xs
xsm
sm
md
lg

InClip : สุดทึ่ง! องค์การความปลอดภัยอาหารอียู แสตมป์ตรารับรอง “ราวด์อัพ ยาฆ่าหญ้ามอนซานโต” ไม่เป็นมะเร็ง! หลังถูกสหรัฐฯ ชี้นิ้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/MGR ออนไลน์ - องค์การความปลอดภัยอาหารสหภาพยุโรป EFSA (European Food Safety Authority) ได้ออกมาปฏิเสธการศึกษาความเชื่อมโยง “สารไกลโฟเซต” ที่ถูกพบใน “ราวด์อัพ” ยาฆ่าหญ้าของบริษัทมอนซานโต ต่อการเกิดโรคมะเร็ง หลังพบมีคนจากหน่วยงานปกป้องป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ EPA เข้าแทรกแซง

หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ ออกรายงานพิเศษถึงการออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องระหว่างการเกิดโรคมะเร็ง และสารไกลโฟเซต (glyphosate) ที่อยู่ในสารปราบศัตรูพืชชื่อดัง “ราวด์อัพ” ของบริษัท มอนซานโต

ในรายงานที่เผยแพร่ในวันพุธ (24 พ.ค.) สื่ออังกฤษชี้ว่า เจสส์ โรว์แลนด์ (Jess Rowland) อดีตหัวหน้าคณะกรรมาธิการประเมินความเกี่ยวข้องด้านโรคมะเร็งประจำสำนักงานปกป้องป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ EPA ที่มีชื่อย่อของคณะกรรมาธิการชุดนี้ว่า CARC ที่ปรากฏชื่ออยู่ในคดีทางกฎหมายไม่ต่ำกว่า 20 คดี ได้เคยกล่าวกับบริษัทมอนซานโตก่อนหน้านี้ว่า “เขาจะพยายามไม่ให้รัฐบาลสหรัฐฯ สืบสวนในปัญหานี้” อ้างอิงจากเอกสารของศาล

สื่ออังกฤษชี้ว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สารเคมีส่วนประกอบที่สำคัญในผลิตภัณฑ์ราวด์อัพของมอนซานโตคือ ไกลโฟเซต นั้นได้รับใบอนุญาตคณะกรรมาธิการยุโรปให้ต่ออายุออกไปอีก 10 ปี

ทั้งนี้ จากเอกสารลับที่การ์เดียนได้เห็นระบุว่า โรว์แลนด์เข้าประชุมทางไกลร่วมกับองค์การความปลอดภัยอาหารสหภาพยุโรป EFSA (European Food Safety Authority) ในฐานะผู้สังเกตการณ์เมื่อเดือนกันยายน 2015

และในอีก 6 สัปดาห์หลังจากนั้นพบว่า ทางหน่วยงานอาหารสหภาพยุโรป ได้ใช้ข้ออ้างของโรว์แลนด์ที่ได้อ้างปัดถึงกรณีศึกษาเมื่อปี 2001 ในความเชื่อมโยงระหว่างสารไกลโฟเซตและการเกิดเนื้องอกในหนูทดลอง

การเข้ามาแทรกแซงของประธานคณะกรรมาธิการ CARC ได้ปรากฏอยู่ในจดหมายที่ถูกส่งออกมาจากหัวหน้าหน่วยปราบศัตรูพืชประจำ EFSA จาก โฮเซ ทาราโซนา (Jose Tarazona) ถึง ปีเตอร์ คลอซซิง (Peter Clausing) นักพิษวิทยาเชิงอุตสาหกรรม ที่ภายหลังกลายเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เดอะการ์เดียนชี้

ในเนื้อหาของจดหมาย ทางทาราโซนาระบุว่า “ผู้สังเกตการณ์จาก EPA-สหรัฐฯ (โรว์แลนด์) ได้ชี้แจงต่อผู้เข้าร่วมทุกคนในการประชุมทางไกล เทเลคอนเฟอเรนซ์ ถึงจุดอ่อนที่ร้ายแรงในการศึกษาปี 2001 ของกุมาร์ (Kumar) ถึงความเป็นไปได้ที่หนูทดลองของกุมาร์จะล้มป่วยจากการติดเชื้อจากไวรัสที่อาจส่งผลทำให้ล้มป่วยเป็นโรคมะเร็ง"

ซึ่งเป็นที่รู้ดีว่าในส่วนของมนุษย์พบว่าไวรัสที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง (Oncogenic virus infection) ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี เป็นต้น และพบว่า ทาง EFSA ได้อ้างการศึกษาชิ้นนี้ (กุมาร์, 2001) ว่า ต้องถูกตรวจสอบใหม่อีกครั้งในการประชุมคอนเฟอเรนซ์ระดับผู้เชี่ยวชาญครั้งที่ 2 เนื่องมาจากปัญหาการติดเชื้อจากไวรัส

