เอเอฟพี - รัฐบาลสหรัฐฯ ยื่นคำร้องต่อศาลสูงสุดวานนี้ (1 มิ.ย.) ให้อนุมัติการบังคับใช้คำสั่งแบนพลเมือง 6 ชาติมุสลิมของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากคำสั่งดังกล่าวถูกศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ใช้อำนาจยับยั้ง
ทางการสหรัฐฯ ได้ขอให้ศาลสูงสุดวินิจฉัยว่า ทรัมป์ มีอำนาจตามกฎหมายที่จะออกคำสั่งดังกล่าวหรือไม่ พร้อมทั้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 (Fourth Circuit Court of Appeals) ที่ยืนตามคำสั่งศาลชั้นรองให้ระงับคำสั่งของทรัมป์ไว้ก่อนทั่วประเทศ
“เราขอให้ศาลสูงสุดไต่สวนคดีสำคัญนี้ และมั่นใจว่าคำสั่งบริหารดังกล่าวอยู่ในขอบเขตอำนาจที่ประธานาธิบดีจะสามารถกระทำได้ตามกฎหมาย เพื่อความปลอดภัยของชาติ และเพื่อปกป้องชุมชนของเราจากลัทธิก่อการร้าย” ซาราห์ อิสเกอร์ ฟลอเรส โฆษกกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ระบุ
“ท่านประธานาธิบดีไม่จำเป็นต้องเปิดทางให้แก่พลเมืองของประเทศที่สนับสนุนหรือให้ที่พักพิงแก่กลุ่มก่อการร้าย จนกว่าท่านจะเห็นว่าเรามีมาตรการคัดกรองที่ดีพอ และจะไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ”
การยื่นอุทธรณ์ของรัฐบาลทรัมป์มีขึ้นเพียง 1 สัปดาห์ หลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำวินิจฉัยว่า “ไม่มีเหตุอันควรเชื่อ” ว่านโยบายสกัดกั้นพลเมืองอิหร่าน, ลิเบีย, โซมาเลีย, ซูดาน, ซีเรีย และเยเมน จะเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ “มากไปกว่าการที่ประธานาธิบดีต้องการทำตามสัญญาว่าจะแบนชาวมุสลิม”
ศาลยังระบุด้วยว่า ประเด็นความมั่นคงที่รัฐบาลใช้เป็นข้ออ้างนั้นฟังดูมีน้ำหนักน้อยกว่าเหตุผลของฝ่ายโจทก์ที่ว่ามาตรการเช่นนี้เข้าข่ายกีดกันและเลือกปฏิบัติ
“เรื่องนี้มีเดิมพันสูงมาก ศาลสรุปว่าประธานาธิบดีมีอคติต่อผู้ที่นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หลังจากที่ท่านสั่งห้ามพลเมืองจาก 6 ชาติที่มีความเสี่ยงก่อการร้ายขั้นรุนแรงเข้ามายังสหรัฐฯ ชั่วคราว” คำร้องของรัฐบาล ระบุ
“คำพิพากษาของศาลทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในอำนาจของประธานาธิบดีที่จะตอบสนองต่อภัยคุกคาม ทั้งที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายของสภาคองเกรสได้ให้อำนาจ และกำหนดภาระหน้าที่นั้นแก่ท่าน”
คำสั่งห้ามเดินทางฉบับแรกของ ทรัมป์ เมื่อเดือน ม.ค. กำหนดห้ามมิให้พลเมืองจาก 7 ประเทศมุสลิมเดินทางเข้าสหรัฐฯ เป็นเวลา 90 วัน และให้ระงับโครงการรับผู้ลี้ภัยอีก 120 วัน ซึ่งคำสั่งที่ว่านี้ได้ถูกศาลสหรัฐฯ ยับยั้งในเวลาไม่นานนัก
ต่อมาในเดือน มี.ค. รัฐบาลได้ออกคำสั่งฉบับแก้ไขที่มุ่งตอบสนองประเด็นต่างๆ ที่ผู้พิพากษาแสดงความกังวล เช่น ตัดอิรักออกจากรายชื่อประเทศที่ถูกแบน และเพิกถอนการแบนผู้ลี้ภัยซีเรียอย่างไม่มีกำหนด เป็นต้น แต่ก็ยังไม่วายถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งจากนักสิทธิมนุษยชนและรัฐต่างๆ ที่เป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครต