xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจอเมริกันเดินหน้าร่วมลดปัญหาโลกร้อน ไม่สน “ทรัมป์” จะอยู่หรือถอนตัวข้อตกลงปารีส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (ขวา) กำหนดแถลงข่าวในเวลา 02.00 น. วันศุกร์ (2 มิ.ย.) ว่าเขาจะนำสหรัฐฯถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส  หรือยังคงเข้าร่วมสนธิสัญญาสู้โลกร้อนฉบับนี้ต่อไป  ทั้งนี้อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา (ซ้าย) คือผู้ที่นำสหรัฐฯเข้าร่วมในข้อตกลงซึ่งถือเป็นหลักหมายสำคัญในด้านภูมิอากาศฉบับนี้ </i>
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะกำลังรีรอเตะถ่วงการตัดสินใจของเขาในเรื่องจะฉีกทิ้งข้อตกลงภูมิอากาศกรุงปารีส แต่สำหรับพวกบริษัทอเมริกันรายใหญ่ๆ แล้ว พวกเขาไม่ได้รอคอยสัญญาณจากรัฐบาลเลย และกำลังเริ่มแผนการลดไอเสียคาร์บอนของพวกเขาเองไปแล้ว รวมทั้งเร่งรีบรับมือการเปลี่ยนแปลงและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน

ทรัมป์ระบุในทวิตที่โพสต์เมื่อคืนวันพุธ (31 พ.ค.) ว่า เขาจะแถลงการตัดสินใจเรื่องนี้ของเขาที่ทำเนียบขาวในเวลาบ่าย 3 โมงวันพฤหัสบดี (1 มิ.ย.) (ตรงกับ 02.00 น.วันศุกร์ที่ 2 มิ.ย. เวลาเมืองไทย) โดยเป็นที่คาดหมายกันอยู่มากว่า อภิมหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ซึ่งแสดงตนเป็นพวกไม่เชื่อว่าเรากำลังเผชิญปัญหาโลกร้อนจริงๆ อาจจะทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในตอนรณรงค์หาเสียง นั่นคือ ถอนตัวออกจากสนธิสัญญากรุงปารีสปี 2015 ซึ่งรัฐบาลของนานาชาติรวมทั้งคณะบริหารของประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯเวลานั้น ให้คำมั่นที่จะดำเนินการตัดลดการปล่อยไอเสียคาร์บอน ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่งก่อนหน้าที่จะบังเกิดความเป็นไปได้ในเรื่องซึ่งทรัมป์อาจจะนำสหรัฐฯออกจากสนธิสัญญาที่ถือเป็นหลักหมายสำคัญฉบับนี้ โคคา-โคล่า บริษัทซอฟต์ดริงก์ที่ถูกถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของอเมริกา และ เจนเนอรัล อิเล็กทริก (จีอี) ธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่หันมาเน้นหนักกิจการด้านวิศวกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะลดรอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) ของพวกเขาลงมาให้ได้ 25% และ 20% ตามลำดับภายในปี 2020

ในเวลาเดียวกัน แอปเปิล ก็ประกาศว่ากำลังดำเนินกิจการส่วนที่อยู่ในสหรัฐฯโดยพึ่งพาอาศัยแต่เฉพาะพลังงานหมุนเวียน 100% เต็ม

“เราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นเรื่องจริง และวิทยาศาสตร์ก็ยอมรับเรื่องนี้อย่างหนักแน่นแล้ว” เจฟฟ์ อิมเมลต์ ซีอีโอของจีอี ออกมาแถลงเช่นนี้เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างชนิดเป็นตรงกันข้ามกับคณะบริหารทรัมป์ที่สมาชิกหลายคนเป็นคนสำคัญๆ ในหมู่พวกปฏิเสธไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน

ขณะที่ มอนซานโต้ ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจการเกษตร ยังบอกกับเอเอฟพีว่า บริษัท “มีความมุ่งมั่นผูกพัน” ในการช่วยเหลือ “เกษตรกรให้ปรับตัวและบรรเทาปัญหาจากภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ”
<i>ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2015  แสดงให้เห็นพวกนักเคลื่อนไหวของกลุ่มเอ็นจีโอจำนวนมากแปรอักษรข้อความเตือนภัยโลกร้อน ที่บริเวณใกล้ๆ หอไอเฟล ในกรุงปารีส ขณะที่กำลังมีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งสามารถตกลงทำข้อตกลงปารีสกันได้ </i>
แม้กระทั่งพวกบริษัทเฮฟวี่เวตภาคพลังงาน ซึ่งเป็นกิจการที่ดูเหมือนจะต้องสูญเสียมากที่สุดจากระเบียบกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้น ก็ยังกำลังเข้าร่วมในแนวโน้มเช่นนี้ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นจากข้อตกลงกรุงปารีส ที่ตั้งจุดมุ่งหมายจะประคับประคองอุณหภูมิของโลกให้ยังคงอยู่ในระดับ “ต่ำลงกว่า” 2 องศาเซลเซียสเหนือระดับอุณหภูมิของโลกยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ เชฟรอน บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ “สนับสนุนให้ใช้ข้อตกลงปารีสอย่างต่อเนื่องต่อไป ในฐานะที่ข้อตกลงนี้เสนอก้าวเดินก้าวแรกในการมุ่งไปสู่กรอบโครงระดับโลก” นี่เป็นคำแถลงของโฆษก เมลิสซา ริตชี

