xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ คุยทำสำเร็จทดสอบระบบทำลายขีปนาวุธข้ามทวีปเหนือแปซิฟิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จรวดสกัดกั้นของระบบป้องกันขีปนาวุธภาคพื้นดิน จีเอ็มดี (Ground-based Midcourse Defense) ของสหรัฐฯ ถูกยิงขึ้นไปจากฐานทัพแวนเดนเบิร์ก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ระหว่างการทดสอบเมื่อวันอังคาร (30 พ.ค.) โดยที่กระทรวงกลาโหมอเมริกันยืนยันว่า การทดลองครั้งนี้ประสบความสำเร็จ เมื่อจรวดสกัดกั้นพุ่งเข้าทำลายเป้าหมายที่เป็นขีปนาวุธข้ามทวีปเสมือนจริง ตรงบริเวณเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก
เอเจนซีส์ - กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ประกาศความสำเร็จในการทดสอบใช้ระบบป้องกันขีปนาวุธภาคพื้นดิน ยิงสกัดขีปนาวุธข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) ได้เป็นผลสำเร็จเป็นครั้งแรก ขณะที่มีความกังวลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องที่เกาหลีเหนือสามารถก้าวคืบหน้าในโครงการขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ของตน

เพนตากอนแถลงยืนยันเมื่อวันอังคาร (30 พ.ค.) ว่า จรวดสกัดกั้นของระบบป้องกันขีปนาวุธได้ถูกปล่อยจากฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์ก ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียหลังเวลา 15.30 น.เล็กน้อย หลังจากนั้นไม่ถึง 1 ชั่วโมง จรวดดังกล่าวสามารถทำลายเป้าหมายที่เป็นขีปนาวุธข้ามทวีปเสมือนจริง ซึ่งถูกยิงจากสถานที่ทดสอบการป้องกันขีปนาวุธโรนัลด์ เรแกน ในแนวปะการัง ควาจาเลนอะโทลล์ ของหมู่เกาะมาร์แชล บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ที่อยู่ห่างออกไป 6,759 กิโลเมตร

พล.ร.ท.จิม ไซริง ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันขีปนาวุธสหรัฐฯ แถลงว่า การสกัดเป้าหมายไอซีบีเอ็ม ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามที่มีความสลับซับซ้อนมากครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จเหลือเชื่อสำหรับระบบป้องกันขีปนาวุธที่มีฐานอยู่ในภาคพื้นดินระบบนี้ของสหรัฐฯ และเป็นหลักชัยสำคัญสำหรับโครงการนี้ ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Ground-based Midcourse Defence (GMD)

ไซริงเสริมว่า ระบบจีเอ็มดีมีความสำคัญอย่างยิ่งในการปกป้องอเมริกา และการทดสอบนี้พิสูจน์ว่า อเมริกามีความสามารถซึ่งน่าเชื่อถือในการสกัดภัยคุกคามที่แท้จริง

ถึงแม้ จีเอ็มดี ได้รับการออกแบบมาโดยมีเป้าหมายในการรับมือภัยคุกคามจากขีปนาวุธของเกาหลีเหนือเป็นหลัก ทว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยืนยันว่า การทดสอบเมื่อวันอังคาร (30) วางแผนกันมานานหลายปี และเป็นการทดสอบครั้งที่ 18 โดยครั้งก่อนหน้านี้คือเดือนมิถุนายน 2014 นั้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีที่ประสบความสำเร็จ

นอกจากนั้น นับจากปี 1999 เพนตากอนเคยทดสอบระบบนี้กับเป้าหมายขีปนาวุธพิสัยใกล้ประเภทอื่นๆ 9 ครั้ง ส่วนการทดสอบกับไอซีบีเอ็มนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจนกระทั่งครั้งนี้

เวลานี้อเมริกาติดตั้ง จีเอ็มดี 32 ชุดที่ฟอร์ต กรีลีย์ ในมลรัฐอะแลสกา และอีก 4 ชุดที่แวนเดนเบิร์ก รัฐแคลิฟอร์เนีย

