รอยเตอร์ - สื่อทางการจีนวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ ในวันนี้ (17 พ.ค.) ว่าขัดขวางความพยายามหยุดภัยคุกคามทางไซเบอร์ทั่วโลกภายหลังการโจมตีด้วยมัลแวร์เรียกค่าไถ่ “วอนนาคราย” ที่ส่งผลต่อคอมพิวเตอร์กว่า 300,000 เครื่องทั่วโลกเมื่อไม่กี่วันมานี้
สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) ควรมีส่วนรับผิดชอบกับการโจมตีดังกล่าวที่พุ่งเป้าจุดอ่อนในระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัท ไมโครซอฟท์ และกระทบต่อองค์กรราว 30,000 แห่งในจีนจนถึงเมื่อวันเสาร์ (13) ไชน่าเดลีระบุ
“ความพยายามจัดการอาชญากรรมทางไซเบอร์ถูกขัดขวางด้วยการกระทำของสหรัฐฯ” ไชน่าเดลี ระบุ และเสริมว่า วอชิงตัน “ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือพอ” ที่จะสนับสนุนการแบนบริษัทเทคโนโลยีจีนในสหรัฐฯ ภายหลังการโจมตีดังกล่าว
การโจมตีด้วยมัลแวร์นี้ที่เริ่มต้นเมื่อวันศุกร์ (12) และถูกนักวิจัยบางคนโยงเข้ากับปฏิบัติการแฮกโดยเกาหลีเหนือก่อนหน้านี้ ใช้ประโยชน์จากเครื่องมือที่สร้างขึ้นโดยเอ็นเอสเอที่รั่วไหลในอินเตอร์เน็ตเมื่อเดือนเมษายน ไมโครซอฟท์ระบุ
มันเกิดขึ้นขณะที่จีนกำลังเตรียมบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์ฉบับใหม่ที่กลุ่มธุรกิจสหรัฐฯ ระบุว่า จะคุกคามการดำเนินงานของบริษัทต่างชาติในแดนมังกรด้วยกฎหมายบังคับเก็บข้อมูลและความต้องการสอดแนมอย่างเข้มงวด
หน่วยงานไซเบอร์ของจีนเรียกร้องหลายครั้งถึงสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “ความสมดุลที่เท่าเทียมกัน” มากกว่านี้ในการควบคุมทางไซเบอร์ทั่วโลก และวิพากษ์วิจารณ์การครอบงำของสหรัฐฯ
ไชน่าเดลีบ่งชี้ถึงการที่สหรัฐฯ แบนผู้ให้บริการโทรคมนาคมของจีน หัวเว่ย เทคโนโลยี โดยระบุว่า การ การแบนดังกล่าวเป็นผลมาจากการั่วไหลของเอ็นเอสเอ
ก่อนหน้านี้ ปักกิ่งระบุว่าการเพิ่มขึ้นจำนวนอย่างรวดเร็วของข่าวปลอมในเว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์ของสหรัฐฯ ซึ่งถูกแบนในจีนเป็นส่วนใหญ่ เป็นเหตุผลที่จะต้องเพิ่มการควบคุมทางไซเบอร์ทั่วโลก
ไชน่าเดลีระบุว่า บทบาทของระบบรักษาความมั่นคงของสหรัฐฯในการโจมตีนี้ทำให้กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนมากขึ้นที่จีนจะต้องแทนที่เทคโนโลยีต่างชาติด้วยเทคโนโลยีของตนเอง
หนังสือพิมพ์พีเพิลเดลีของทางการเปรียบเทียบการโจมตีทางไซเบอร์ครั้งนี้กับการแฮกของผู้ก่อการร้ายในภาพยนตร์สหรัฐฯ เรื่อง “ดายฮาร์ด 4” พร้อมเตือนว่า บทบาทของจีนในการค้าทั่วโลกและภาวะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทำให้ประเทศเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากต่างชาติ