คู่แข่งอย่าง เอ็กซ์ซอนโมบิล เมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้ขอร้องทำเนียบขาวอย่าได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงสู้โลกร้อนฉบับนี้ เพื่อเป็นการตอบสนองอย่างมีประสิทธิผลต่อ “ความเสี่ยงต่างๆ” ในด้านภูมิอากาศ

ท่าทีที่กำลังเปลี่ยนไป

เพียงเมื่อไม่กี่ปีก่อน โลกธุรกิจสหรัฐฯยังพยายามใช้อำนาจอิทธิพลอันมหาศาลของตนเพื่อขัดขวางกีดกั้นการเจรจาหารือเรื่องภูมิอากาศกันอยู่เลย โดยที่โดดเด่นมากคือการนำไปสู่การพังครืนของการเจรจาซัมมิตภูมิอากาศปี 2009 ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

ทว่าเวลานี้บริษัทจำนวนมากกลับพบว่าภาพลักษณ์ของพวกเขากำลังกลายเป็นเดิมพันที่ต้องพยายามรักษาเอาไว้ในสหรัฐฯ เมื่อผลการสำรวจความคิดเห็นครั้งต่างๆ บ่งชี้ให้เห็นว่า สาธารณชนชาวอเมริกันกำลังวิตกกังวลเรื่องโลกร้อน และต้องการที่จะให้ประเทศอยู่ในข้อตกลงปารีสต่อไป

ขณะที่ความตระหนักซาบซึ้งเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นปัจจัยซึ่งกำลังแสดงบทบาท แต่การกลับใจของพวกบริษัทอเมริกันก็ใช่ว่าเป็นผลลัพ์ของแรงกระตุ้นต้องการทำความดีแต่ถ่ายเดียว

“บริษัทต่างๆ กำลังเพิ่มความมุ่งมั่นของพวกเขาที่จะผูกพันกับเรื่องภูมิอากาศ ไม่ว่าการตัดสินใจ (ของทรัมป์) จะออกมาในทางไหน เนื่องจาก (การผูกพันกับเรื่องภูมิอากาศ) มันเป็นสิ่งที่ช่วยประหยัดเงินทองของพวกเขา, ช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ ของพวกเขา, และที่สำคัญที่สุดก็คือ มันกำลังเป็นโอกาสทางการตลาดขนาดใหญ่โตมหึมา” เควิน มอสส์ แห่งสถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute) ชี้
<i>แผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาห้าง วอล-มาร์ท ซูเปอร์เซนเตอร์ ในบัลวิน พาร์ก รัฐแคลิฟอร์เนีย  เวลานี้สหรัฐฯกำลังหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนกันมากขึ้นเรื่อยๆ </i>
ผลกำไรขาดทุนนั่นเองคือปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงท่าทีของธุรกิจทั้งหลาย พวกนักลงทุนใหญ่ๆ กำลังถอนตัวออกมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และบริษัททั้งหลายก็กำลังเผชิญแรงกดดันมากขึ้นให้ต้องปรับเปลี่ยนโมเดลการเติบโตของพวกเขาให้เข้ากับโลกที่ปราศจากการปล่อยไอเสียคาร์บอน

“พวกลูกค้าของเรา, หุ้นส่วนของเรา, และประเทศทั้งหลาย ต่างกำลังเรียกร้องต้องการเทคโนโลยีที่ผลิตไฟฟ้า ขณะเดียวกับที่ลดการปล่อยไอเสีย, เพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน, และลดต้นทุนลง” อิมเมลต์ แห่งจีอีแจกแจง

ราคาน้ำมันนั้นอยู่ในภาวะตกลงติดพื้นอยู่ตลอดในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ โดยที่น้ำมันดิบชนิดที่เป็นมาตรวัดของตลาด ลอยอยู่ในระดับแถวๆ บาร์เรลละ 50 ดอลลาร์เท่านั้น ต่ำลงมากว่า 80 ดอลลาร์จากเมื่อราวสิบปีก่อน ผลก็คือ การเข้าลงทุนในภาคอุตสาหกรรมนี้ทำกำไรได้ลดต่ำลงมาก

สัญญาณหนึ่งของช่วงเวลาที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปก็คือ พวกผู้ถือหุ้นของเอ็กซ์ซอนโมบิลโหวตเมื่อวันพุธ (31 พ.ค.) บังคับให้บริษัทต้องนำเอาเรื่องนโยบายด้านภูมิอากาศเกี่ยวกับการปล่อยไอเสียอย่างเข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้นเข้ามาคิดคำนวณด้วย และเปิดเผยให้ทราบว่าเรื่องเช่นนี้จะส่งผลกระทบกระเทือนอย่างไรต่อรายรับของบริษัท

ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

เวลานี้ทรัมป์ยังคงให้คำมั่นว่าจะฟื้นฟูชุบชีวิตอุตสาหกรรมถ่านหิน ทว่าเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าก๊าซธรรมชาติต่างหากที่กำลังรุ่งเรือง โดยที่ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าถึง 50% และเวลานี้ราคาถูกกว่าถ่านหินมาก พวกผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จึงต่างกล่าวว่าเป็นเรื่องยากที่ทรัมป์จะทำอย่างคุยโวไว้ให้สำเร็จ โดยเฉพาะในระดับที่ใหญ่โต

กระนั้น เทคโนโลยี “แฟรกกิ้ง” (fracking) หรือการฉีดน้ำ, ทราย, สารเคมี ด้วยแรงอัดสูงเข้าไปที่ชั้นหินลึกใต้ดิน ซึ่งกำลังกลายเป็นวิธีการสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการสกัดก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯนั้น ก็กำลังเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างแรงว่าสร้างผลกระทบทางลบอันหนักหน่วงต่อสิ่งแวดล้อม

ในอีกด้านหนึ่ง ต้นทุนของพวกแหล่งพลังงานหมุนเวียน เป็นต้นว่า พลังลม และพลังแสงอาทิตย์ กลับลดต่ำลงมาอย่างฮาบฮาบ ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณการลงทุนและการอุดหนุนของภาครัฐซึ่งทำให้ภาคอุตสาหกรรมนี้มีเสน่ห์น่าสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมาก
<i>กังหันพลังงานลมในไร่ข้าวโพดและถั่วเหลือง ที่ทริมอนต์ รัฐมินนิโซตา </i>
เมลิสซา แมคเฮนรี โฆษกคนหนึ่งของ อเมริกัน อิเล็กทริก พาวเวอร์ บริษัทผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ในสหรัฐฯ แถลงว่า บริษัทของเธอได้กระจายการใช้พลังงานที่นำมาผลิตไฟฟ้าให้หลากหลาย ซึ่งรวมถึงพลังงานหมุนเวียนต่างๆ และกำลังลงทุน “ในการผลิตไฟฟ้าแบบหมุนเวียนตลอดจนนวัตกรรมอื่นๆ ที่เพิ่มประสิทธิภาพและลดไอเสีย”

ลินน์ กูด ประธานและซีอีโอของ ดุ๊ก เอเนอจี บริษัทโฮลดิ้งคอมปานีด้านไฟฟ้ารายใหญ่ บอกกับหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลว่า “เนื่องจากราคาที่สามารถแข่งขันได้ของก๊าซธรรมชติ และราคาที่กำลังลดลงของพลังงานหมุนเวียน การเดินหน้าลดการใช้คาร์บอนให้น้อยลงต่อไปจึงเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลสำหรับเรา”

อย่างไรก็ตาม เวลานี้ยังคงมีความระแวงสงสัยกันอยู่ในบางภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายของการใช้นโยบายที่เป็นคุณต่อภูมิอากาศ

ตัวอย่างเช่น สถาบันปิโตรเลียมอเมริกัน (American Petroleum Institute) องค์กรที่เป็นตัวแทนของธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 625 รายของสหรัฐฯ มีความกังวลว่า จะมี “การบังคับจากรัฐบาลซึ่งอาจเพิ่มต้นทุนด้านพลังงาน” อีริก โวห์ลชเลเกล โฆษกของสถาบัน แถลง

ทว่า มอสส์ แห่งสถาบันทรัพยากรโลก ชี้ว่า ถึงทรัมป์ตัดสินใจถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส ก็จะไม่อาจหยุดยั้งโมเมนตัมในขณะนี้ได้ แต่บริษัทต่างๆ จะยังคงเดินไปตามเส้นทางปัจจุบันของพวกเขา “ถึงแม้ไม่มีมัน (ข้อตกลงปารีส) เนื่องจากคนอื่นๆ ทุกคนต่างกำลังทำเช่นนี้กันทั้งนั้น”

“ประเทศที่เราจะเข้าร่วมเป็นพวกด้วย ถ้าหากเราถอนตัวออกมา ก็คือ ซีเรีย และนิการากัว เท่านั้น” เขากล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น