เอเจนซีส์ – ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เผลอหลุดปากพูดในสิ่งที่ดูคล้ายจะเป็นการยืนยันว่าอิสราเอลคือแหล่งข่าวกรองที่ตัวเองเอาไปแชร์กับรัสเซีย อีกด้านหนึ่งสำนักข่าวเอพีก็รายงานว่า "ไมเคิล ฟลินน์" อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทรัมป์ อาจอ้างสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญเลี่ยงการส่งมอบเอกสารการติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัสเซียที่คณะกรรมาธิการวุฒิสภาขอดู
เมื่อช่วงต้นเดือนนี้ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้แบ่งปันข้อมูลข่าวกรองเกี่ยวกับภัยคุกคามของกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) เรื่องการใช้คอมพิวเตอร์แล็ปท็อปบนเครื่องบินกับ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียและ เซอร์เก คิสลียาค เอกอัครราชทูตรัสเซีย ซึ่งเข้าพบที่ทำเนียบขาว โดยรายงานข่าวที่ตามออกมาบ่งชี้ว่า แหล่งที่มาของข่าวกรองที่ทรัมป์นำไปแบ่งปันคืออิสราเอล
ต่อมาเมื่อวันจันทร์ (22 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กได้ถามนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ซึ่งกำลังต้อนรับขับสู้ทรัมป์ที่เดินทางไปเยือน เกี่ยวกับความร่วมมือด้านข่าวกรองกับสหรัฐฯ โดยทางผู้นำชาวยิวตอบว่า ความร่วมมือด้านข่าวกรองของสองประเทศไม่เคยดีเท่านี้มาก่อน
อย่างไรก็ตาม ทั้งที่อีกฝ่ายเก็บอาการได้ดี แต่ทรัมป์เองกลับเป็นฝ่ายลนลานตอบว่า “ผมไม่เคยเอ่ยชื่อหรือคำว่าอิสราเอล ไม่เคยเอ่ยถึงระหว่างการหารือดังกล่าว แต่พวกเขากลับบอกว่าผมทำ คุณผิดอีกแล้ว ผมไม่เคยเอ่ยคำว่าอิสราเอล”
การที่ทรัมป์ร้อนรนปกป้องการกระทำของตัวเอง ประกอบกับความล้มเหลวในการปฏิเสธเรื่องการแบ่งปันข่าวกรองหรือเรื่องที่ว่า อิสราเอลเป็นที่มาของข่าวกรองจริง ดูเหมือนกลายเป็นการยืนยันว่า ประเด็นหลังสุดเป็นความจริง และตัวเขาเองที่ทึกทักว่า สื่อกล่าวหาเขาว่าเอ่ยชื่ออิสราเอล
ทั้งนี้ การขาดดุลพินิจของทรัมป์ระหว่างพบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซียในห้องทำงานรูปไข่ทำให้เกิดความกังวลว่า เขากำลังทำให้แหล่งข่าวตกอยู่ในความเสี่ยง รวมทั้งอิสราเอลและพันธมิตรอื่นๆ อาจลังเลที่จะแบ่งปันข้อมูลกับอเมริกาในอนาคต แม้ทำเนียบขาวยืนยันว่า ทรัมป์ไม่ได้พูดอะไรที่ไม่เหมาะสมเลยก็ตาม
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเอพีรายงานเมื่อวันจันทร์ว่า ไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทรัมป์ จะอ้างสิทธิ์ในการงดให้ถ้อยคำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองตามรัฐธรรมนูญบทแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 5 เพื่อปฏิเสธหมายเรียกของคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภาที่ระบุให้เขาส่งมอบเอกสารทั้งหมดเกี่ยวกับการติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัสเซียภายในวันพุธ (24 พ.ค.)
ฟลินน์เป็นตัวละครสำคัญในการสอบสวนหาความเชื่อมโยงระหว่างทีมหาเสียงของทรัมป์กับการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปลายปีที่แล้วของรัสเซีย ก่อนหน้านี้ เขาได้รับข้อเสนอในการไปให้การต่อคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร แลกเปลี่ยนกับความคุ้มกันทางกฎหมาย แต่ฟลินน์ไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธข้อเสนอเหล่านั้น
อดีตพลโทจากกองทัพบกผู้นี้ถูกปลดจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยทรัมป์ให้เหตุผลว่า เนื่องจากฟลินน์กล่าวเท็จจนทำให้เจ้าหน้าที่อาวุโสในคณะบริหาร ซึ่งรวมถึงรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ พากันเข้าใจผิด เกี่ยวกับเรื่องที่เขาติดต่อเจ้าหน้าที่รัสเซีย
หากข่าวนี้เป็นจริงจะถือเป็นครั้งที่สอง ที่ฟลินน์ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการวุฒิสภา โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ต้องการเรียกดูเอกสารเหมือนกับที่เคยร้องขอกับผู้ใกล้ชิดทรัมป์คนอื่นๆ ซึ่งรวมถึงพอล มานาฟอร์ต อดีตประธานการหาเสียง, โรเจอร์ สโตน สมาชิกทีมหาเสียง และคาร์เตอร์ เพจ อดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศ