xs
xsm
sm
md
lg

เปิดหีบเลือกตั้ง ปธน.อิหร่าน ลุ้น “รอฮานี” ชิงดำ “ไรซี” ผู้สมัครสายฮาร์ดไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี ฮัสซัน รอฮานี (ซ้าย)  และ เอบราฮิม ไรซี สองผู้สมัครตัวเต็งในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่าน
เอเอฟพี - ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านเปิดฉากแล้วในวันนี้ (19 พ.ค.) โดยเป็นการแข่งขันระหว่างประธานาธิบดีฮัสซัน รอฮานี ผู้นำสายกลางที่มีนโยบายเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ กับผู้สมัครสายฮาร์ดไลน์ เอบราฮิม ไรซี ซึ่งประกาศจุดยืนต่อสู้เพื่อคนจนและแข็งกร้าวต่อโลกตะวันตก

อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน หย่อนบัตรเลือกตั้งหลังได้เวลาเปิดหีบ 08.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (10.30 น.ตามเวลาในไทย) โดยระบุว่า “อนาคตของประเทศอยู่ในมือชาวอิหร่านทุกคน”

รายงานระบุว่า หน่วยเลือกตั้งต่างๆ ทั่วประเทศมีผู้คนไปต่อคิวรอใช้สิทธิกันอย่างเนืองแน่น

รอฮานี ซึ่งเป็นครูสอนศาสนาสายกลางวัย 68 ปี ชี้ว่า ศึกเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเลือกระหว่าง “เสรีภาพพลเมือง” กับ “ลัทธิสุดโต่ง”

ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีผู้นี้ได้ออกมาวิจารณ์การจับกุมแกนนำและนักเคลื่อนไหวสายปฏิรูปหลายต่อหลายคน พร้อมทั้งเตือนหน่วยงานความมั่นคงว่าอย่าพยายามแทรกแซงการเลือกตั้ง

ไรซี ยืนยันว่า ตนพร้อมที่จะรักษาพันธกรณีต่อข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์เมื่อปี 2015 ซึ่งอิหร่านยอมจำกัดโครงการปรมาณูเพื่อแลกกับการผ่อนคลายคว่ำบาตรจากนานาชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ชี้ว่า การที่เศรษฐกิจอิหร่านทุกวันนี้ยังคงซบเซาย่อมเป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างดีว่า ความพยายามทางการทูตของ รอฮานี นั้น "ไม่ได้ผลจริง"

“แทนที่จะใช้ดึงคนหนุ่มสาวของเราเข้ามาช่วยแก้ปัญหา พวกเขากลับเลือกที่จะวางเศรษฐกิจไว้ในมือต่างชาติ” ไรซี กล่าวขณะเดินสายหาเสียงรอบสุดท้ายที่เมืองมัชฮาด (Mashhad) เมื่อวันพุธ (17)

รอฮานี ออกมาตอบโต้โดยเรียกร้องให้ประชาชนปฏิเสธนักการเมืองสายฮาร์ดไลน์ ซึ่งอาจทำอิหร่านต้องสูญเสียอำนาจต่อรองทางการทูตไป

“การตัดสินใจที่ผิดพลาดของประธานาธิบดีอาจหมายถึงสงคราม และหากตัดสินใจถูกต้องก็หมายถึงสันติภาพ” เขากล่าว

ศึกเลือกตั้งผู้นำอิหร่านมีขึ้นในห้วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างเตหะรานและวอชิงตันกำลังตึงเครียด

สหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันพุธ (17) ว่าจะยังคงงดเว้นคว่ำบาตรอิหร่านในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนิวเคลียร์ ซึ่งทำให้รัฐบาล รอฮานี ใจชื้นขึ้นบ้าง