ในรายงานภาพรวมงบประมาณปีงบประมาณ 2018 สำนักงานป้องกันขีปนาวุธระบุว่า จะทำการติดตั้งจีเอ็มดีเพิ่มอีก 8 ชุดในอะแลสกาช่วงปลายปี 2017 จากเป้าหมายทั้งหมด 44 ชุดที่จะติดตั้งแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อยกระดับการป้องกันภัยคุกคามจากขีปนาวุธของเกาหลีเหนือและอาจรวมถึงอิหร่าน

อย่างไรก็ตาม ระบบสกัดกั้นขีปนาวุธจีเอ็มดีที่ติดตั้งในแคลิฟอร์เนียและอะแลสกาอาจไม่สามารถรับมือได้ หากมีการโจมตีเต็มรูปแบบจาก รัสเซียหรือจีน ซึ่งสามารถยิงขีปนาวุธพร้อมกันทีละหลายสิบลูก

สำหรับขีปนาวุธข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) ที่ใช้ในการโจมตีนั้น อเมริกามีการทำการทดสอบปีละ 2 ครั้ง ครั้งล่าสุดคือเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม โดยศูนย์บัญชาการการโจมตีระดับโลกของกองทัพอากาศได้ทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป “มินิตแมน 3” แบบไม่ติดหัวรบ ด้วยยานที่ใช้ทดสอบการกลับสู่ชั้นบรรยากาศเพียงครั้งเดียว ที่แวนเดนเบิร์ก และยานกลับสู่ชั้นบรรยากาศได้ลงจอดที่ควาจาเลนอะโทลล์

ศูนย์บัญชาการออกคำแถลงในตอนนั้นว่า การทดสอบยืนยันว่า ระบบไอซีบีเอ็ม มีความแม่นยำและไว้วางใจได้สูงมาก และให้ข้อมูลอันมีค่าที่รับประกันว่า อเมริกายังคงมีอำนาจป้องกันนิวเคลียร์ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

จีเอ็มดี ที่ทดสอบเมื่อวันอังคาร (30) ต่างจากระบบป้องกันขีปนาวุธ “ทาด” (Terminal High Altitude Area Defense) ที่ติดตั้งในเกาหลีใต้ ซึ่งออกแบบมาเพื่อสกัดขีปนาวุธของข้าศึกขณะที่มันอยู่ในบรรยากาศชั้นสูง นั่นคือกำลังขึ้นไปถึงหรือเพิ่งกลับลงมาจากอวกาศ โดยที่จีเอ็มดีมุ่งทำลายเป้าหมายขณะอยู่ในระดับต่ำกว่านั้น

สำหรับการทดสอบครั้งล่าสุดของเกาหลีเหนือเมื่อวันที่ 28 ที่ผ่านมานั้น ถูกประเมินว่า เป็นขีปนาวุธพิสัยใกล้ และเมื่อสองสัปดาห์ก่อน เปียงยางเพิ่งประสบความสำเร็จครั้งแรกในการทดสอบขีปนาวุธพิสัยกลาง KN-17

โทโมมิ อินาดะ รัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่นแถลงว่า KN-17 พุ่งขึ้นถึงระดับความสูง 2,000 กิโลเมตร ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า จรวดอาจไปได้ไกลกว่านี้หากปล่อยที่แนววิถีสูงสุด และอาจไปไกลถึงฐานทัพสหรัฐฯ ในกวม

เปียงยางทุ่มความพยายามตลอดทศวรรษที่ผ่านมาพัฒนาไอซีบีเอ็มที่ยิงได้ไกลถึงอเมริกา กระนั้นการทดสอบขีปนาวุธ 9 ครั้งในปีนี้ยังไม่มีลูกใดที่เป็นไอซีบีเอ็ม


กำลังโหลดความคิดเห็น