รอยเตอร์ - ไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ จะขัดขืนหมายเรียกของคณะกรรมาธิการข่าวกรองวุฒิสภา ที่กำลังสืบสวนคำกล่าวหารัสเซียแทรกแซงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา 2016 ตามรายงานของสื่อมวลชนในวันจันทร์ (22 พ.ค.)
สำนักข่าวเอพี, วอลล์สตรีท เจอร์นัล และฟ็อกซ์นิวส์ อ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดกับฟลินน์ ระบุว่า อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ รายนี้จะใช้สิทธิคุ้มครองตามบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 5 (Fifth Amendment) ซึ่งให้สิทธิคุ้มครองจากการถูกบังคับเข้าให้การที่เป็นการปรักปรำตนเอง สำหรับขัดขืนหมายเรียกของคณะกรรมาธิการข่าวกรองวุฒิสภา
รายงานข่าวระบุว่า อดีตนายพลปลดเกษียณรายนี้ซึ่งเป็นพยานคนสำคัญของการสืบสวนประเด็นรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้ง มีแผนแจ้งต่อคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับการตัดสินใจของเขาในวันจันทร์ (22 พ.ค.)
คณะกรรมาธิการข่าวกรองวุฒิสภาเป็นหนึ่งในคณะสืบสวนหลักของสภาคองเกรส ที่กำลังพิสูจน์คำกล่าวหารัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือไม่ และมีการสมคบคิดกันระหว่างทีมหาเสียงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กับรัสเซียหรือเปล่า
ทางคณะกรรมาธิการร้องขอเอกสารต่างๆ จาก ฟลินน์ ครั้งแรกในหนังสือลงวันที่ 28 เมษายน แต่เขาไม่ยอมให้ความร่วมมือกับคณะสืบสวน
ประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ สรุปในเดือนมกราคม ว่ามอสโกพยายามแกว่งผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน ให้ไปเข้าทางทรัมป์ อย่างไรก็ตาม รัสเซียปฏิเสธความเกี่ยวข้อง ส่วนทรัมป์ยืนยันว่าเขาได้รับชัยชนะอย่างยุติธรรม
ฟลินน์ ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งที่เพิ่งทำงานได้ไม่ถึงเดือน หลังถูกเปิดโปงว่าแอบไปเจรจาอย่างลับๆ กับ เซียร์เก คิลส์ยัก เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เรื่องมาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐฯ กำหนดต่อมอสโก
รายงานของรอยเตอร์ที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (18 พ.ค.) ว่า ฟลินน์และที่ปรึกษาคนอื่นๆของทีมหาเสียงของทรัมป์ ติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัสเซียและคนอื่นๆ ในเรื่องความสัมพันธ์กับเครมลิน ผ่านการโทรศัพท์และอีเมล์อย่างน้อยๆ 18 ครั้ง ในช่วง 7 เดือนสุดท้ายของศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ขณะเดียว ฟลินน์ ยอมรับว่าเขาได้รับว่าจ้างให้เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลตุรกีระหว่างการหาเสียงด้วย