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ได้สั่งให้ทำเนียบขาวใช้เวลา 90 วันในการทบทวนข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านว่าสมควร “โละทิ้ง” หรือไม่ อีกทั้งยังเตรียมไปเยือนซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับเตหะรานในช่วงสุดสัปดาห์นี้ด้วย
อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน หย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่หน่วยเลือกตั้งในกรุงเตหะราน วันนี้ (19 พ.ค.)
เงื่อนไขของแผนปฏิบัติการร่วมฉบับสมบูรณ์ (Joint Comprehensive Plan of Action - JCPOA) กำหนดให้อิหร่านลดจำนวนเครื่องหมุนเหวี่ยงวัสดุนิวเคลียร์ (centrifuges) ให้เหลือเพียง 1 ใน 3, จำกัดการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมให้ต่ำกว่าระดับที่จำเป็นสำหรับการผลิตระเบิด, ลดปริมาณยูเรเนียมสมรรถนะสูงในคลังจาก 10,000 กิโลกรัม ให้เหลือแค่ 300 กิโลกรัมภายใน 15 ปี และต้องยินยอมให้ผู้แทนจากนานาชาติเข้าไปตรวจสอบได้

ซาห์รา นักศึกษาปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์การอาหาร วัย 32 ปี ระบุว่า “สำหรับฉัน การที่ประธานาธิบดีรอฮานีเปิดเจรจากับต่างชาติและสร้างความเป็นกลางในสังคม ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก”

เธอบอกด้วยว่า สมัยที่อิหร่านถูกปกครองโดยรัฐบาลฮาร์ดไลน์ของประธานาธิบดีมะห์มูด อาห์มาดิเนจัด “พวกเราเดือดร้อนกันมากจากการถูกต่างชาติคว่ำบาตร จะหาอุปกรณ์สำหรับใช้ในห้องแล็บก็ยากแสนยาก จะขอวีซ่าไปต่างประเทศก็ยาก แต่ทุกวันนี้เพื่อนร่วมงานของฉันสามารถเดินทางไปฝรั่งเศสหรือสหรัฐฯ ก็ได้”

แม้การเลือกตั้งผู้นำอิหร่านจะมีนัยยะสำคัญระดับโลก ทว่าคนอิหร่านเองดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจมากกว่า

แม้นโยบายของ รอฮานี จะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อลดลงจากระดับ 40% ในช่วงที่เขาเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ เมื่อปี 2013 ทว่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงพุ่งขึ้นเฉลี่ย 9% ต่อปี

ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังข้อตกลงนิวเคลียร์ที่อิหร่านทำร่วมกับกลุ่มมหาอำนาจ P5+1 เริ่มมีผลบังคับในเดือน ม.ค.ปี 2016 ทว่าเศรษฐกิจในภาพรวมก็ยังคงเติบโตช้า และอัตราการว่างงานในอิหร่านโดยรวมยังสูงถึง 12.5% และเกือบ 30% เฉพาะในกลุ่มแรงงานหนุ่มสาว

รอฮานีสัญญาว่าจะผลักดันให้สหรัฐฯ ยอมยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรที่เหลืออยู่ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนกับเอเชียและยุโรป แต่ก็ดูเหมือนว่าความปรารถนาของเขาคงจะไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลทรัมป์มากเท่าที่ควร

ทางด้านไรซีนั้น สัญญาว่าจะจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ที่มีฐานะยากจนเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า โดยหวังดึงคะแนนนิยมจากกลุ่มชาวอิหร่านที่เคยสนับสนุน อาห์มาดิเนจัด

แม้ในทางเทคนิคจะยังมีผู้สมัครอีก 2 รายที่ลงแข่งขัน ได้แก่ มอสตาฟา มีร์ซาลิม จากฝ่ายอนุรักษนิยม และ มอสตาฟา ฮาเชมิตาบา ซึ่งมาจากกลุ่มการเมืองสายปฏิรูป แต่นักวิเคราะห์คาดว่าทั้งสองคงจะได้คะแนนโหวตไปเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์



กำลังโหลดความคิดเห็น