เอเอฟพี - ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ระบุในวันจันทร์ (15 พ.ค.) รัสเซียไม่เกี่ยวข้องกับเหตุโจมตีทางไซเบอร์ทั่วโลกครั้งมโหฬาร และวิพากษ์วิจารณ์ประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ ว่าเป็นคนสร้างซอฟต์แวร์ต้นตอ
คอมพิวเตอร์หลายแสนเครื่องในประเทศต่างๆ มากกว่า 150 ชาติทั่วโลก ถูกโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ (ransomware) นับเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ครั้งมโหฬารเท่าที่เคยมีมา
เหตุโจมตีเริ่มต้นขึ้นในวันศุกร์ (12 พ.ค.) เป้าหมายมีทั้งธนาคาร โรงพยาบาล หน่วยงานราชการ โดยอาศัยข้อบกพร่องด้านความปลอดภัยในระบบปฏิบัติการรุ่นเก่าของบริษัท ไมโครซอฟท์
“ในฐานะแหล่งต้นตอของภัยคุกคามนี้ คณะผู้นำของบริษัท ไมโครซอฟท์ พูดแถลงเรื่องนี้เอาไว้อย่างตรงไปตรงมาแล้ว พวกเขาบอกว่าแหล่งที่มาของไวรัสนี้คือสำนักงานทำงานเฉพาะทางของสหรัฐฯ” ปูตินกล่าวในวันจันทร์ (15)
เขาอ้างถึงเว็บล็อกหนึ่งที่โพสต์โดย แบรด สมิธ ประธานไมโครซอฟท์ ที่ยอมรับว่าสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯได้พัฒนาโปรแกรมสำหรับใช้ในการโจมตี
แคสเปอร์สกี แล็บ บริษัทรักษาความปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ที่มีฐานอยู่ในมอสโก บอกว่า ผู้ร้ายกลุ่มนี้ใช้รหัสดิจิตอลที่เชื่อว่า พัฒนาโดยสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) ที่รั่วไหลออกมาจากการทิ้งเอกสารจำนวนมาก
แคสเปอร์สกี้เสริมว่า กลุ่มนักเจาะระบบที่เรียกตัวเองว่า แชโดว์ โบรกเกอร์ส ปล่อยมัลแวร์เรียกค่าไถ่ออกมาในเดือนเมษายน โดยอ้างว่า พบรหัสดิจิตอลที่เอ็นเอสเอเผลอปล่อยออกมา
“มันก็เหมือนยักษ์จินีหลุดออกจากมาตะเกียง โดยเฉพาะการที่มันถูกสร้างโดยหน่วยงานลับ มันสามารถก่อความเสียหายให้ทั้งผู้เขียนและผู้สร้างด้วย” ปูติน ให้สัมภาษณ์รอบนอกการประชุมซัมมิตนานาชาติแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง “มันไม่เกี่ยวข้องกับรัสเซียแม้แต่น้อย”
สหรัฐฯ เคยกล่าวหารัสเซียยกระดับการโจมตีหลายต่อหลายครั้งในอดีตที่ผ่านมา โดยในเดือนมีนาคม กระทรวงยุติธรรมอเมริกากล่าวหาว่า 2 เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานความมั่นคงรัฐบาลกลางรัสเซีย ว่าจ้างอาชญากรแฮกเกอร์ 2 คน ขโมยข้อมูลจากบัญชีผู้ใช้ยาฮูราว 500 ล้านบัญชี
ในขณะที่ไม่พบความเสียหายร้ายแรงเกิดกับสถาบันต่างๆของรัสเซีย อย่างเช่นธนาคารและโรงพยาบาลต่างๆ ปูตินระบุว่าหตุการณ์นี้น่ากังวลและจำเป็นต้องมีการพูดคุยในระดับการเมืองอย่างจริงจังและโดยทันที “นี่ไม่ใช่เรื่องดี และเรียกได้ว่าน่ากังวล จำเป็นต้องหาระบบป้องกันที่สามารถสิ่งที่ปรากฏนี้อย่างได้ผล”