xs
xsm
sm
md
lg

“มาครง-ปูติน” กระทบไหล่ครั้งแรกที่ “แวร์ซายส์” เปิดอกถกปัญหา “ยูเครน-ซีเรีย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี เอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศส (ขวา) เปิดแถลงข่าวร่วมกับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ที่พระราชวังแวร์ซายส์ ใกล้กรุงปารีส เมื่อวันที่ 29 พ.ค.
เอเอฟพี - ประธานาธิบดี เอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศส เปิดพระราชวังแวร์ซายส์ต้อนรับการมาเยือนของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียเมื่อวานนี้ (29 พ.ค.) โดยระบุว่าการหารือมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน และทั้งสองฝ่ายก็ได้หยิบยกปัญหาซีเรียและยูเครนขึ้นมาพูดคุยอย่าง “ตรงไปตรงมา”

ผู้นำทั้งสองได้ร่วมกันเปิดนิทรรศการฉลองวาระครบรอบ 300 ปีการไปเยือนแวร์ซายส์ของจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย หรือพระเจ้าปีเตอร์มหาราช (Peter the Great) เมื่อปี 1717 ก่อนที่ ปูติน จะเดินทางต่อไปยังโบสถ์ออร์โธด็อกซ์แห่งหนึ่งที่เพิ่งสร้างขึ้นใจกลางกรุงปารีส

การพบกับ ปูติน ถือเป็นอีกหนึ่งบททดสอบทางการทูตสำหรับผู้นำคนใหม่ของฝรั่งเศสที่เพิ่งจะสร้างปรากฏการณ์ “จับมือเต็มแรง” ท้าทายประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ จนสื่อทั่วโลกเอาไปตีข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

สำหรับครั้งนี้แม้จะเป็นการจับมือทักทายที่อบอุ่นกว่า แต่ทั้ง 2 ฝ่ายก็ยังคงสงวนท่าทีอย่างเห็นได้ชัด หลังการหารือทวิภาคีนาน 1 ชั่วโมง

ปูติน ยอมรับว่า ตนมีความคิดเห็นแตกต่างจาก มาครง อยู่บ้างเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในซีเรียและยูเครน แต่ยืนยันว่าความสัมพันธ์ฝรั่งเศส-รัสเซียจะสามารถผ่านพ้น “จุดแตกร้าวทุกอย่าง” ไปได้

ด้าน มาครง ก็เอ่ยในทำนองเดียวกันว่า “ถึงแม้เราจะเห็นต่างกันในหลายเรื่อง แต่อย่างน้อยก็ได้มีการพูดคุยกัน”

“สิ่งที่เราให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ คือ การต่อสู้กับลัทธิก่อการร้าย และการกำจัดกลุ่มก่อการร้าย โดยเฉพาะพวกดาเอช” มาครง กล่าว โดยใช้ชื่อย่อภาษาอาหรับของกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่เคยอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุวินาศกรรมฝรั่งเศสมาแล้วหลายครั้ง

ผู้นำฝรั่งเศสระบุด้วยว่า ตนต้องการร่วมมือกับรัสเซียอย่างใกล้ชิดยิ่งกว่าเดิมเพื่อแก้ไขความขัดแย้งในซีเรียที่ยืดเยื้อมานานถึง 6 ปี และเป็นปัญหาที่บั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างโลกตะวันตกกับมอสโกที่ให้การหนุนหลังประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด

มาครง วัย 39 ปี เรียกร้องให้มี “การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ยังรักษาความเป็นรัฐในซีเรียไว้ได้” พร้อมเตือนว่า “รัฐที่ล้มเหลว” ในตะวันออกกลางจะยิ่งทำให้ผู้ก่อการร้ายเหิมเกริม และเป็นภัยร้ายแรงต่อโลกตะวันตก

เขายังกล่าวเตือน อัสซาด และรัสเซียเป็นนัยๆ ว่า ฝรั่งเศสถือว่าการใช้อาวุธเคมีในสงครามเป็นการ “ล้ำเส้น” ซึ่งจะเผชิญมาตรการตอบโต้ทันทีจากปารีส

ผู้นำทั้งสองยังได้หารือเกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตรที่ชาติตะวันตกลงโทษรัสเซียฐานแทรกแซงสงครามในยูเครน รวมไปถึงข้อครหาที่ว่ามอสโกใช้อิทธิพลแทรกแซงการเลือกตั้งผู้นำฝรั่งเศสครั้งล่าสุด




