เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กล่าวในวันเสาร์ (27 พ.ค.) ว่า เขาจะตัดสินใจในสัปดาห์หน้าว่าสหรัฐฯยังจะยึดมั่นผูกพันอยู่กับข้อตกลงปารีสปี 2015 ว่าด้วยการตัดลดไอเสียคาร์บอนเพื่อขจัดต้นตอปัญหาโลกร้อนหรือไม่ ทั้งนี้หลังจากที่เขาสร้างความผิดหวังให้แก่เหล่าผู้นำกลุ่มจี 7 คนอื่นๆ ระหว่างการประชุมซัมมิตที่อิตาลี
“ผมจะตัดสินใจขั้นสุดท้ายเรื่องข้อตกลงปารีสอาทิตย์หน้า!” ทรัมป์ทวีตข้อความเช่นนี้หลังจากที่ก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน (27) เขามิได้ปรากฏตัวร่วมแถลงข่าวตามธรรมเนียมในช่วงปิดการประชุมของกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี7) ที่เมืองตาโอร์มินา บนเกาะซิซิลี ของอิตาลี
ขณะที่คำแถลงสุดท้ายของการประชุมก็มีข้อความสะท้อนถึงความชะงักงันตกลงกันไม่ได้ระหว่างสหรัฐฯ กับอีก 6 ชาติที่เหลือ ซึ่งทั้งหมดต่างแสดงความยึดมั่นผูกพันอย่างแข็งขันกับข้อตกลงปารีส ทั้งนี้ สมาชิกของจี 7 ประกอบด้วย สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, แคนาดา, เยอรมนี, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และอิตาลี
“สหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในกระบวนการทบทวนนโยบายต่างๆ ของตนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและว่าด้วยข้อตกลงปารีส ด้วยเหตุนี้จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเข้าร่วมในฉันทามติเกี่ยวกับหัวข้อเหล่านี้” คำแถลงระบุ
“ด้วยความเข้าใจในกระบวนการนี้ (ชาติผู้ร่วมประชุมรายอื่นๆ) ขอย้ำยืนยันความมุ่งมั่นผูกพันอย่างแข็งแกร่งของพวกเขา ที่มีต่อการนำเอาข้อตกลงปารีสมาปฏิบัติให้เป็นจริงโดยเร็ว ...
“ภายในบริบทนี้ พวกเราทั้งหมดเห็นพ้องกันถึงความสำคัญของการสนับสนุนบรรดาประเทศกำลังพัฒนา”
ท่าทีไม่ร่วมมือร่วมใจต่อสู้ปัญหาโลกร้อนของทรัมป์เช่นนี้ ทำให้นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ถึงขนาดออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา โดยเธอพูดถึงการเจรจาหารือกับทรัมป์ในประเด็นนี้ว่า เป็นไปด้วยความ “ยากลำบากมาก ยังไม่ต้องพูดหรอกว่า (การหารือ) ออกมาไม่น่าพอใจเป็นอย่างมาก”
“ในทีนี้พวกเราเกิดสถานการณ์แบบ 6 ต่อ 1 ซึ่งหมายความว่ายังไม่มีสัญญาณใดๆ เลยว่าสหรัฐฯจะยังคงอยู่กับข้อตกลงปารีสหรือไม่” เธอกล่าว
ขณะที่ประธานาธิบดีเอ็มมานูแอล มาครง ของฝรั่งเศส แสดงท่าทีมองโลกในแง่ดีมากกว่า โดยระบุว่าการเจรจาที่กระทำกันคราวนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ “ผมคิดว่ามีความก้าวหน้า และมีการพูดจาหารือกันและการแลกเปลี่ยนทัศนะกันจริงๆ” เขาบอกด้วยน้ำเสียงยังมีความหวังว่าทรัมป์จะตัดสินใจให้สหรัฐฯคงอยู่ในกรอบโครงของข้อตกลงปารีสต่อไป