แต่หน่วยงานเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ออกมาประกาศว่า ความเกี่ยวพันระหว่างองค์การความปลอดภัยอาหารสหภาพยุโรป EFSA และอดีตเจ้าหน้าที่ EPA เจสส์ โรว์แลนด์ นั้นสาธารณะต้องตรวจสอบ

โดยฟรานซิสกา อัชเตอร์เบิร์ก (Franziska Achterberg) โฆษกของกรีนพีซแถลงว่า “ในการเข้าแทรกแซงใดๆของบริษัทมอนซานโตในการกำกับมาตรฐานความปลอดภัยจะถือว่าไม่สามารถรับได้โดยสิ้นเชิง” และในแถลงการณ์ยังประกาศต่อว่า “ทางเราขอให้มีการสอบสวนการประเมินของ EFSA อย่างเร่งด่วน ก่อนที่สารเคมีไกลโฟเซต จะถูกได้รับอนุญาตต่ออายุได้อีกครั้งในยุโรป”

โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาชิกสภายุโรปสายโซเชียลลิสต์ออกมาชี้ว่า พวกเขาจะออกมาเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ จนกว่าปัญหาในเรื่องการต่ออายุจะได้รับความกระจ่าง

ในจดหมายที่ตอบกลับไปยังทาราโซนาที่เขียนโดยคลอซซิง เดอะการ์เดียนได้เห็น ระบุว่า บทบาทของโรว์แลนด์ที่มีต่อการประเมินสารไกลโฟเซตที่มีผลต่อการเกิดโรคมะเร็ง “ยังถูกพบในเอกสารภายในของบริษัทมอนซานโต” ซึ่งทำให้ คลอซซิง ผู้เขียนแสดงความกังวลอย่างมาก โดยชี้ว่า เกรงว่าชายผู้นี้อาจมีผลต่อการประเมินด้วยการป้อนข้อมูลที่ผิดพลาด ที่ทางหน่วยงาน EFSA หรือผู้เชี่ยวชาญในสังกัดยังไม่ได้ยืนยัน

อย่างไรก็ตาม โฆษกของมอนซานโตออกมาโต้ว่า อีเมลแค่ฉบับเดียวที่ออกมาไม่สามารถลบล้างความจริงที่ว่า สารไกลโฟเซตนั้นได้รับรองจากหน่วยงานกำกับทั่วโลก ที่รวมไปถึง สำนักงานควบคุมสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ EPA และหน่วยงานภายใต้องค์การอนามัยโลก WHO ที่ได้ทำการศึกษาสารตกค้างของสารปราบศัตรูพืช และได้สรุปว่า “สารไกลโฟเซตนั้นไม่น่าส่งผลต่อความเสี่ยงด้านโรคมะเร็งต่อมนุษย์”

ขณะที่สื่ออังกฤษชี้ว่า WHO ออกมายืนยันในเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมาว่า สารไกลโฟเซตจะไม่มีผลทำให้เกิดโรคมะเร็งผ่านทางอาหาร

ทั้งนี้ ทาราโซนาปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับโรว์แลนดส์ และหน่วยงาน EFSA แต่เขาได้ชี้ถึงข้อบกพร่องในการศึกษาของกุมาร์ว่า

ในการศึกษาชิ้นนี้ผู้วิจัยได้เลือกที่จะใช้หนูทดลองสวิส อัลบิโน (Swiss Albino) โดยกล่าวว่า “ปัญหาในการศึกษาชิ้นนี้ เหมือนกับปัญหาใหญ่ในการศึกษาทั่วไปในการเลือกใช้สายพันธุ์ของหนูทดลอง” และกล่าวต่อว่า “ปัญหาอีกประการคือ การศึกษาเลือกที่จะสังเกตในช่วงที่ได้รับโดสสูงเท่านั้น”

สอดคล้องไปกับผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาอีกคน ที่ได้ให้คำแนะนำในการประเมินของ WHO ศาสตราจารย์ อีวาน รูซิน (Prof Ivan Rusyn) ออกมาให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “จำนวนการทดสอบนั้นเล็กเกินไป และข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในการวิจัยนี้ส่วนใหญ่ได้จากการทดสอบในระยะโดสสูง”

โดย คลอซซิง นักพิษวิทยาที่มีชื่อในจดหมายจากหน่วยปราบศัตรูพืชประจำ EFSA ได้ชี้ว่า “ในการศึกษาของกุมาร์ แทบไม่มีการแสดงความแตกต่างของการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ระหว่างกลุ่มทดสอบควบคุม และกลุ่มเปรียบเทียบอื่น”



กำลังโหลดความคิดเห็น