รอยเตอร์ - มหาเศรษฐีชาวรัสเซียซึ่งเคยสนิทสนมกับ พอล มานาฟอร์ต อดีตผู้บริหารแคมเปญหาเสียงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขอสิทธิ์คุ้มกันจากการถูกดำเนินคดี เพื่อแลกกับการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่รัสเซียแทรกแซงเลือกตั้งสหรัฐฯ เมี่อปี 2016 ทว่าสภาคองเกรส “ปฏิเสธ” เงื่อนไขดังกล่าว หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สรายงานเมื่อวานนี้ (26 พ.ค.)
ข้อเสนอจาก โอเล็ก เดริปาสกา (Oleg Deripaska) เจ้าของบริษัทผู้ผลิตอะลูมิเนียมรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก มีขึ้นในขณะที่สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) กำลังมุ่งตรวจสอบ มานาฟอร์ต และบรรดาผู้ช่วยคนสนิทของ ทรัมป์ ว่ามีการสมคบคิดกับมอสโกจริงหรือไม่
มานาฟอร์ต และ เดริปาสกา เคยทำธุรกิจร่วมกันในช่วงกลางทศวรรษ 2000 ซึ่งขณะนั้น มานาฟอร์ต ทำงานเป็นที่ปรึกษาให้แก่นักการเมืองยูเครนที่มอสโกหนุนหลัง ทว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่เสื่อมถอยลงเรื่อยๆ จนถึงขั้นมีคดีความกัน
ล่าสุด ผู้แทนของเดริปาสกาในสหรัฐฯ ยังไม่ตอบคำขอสัมภาษณ์ของนิวยอร์กไทม์ส
มานาฟอร์ตยืนยันว่า ตนไม่เคยร่วมมือกับรัสเซียทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม และได้ส่งมอบบันทึกเอกสารทั้งหมดตามที่คณะกรรมการวุฒิสภาข่าวกรองร้องขอมาแล้ว
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ 3 คนเผยกับนิวยอร์กไทม์สว่า เดริปาสกา ซึ่งมีความสนิทสนมกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เคยเสนอที่จะให้ข้อมูลแก่คณะกรรมการข่าวกรองของสภาคองเกรส โดยมีเงื่อนไขว่า เขาจะต้องได้รับสิทธิ์คุ้มกันจากการถูกดำเนินคดีอย่างสมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการข่าวกรองทั้ง 2 สภาได้ปฏิเสธเงื่อนไขนี้ เพราะเกรงว่าการให้สิทธิคุ้มกันแก่เดริปาสกาจะเพิ่มความยุ่งยากต่อกระบวนการสอบสวน
ทั้งนี้ สภาคองเกรสได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนความสัมพันธ์รัสเซีย-ทรัมป์ควบคู่ไปกับการทำงานของ โรเบิร์ต มุลเลอร์ อดีตผอ.เอฟบีไอ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมแต่งตั้งให้เป็น “ที่ปรึกษาพิเศษ” ตรวจสอบเรื่องนี้
ประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ สรุปเมื่อเดือน ม.ค.ว่า มอสโกพยายามแกว่งผลการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้วให้ไปเข้าทางทรัมป์ อย่างไรก็ตาม รัสเซียปฏิเสธความเกี่ยวข้อง ส่วน ทรัมป์ ก็ยืนยันว่าเขาได้รับชัยชนะอย่างยุติธรรม
การที่ เจมส์ โคมีย์ อดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอซึ่งทำหน้าที่สืบหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้ถูกสั่งปลดสายฟ้าแลบเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ยิ่งทำให้ ทรัมป์ ถูกโจมตีอย่างหนักว่ากำลังปกปิดเรื่องที่ทีมหาเสียงของเขาสมคบกับรัสเซีย