เอเอฟพี - อินเดียทำพิธีเปิดสะพานยาวที่สุดในประเทศใกล้พรมแดนจีนเมื่อวานนี้ (26 พ.ค.) ซึ่งถูกมองว่าเป็นการเสริมกำลังป้องกันในพื้นที่เปราะบาง
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ฉลองครบรอบ 3 ปีของการบริหารประเทศด้วยการเปิดสะพาน โธลา-ซาดิยา (Dhola-Sadiya bridge) ความยาว 9.1 กิโลเมตร ซึ่งทอดข้ามแม่น้ำพรหมบุตร และเชื่อมรัฐอัสสัมกับอรุณาจัลประเทศเข้าด้วยกัน
สื่ออินเดียได้ให้ข้อมูลเมื่อวันศุกร์ (26) ว่าสะพานแห่งนี้ถูกออกแบบให้สามารถรับน้ำหนัก “รถถังขนาด 60 ตัน” ได้อย่างสบายๆ
รัฐบาลโมดีให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน 7 รัฐห่างไกลทางตะวันออกเฉียงเหนือ (อัสสัม อรุณาจัลประเทศ นาคาแลนด์ มณีปุระ มิโซรัม ตริปุระ และเมฆาลัย) ซึ่งเชื่อมต่อกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของอินเดียด้วยแถบดินแดนบางๆ เหนือบังกลาเทศ
“สะพานแห่งนี้ไม่เพียงช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แต่ยังเป็นการปฏิวัติเศรษฐกิจเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนในอัสสัมและอรุณาจัลประเทศด้วย” ผู้นำอินเดียกล่าว พร้อมระบุว่าสะพานที่ทอดข้ามไปสู่เขตเทือกเขาในรัฐอรุณาจัลประเทศจะช่วยให้เกษตรกรสามารถขนส่งพืชผักเข้าไปขายที่ตลาดในรัฐอัสสัมได้อย่างสะดวก
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่าโครงการเมกะโปรเจ็กต์มูลค่า 318 ล้านดอลลาร์สหรัฐจะเพิ่มศักยภาพของกองทัพอินเดียในการป้องกันดินแดนแถบนี้
“สะพานแห่งนี้จะช่วยให้กองทัพสามารถส่งทหารเข้าไปยังพื้นที่ซึ่งเคยยากที่จะเข้าถึงได้ในยามวิกฤต” อาจิต สิงห์ นักวิจัยกลาโหมจากสถาบันเพื่อการจัดการความขัดแย้งในกรุงนิวเดลี (Institute for Conflict Management) ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
“นี่เป็นการก้าวไปในทิศทางที่เหมาะสมสำหรับอินเดีย เพื่อที่จะคานอำนาจจีน”
รัฐบาลอินเดียยังอยู่ระหว่างตัดทางหลวงความยาว 2,000 กิโลเมตรเพื่อเชื่อมฝั่งตะวันออกและตะวันตกของรัฐอรุณาจัลประเทศเข้าด้วยกัน โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณราว 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะขยายเส้นทางรถไฟในพื้นที่ดังกล่าวด้วย
รัฐบาลเดลีชุดก่อนๆ ปฏิเสธที่จะตัดถนนใกล้พรมแดน ด้วยเกรงจะถูกทหารจีนใช้เป็นเส้นทางรุกรานในยามเกิดสงคราม
อย่างไรก็ตาม โมดี ตัดสินใจผ่อนคลายกฎในการสร้างถนนและสาธารณูปโภคทางทหารใกล้เส้นพรมแดนยาว 4,056 กิโลเมตรในรัฐอรุณาจัลประเทศเมื่อปี 2014 ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าอินเดียกำลังปรับยุทธศาสตร์ใหม่
ความสัมพันธ์จีนและอินเดียยังคงเต็มไปด้วยความหวาดระแวงมาจนทุกวันนี้ หลังเคยเกิดสงครามสั้นๆ เมื่อปี 1962 เพื่อช่วงชิงดินแดนในรัฐอรุณาจัลประเทศ ซึ่งมีชนชาติทิเบตอาศัยอยู่มาก
ทั้งสองฝ่ายยังกล่าวหากันและกันว่ามีการรุกล้ำพรมแดนอยู่เสมอ