ผู้นำฝรั่งเศสและรัสเซียเดินชมนิทรรศการเกี่ยวกับการเสด็จเยือนพระราชวังแวร์ซายส์ของพระเจ้าปีเตอร์มหาราชแห่งรัสเซีย เมื่อปี 1717 ณ พระตำหนัก กรองด์ ตริอานง เมื่อวันที่ 29 พ.ค.
ด้าน ปูติน ก็ชี้แจงเรื่องที่ตนเคยเปิดทำเนียบเครมลินต้อนรับ มารีน เลอแปน ผู้สมัครสายขวาจัดที่เป็นคู่แข่งของ มาครง เมื่อเดือน มี.ค. โดยระบุว่า ตนไม่มีเหตุผลอะไรที่จะปฏิเสธคำขอเข้าพบของเธอ

ผู้นำแดนหมีขาวยังกล่าวปฏิเสธกลายๆ เรื่องที่ทีมหาเสียงของ มาครง ถูกแฮกเกอร์รัสเซียโจมตี

“บางทีอาจจะเป็นแฮกเกอร์รัสเซีย หรืออาจจะไม่ใช่ก็ได้” เขากล่าว

มาครง ยังวิจารณ์สื่อรัสเซีย 2 สำนักที่เคยถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปทำข่าวที่สำนักงานของเขาในช่วงเลือกตั้ง โดยระบุว่า สำนักข่าวอาร์ทีและสปุตนิก “เป็นองค์กรที่ใช้อิทธิพลเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่ออันเป็นเท็จ ไม่มากหรือน้อยไปกว่านั้น”

มาร์การิตา ไซมอนยัน บรรณาธิการของอาร์ที ออกมาตอบโต้ทันควันว่าสิ่งที่ มาครง พูดเป็นเพียงการกล่าวหาที่ “ไม่มีมูล” และ “ไม่มีหลักฐานรองรับแม้แต่อย่างเดียว”

มาครง ยังพาดพิงถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนในรัสเซีย โดยระบุว่า ปูติน ได้ให้สัญญากับตนว่าจะ “เผยความจริง” เกี่ยวกับการกวาดล้างชาวเกย์ในสาธารณรัฐเชเชน (เชชเนีย) ซึ่งตนก็จะ “เฝ้าจับตาดู” เรื่องนี้ต่อไป

มาครง ซึ่งเป็นผู้นำอายุน้อยที่สุดของฝรั่งเศสเริ่มฉายแววโดดเด่นบนเวทีโลกจากการแสดงท่าทีไม่อ่อนข้อให้ ทรัมป์ ในการประชุมซัมมิตนาโตที่บรัสเซลส์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และยังได้รับคำชมจากผู้นำชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 ในการประชุมที่อิตาลี

ทั้งนี้ ก่อนที่ ปูติน จะเดินทางไปถึงปารีส มาครง ได้ให้สัมภาษณ์สื่อรายสัปดาห์ของฝรั่งเศสว่า ตนจะไม่อ่อนข้อให้แก่รัสเซีย “แม้แต่เรื่องเดียว” ในประเด็นยูเครนตะวันออก ขณะที่เขาและผู้นำกลุ่ม G7 ก็มีแผนที่จะคว่ำบาตรกดดันมอสโกให้หนักขึ้น

รัฐบาลตะวันตกกล่าวหาว่ารัสเซียละเมิดกรอบความตกลงกรุงมินสก์ที่มุ่งยุติความรุนแรงระหว่างกองทัพยูเครนกับฝ่ายกบฏในภาคตะวันออกที่มีเครมลินคอยหนุนหลังอยู่

ปูติน ชี้ว่า มาตรการคว่ำบาตรได้บั่นทอนการค้าระหว่างรัสเซียและสหภาพยุโรป (อียู) อย่างรุนแรง และไม่ใช่วิธีที่จะนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืน

ปูติน เคยยกเลิกทริปเยือนปารีสอย่างกะทันหันเมื่อ 7 เดือนก่อน เนื่องจากไม่พอใจที่ประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ ออลลองด์ กล่าวหาว่ามอสโก “ก่ออาชญากรรมสงคราม” ด้วยการทิ้งระเบิดถล่มเมืองอะเลปโปในซีเรีย




กำลังโหลดความคิดเห็น