xs
xsm
sm
md
lg

ตร.อียูระบุ “มัลแวร์เรียกค่าไถ่” ลุกลามช้าลง “ไมโครซอฟท์” เตือน รบ.อย่ากั๊ก เมื่อรู้จุดอ่อนคอมพิวเตอร์ “ปูติน” ย้ำต้นตอไวรัสคือสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกเตรียมพร้อมรับสถานการณ์เลวร้ายที่อาจเป็นไปได้จากการโจมตีทางไซเบอร์ครั้งมโหฬารที่มีบริษัทและหน่วยงานต่างๆ ในกว่า 150 ประเทศตกเป็นเหยื่อ อย่างไรก็ดี “ยูโรโพล” สำนักงานตำรวจอียูเผยสถานการณ์ในยุโรปวันจันทร์ (15 พ.ค.) ดีกว่าที่คาดไว้ ด้านไมโครซอฟท์เตือนรัฐบาลทั่วโลกใช้เหตุการณ์นี้เป็นสัญญาณเตือนภัย และละเว้นการปกปิดหรือแสวงหาผลประโยชน์จากจุดอ่อนในระบบคอมพิวเตอร์ ขณะที่ “ปูติน” สำทับรัสเซียไม่เกี่ยว ต้นตอแหล่งที่มาของไวรัสนี้คือหน่วยงานอเมริกัน

สำนักงานตำรวจและหน่วยงานด้านความมั่นคงของยุโรประบุในวันอาทิตย์ (14) ว่า มีเหยื่อที่ถูกโจมตีจากมัลแวร์เรียกค่าไถ่ซึ่งเรียกขานกันว่า “วันนาคราย” (WannaCry ) ตัวนี้ กว่า 200,000 รายในกว่า 150 ประเทศทั่วโลก และสถานการณ์อาจเลวร้ายลงเมื่อพนักงานเริ่มกลับเข้าทำงานและเปิดคอมพิวเตอร์ในเช้าวันจันทร์ (15)

การโจมตีแบบไม่เลือกเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันศุกร์ (12) เป้าหมายมีทั้งธนาคาร โรงพยาบาล หน่วยงานราชการ โดยอาศัยข้อบกพร่องด้านความปลอดภัยในระบบปฏิบัติการรุ่นเก่าของบริษัทไมโครซอฟต์

เฟดเอ็กซ์ บริษัทจัดส่งพัสดุภัณฑ์ด่วนยักษ์ใหญ่ของอเมริกา, โรงงานผลิตรถของเรโนลต์ในยุโรป, เทเลโฟนิกา บริษัทโทรคมนาคมแถวหน้าของสเปน, สำนักงานบริการสาธารณสุขอังกฤษ กระทรวงมหาดไทยรัสเซีย และดอยช์ บาห์น เครือข่ายรถไฟของเยอรมนีคือส่วนหนึ่งของเหยื่อมัลแวร์เรียกค่าไถ่

ที่จีน คอมพิวเตอร์นับแสนเครื่องในสถาบันและองค์กรเกือบ 30,000 แห่ง ที่มีทั้งหน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย สถานีให้บริการน้ำมัน เอทีเอ็ม และโรงพยาบาล ติดเชื้อมัลแวร์นี้เมื่อค่ำวันเสาร์ (13) ทั้งนี้ จากข้อมูลของชี่หู 360 หนึ่งในผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์รายใหญ่ที่สุดของจีน

คอมพิวเตอร์ที่ถูกมัลแวร์เรียกค่าไถ่ล็อกไฟล์เอาไว้ จะมีภาพปรากฏขึ้นบนหน้าจอ เรียกร้องเงิน 300 ดอลลาร์ ในสกุลเงินตราเสมือนจริง “บิตคอยน์”

หากไม่จ่ายเงินภายใน 3 วันตามที่กำหนด ค่าไถ่จะเพิ่มเป็นสองเท่า และหากยังไม่มีความคืบหน้าภายใน 7 วัน ไฟล์ดังกล่าวจะถูกลบทิ้ง

ผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานรัฐบาลเตือนไม่ให้จ่ายเงินให้แก่มิจฉาชีพ และดิจิตอล แชโดว์ส บริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ (14) ว่า มีการทำธุรกรรมผ่านบิตคอยน์รวมมูลค่า 32,000 ดอลลาร์โดยโอนไปยังที่อยู่ที่มัลแวร์เรียกค่าไถ่ รือ แรนซัมแวร์นี้ระบุ

ทางด้านแคสเปอร์สกี แล็บ บริษัทรักษาความปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ที่มีฐานอยู่ในมอสโก บอกว่า ผู้ร้ายกลุ่มนี้ใช้รหัสดิจิตอลที่เชื่อว่า พัฒนาโดยสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) ที่รั่วไหลออกมาจากการทิ้งเอกสารจำนวนมากเพื่อตอบโต้คำร้องขอข้อมูลของฝ่ายตรงข้าม

