออกแบบมาเพื่อทำลายขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์กลางอากาศ
ระบบ A-135 ABM ถูกติดตั้งเพื่อปกป้องกรุงมอสโกและพื้นที่โดยรอบ จากความเป็นไปได้ที่จะถูกโจมตีทางนิวเคลียร์ โดยมันประกอบด้วยแผงเรดาร์แบบ Phased Array, ศูนย์สั่งการ และเครื่องยิงจรวดที่สามารปล่อยขีปนาวุธสกัดกั้นได้ 2 ชนิด ได้แก่ขีปนาวุธพิสัยไกล 51T6 และขีปนาวุธพิสัยใกล้ 53T6
ในวันศุกร์(16มิ.ย.) กองกำลังขีปนาวุธยุทธศาสตร์ของรัสเซียและกองกำลังป้องกันขีปนาวุธ ร่วมกันทดสอบขีปนาวุธ 53T6 ที่สนามเป้าซารี ซากัน ในคาซัคสถาน แต่แน่นอนว่าขีปนาวุธนี้ซึ่งได้รับฉายาจากนาโต้ว่ากาเซลเล ไม่ได้ติดหัวรบหัวเคลียร์ ต่างจากฐานยิง 68 ฐานที่ประจำการรอบๆมอสโก
"ระหว่างการทดสอบ ระบบสกัดกั้น ABM ประสบความสำเร็จตามภารกิจและพุ่งสู่เป้าหมายอย่างแม่นยำ" Andrey Prikhodko รองผู้บัญชาการป้องกันทางอากาศและขีปนาวุธกล่าว
กองทัพรัสเซียจดำเนินการทดสอบขีปนาวุธสกัดกั้น 1 หรือ 2 ครั้งต่อปี เพื่อตรวจสอบสถานะพร้อมรบ ทั้งนี้จรวดความยาว 10 เมตร สามารถบรรทุกหัวรบหัวเคลียร์ 10 กิโลตัน พุ่งไปในระยะไกลสุด 80 กิโลเมตร ด้วยความเร็วสูงสุด 3 กิโลเมตรต่อวินาที
ปัจจุบันรัสเซียกำลังพัฒนาขีปนาวุธสกัดกั้นรุ่นใหม่ ที่ตอนนี้กำลังเข้าสู่ระยะที่จำเป็นต้องยิงทดสอบอย่างขะมักเขม้น ซึ่งตั้งฉายาให้ว่า Nudol แต่ข้อมูลเกือบทั้งหมดของจรวดพิสัยไกลรุ่นนี้ถือเป็นความลับสุดยอด เจ้าหน้าที่กองทัพแดนหมีขาวระบุ