ทางด้านผู้แทนรายอื่นๆ ต่างพูดตรงกันว่า บรรยากาศในการประชุมซัมมิต จี 7 หนนี้ เป็นเรื่อง “6 ต่อ 1” โดยแท้ โดยเฉพาะประเด็นข้อตกลงปารีส ซึ่งชาติต่างๆ รวมทั้งสหรัฐฯ ในยุคอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะดำเนินการลดการปล่อยไอเสียคาร์บอนลงในปริมาณและตามกรอบเวลาที่กำหนดด้วยความสมัครใจ
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์นั้นระหว่างการรณรงค์หาเสียงเป็นประธานาธิบดีอเมริกัน ได้เรียกเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศว่าเป็นเพียง “การโกหกหลอกลวง” ที่จีนสร้างขึ้นมา อีกทั้งแสดงความต้องการที่จะฟื้นฟูชุบชีวิตอุตสาหกรรมถ่านหินของสหรัฐฯขึ้นมาใหม่ ถึงแม้ถ่านหินกำลังถูกทั่วโลกมองว่าเป็นแหล่งพลังงานที่สกปรกและสร้างมลพิษรายสำคัญ
ขณะที่ทรัมป์ทวีตว่าเขาจะตัดสินใจเรื่องข้อตกลงปารีสนี้ในสัปดาห์หน้า ทว่าเว็บไซต์ข่าว “อาซิออส” (Axios)ในสหรัฐฯ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าว 3 รายที่ทราบเรื่องนี้โดยตรง กล่าวว่า ทรัมป์ได้บอกเป็นการภายในกับบุคคลหลายคน รวมทั้ง สกอตต์ พรูอิตต์ ผู้บริหารของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (อีพีเอ) ของสหรัฐฯว่า เขาได้ตัดสินใจแล้วที่จะนำสหรัฐฯถอนตัวออกจากข้อตกลงฉบับนี้ และขณะนี้ก็กำลังเริ่มเดินหน้าเรื่องนี้ไปแล้วอย่างเงียบๆ ข้างหลังฉาก
อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เจมส์ แมตทิส กล่าวในการให้สัมภาษณ์รายการทอล์กโชว์ของเครือข่ายโทรทัศน์ซีบีเอส ซึ่งมีกำหนดนำมาออกอากาศในวันอาทิตย์ (28) ว่า เวลานี้ทรัมป์มีท่าที “เปิดกว้าง” เกี่ยวกับประเด็นปัญหานี้
“ผมนั่งอยู่ในการอภิปรายหารือกันบางนัดในบรัสเซลส์ และเมื่อมีการหยิบยกเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศขึ้นมา ท่านประธานาธิบดีมีท่าทีเปิดกว้าง ท่านมีความสนใจใคร่รู้ว่าทำไมคนอื่นๆ จึงมีจุดยืนอย่างที่พวกเขามีอยู่ พวกคู่เจรจาหารือของท่านในประเทศอื่นๆ” เขากล่าว ทั้งนี้ ก่อนหน้าทรัมป์ไปร่วมประชุมซัมมิต จี7 ที่อิตาลี เขาได้ร่วมการประชุมซัมมิตของกลุ่มนาโต้ รวมทั้งพบปะกับเหล่าผู้นำของอียูที่กรุงบรัสเซลส์
“ผมมีความแน่ใจทีเดียวว่าท่านประธานาธิบดีมีท่าทีเปิดกว้างในประเด็นปัญหานี้ ขณะที่ท่านรับฟังฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านข้อตกลงฉบับนั้น”
ไม่เพียงแมตทิส ทางด้าน แกรี โคเฮน ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของทรัมป์ ได้ออกมาพูดในทำนองเดียวกันเมื่อวันศุกร์ (26) ว่า ทรัมป์บอกกับพวกผู้นำ จี7 คนอื่นๆ ว่า เขาถือเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ
“ทัศนะความคิดเห็นของท่านกำลังมีการวิวัฒนาการ ท่านมาที่นี่เพื่อเรียนรู้” โคเฮนกล่าว “พื้นฐานสำหรับการตัดสินใจของท่านนั้นเมื่อกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วก็คือ สิ่งที่จะเป็นผลดีที่สุดต่อสหรัฐฯ”