แคสเปอร์สกีเสริมว่า กลุ่มนักเจาะระบบที่เรียกตัวเองว่า แชโดว์ โบรกเกอร์ส ปล่อยมัลแวร์เรียกค่าไถ่ออกมาในเดือนเมษายน โดยอ้างว่า พบรหัสดิจิตอลที่เอ็นเอสเอเผลอปล่อยออกมา

ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ซึ่งกำลังเข้าร่วมการประชุมซัมมิตนานาชาติว่าด้วยแผนการริเริ่ม “หนึ่งแถบเศรษฐกิจ หนึ่งเส้นทาง” อยู่ในกรุงปักกิ่ง แถลงปฏิเสธว่า รัสเซียซึ่งมักถูกกล่าวหาแอบโจมตีทางไซเบอร์เล่นงานหลายประเทศทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการโจมตีของมัลแวร์เรียกค่าไถ่นี้

“คณะผู้นำของบริษัท ไมโครซอฟท์ พูดแถลงเรื่องนี้เอาไว้อย่างตรงไปตรงมาแล้ว พวกเขาบอกว่าแหล่งที่มาของไวรัสนี้คือสำนักงานทำงานเฉพาะทางของสหรัฐฯ” ปูตินกล่าวในวันจันทร์ (15)

ผู้นำแดนหมีขาวบอกด้วยว่า เหตุการณ์คราวนี้ “น่าวิตก” ทว่า “ไม่ได้สร้างความเสียหายอย่างสำคัญใดๆ” ในรัสเซีย พร้อมกันนั้นเขาก็เรียกร้องให้จัดการหารือระดับนานาชาติเพื่อตอบโต้พวกแฮกเกอร์เหล่านี้

“ระบบในการคุ้มครองป้องกัน … จำเป็นที่จะต้องจัดทำกันขึ้นมา” เขากล่าว

คำแถลงของปูติน เป็นการอ้างอิง แบรด สมิธ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของไมโครซอฟท์ ซึ่งยืนยันในบล็อกโพสต์เมื่อวันอาทิตย์ (14) ว่า เอ็นเอสเอเป็นผู้พัฒนารหัสที่ถูกนำมาใช้ในการโจมตีครั้งมโหฬารนี้จริง พร้อมเตือนภาครัฐไม่ให้ปกปิด ขาย จัดเก็บ หรือใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนในระบบคอมพิวเตอร์ แต่ควรรายงานต่อผู้ผลิตเพื่อหาทางแก้ไข เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ข้อมูลดังกล่าวจะตกถึงมือผู้ประสงค์ร้ายอันจะนำมาซึ่งอันตรายใหญ่หลวงต่อพลเรือน ไม่ต่างจากที่จรวดร่อน “โทมาฮอว์ก” บางส่วนถูกขโมยไปจากกองทัพสหรัฐฯ

สมิธสำทับว่า รัฐบาลทั่วโลกควรถือว่า เหตุการณ์นี้เป็นสัญญาณเตือนภัย รวมทั้งบังคับใช้กฎควบคุมไซเบอร์สเปซเช่นเดียวกับกฎเกี่ยวกับอาวุธในโลกทางกายภาพ

เขาเสริมว่า ขณะนี้ ไมโครซอฟท์กำลังเรียกร้องให้มี “อนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยสื่อดิจิตอล” เพื่อกำหนดให้รัฐบาลต้องรายงานจุดอ่อนในระบบคอมพิวเตอร์ต่อผู้ผลิต แทนที่จะจัดเก็บ ขาย หรือใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนนั้น

จากการเปิดเผยของยูโรโพล หรือสำนักงานตำรวจของสหภาพยุโรป (อียู) การโจมตีครั้งนี้แตกต่างจากการโจมตีทุกครั้งที่ผ่านมา โดยมัลแวร์ “วันนะคราย" ได้ใส่ฟังก์ชันหนอนคอมพิวเตอร์ในแรนซัมแวร์ เท่ากับว่า เมื่อคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งติดไวรัส และเครือข่ายภายในทั้งหมดทำการสแกน คอมพิวเตอร์เครื่องอื่นที่มีจุดอ่อนจะติดไวรัสไปด้วย ดังนั้น แรนซัมแวร์นี้จึงแพร่กระจายเร็วกว่าแรนซัมแวร์อื่นๆ ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี แจน ออป เจน ออร์ธ โฆษกยูโรโพล เปิดเผยเมื่อตอนเช้าวันจันทร์ (15) ว่า ดูเหมือนยุโรปจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์เลวร้ายจากการโจมตีทางไซเบอร์นี้ได้ดีกว่าคาด กล่าวคือจำนวนเหยื่อไม่เพิ่มขึ้น และสถานการณ์ค่อนข้างนิ่ง ซึ่งเป็นไปได้ว่า บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านอินเทอร์เน็ตจัดการอัพเดตซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยขนานใหญ่ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

กระนั้น ออป เจน ออร์ธเสริมว่า ยังเร็วเกินกว่าจะบอกได้ว่า ใครอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น