รอยเตอร์ - การแพร่ระบาดของเชื้ออหิวาตกโรคในเมืองหลวงของเยเมนทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 115 ราย ขณะที่พวกกบฏฮูตีนิกายชีอะห์ซึ่งยึดเมืองหลวงอยู่ได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน และขอความช่วยเหลือจากนานาชาติเมื่อวานนี้ (14 พ.ค.)
กบฏฮูตีซึ่งเป็นพันธมิตรกับอิหร่านได้บุกยึดกรุงซานาเอาไว้ตั้งแต่เดือน ก.ย. ปี 2014 และทำสงครามต่อสู้กับกลุ่มพันธมิตรซาอุดีอาระเบียที่ต้องการชิงอำนาจคืนให้แก่ประธานาธิบดี อับดุรรับบูห์ มันซูร์ ฮาดี
สงครามกลางเมืองซึ่งยืดเยื้อมานานถึง 2 ปีได้ทำลายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และคร่าชีวิตชาวเยเมนไปกว่า 10,000 คน ขณะที่ประชาชนอีกหลายล้านต้องละทิ้งบ้านเรือนหนีตาย
องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เตือนว่า เวลานี้มีสถานพยาบาลที่พร้อมให้บริการอยู่เพียงไม่กี่แห่ง และประชากร 2 ใน 3 ของเยเมนก็กำลังขาดแคลนน้ำดื่มสะอาด
“สถานการณ์ในขณะนี้รุนแรงเกินกว่าที่ระบบสาธารณสุขที่มีความพร้อมจะรองรับไหว แล้วเราจะรับมือกับปัญหาที่ยากลำบากและซับซ้อนนี้ได้อย่างไร” โมฮัมเหม็ด ซาเลม บิน ฮาฟีส รัฐมนตรีสาธารณสุขของรัฐบาลกบฏฮูตี ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวซาบา
หลังจากร่วมหารือกับ เจมี แมคโกลดริก ผู้ประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นและเจ้าหน้าที่นานาชาติที่กรุงซานา กระทรวงสาธารณสุขของกบฏฮูตีได้ตัดสินใจประกาศ “ภาวะฉุกเฉิน” ในเมืองหลวง และเรียกร้องให้องค์กรบรรเทาทุกข์ รวมถึงประเทศผู้บริจาคทั้งหลาย ช่วยกันยับยั้ง “หายนะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”
ซาบาระบุว่า มีรายงานผู้ต้องสงสัยติดเชื้ออหิวาตกโรคในกรุงซานาและจังหวัดอื่นๆ ของเยเมนรวม 8,595 กรณีระหว่างวันที่ 27 เม.ย. - 13 พ.ค. ขณะที่ผลตรวจในห้องแล็บยืนยันการติดเชื้อแล้ว 213 ราย และพบผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 115 ราย
เชื้ออหิวาตกโรคจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการท้องร่วงเฉียบพลัน และอาจเสียชีวิตภายในไม่กี่ชั่วโมง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานยอดผู้เสียชีวิตจากเชื้ออหิวาต์ในเยเมน 51 ราย และเตือนว่ามีชาวเยเมนราว 7.6 ล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด
กรุงซานาเป็นพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้ออหิวาต์มากที่สุด ตามมาด้วยจังหวัดข้างเคียงอย่าง อามานัต อัลเซมาห์ นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้ป่วยในเมืองใหญ่อื่นๆ เช่น โฮเดดาห์, ตาอิซ และเอเดน เป็นต้น
ชาวเยเมน 17 ล้านคนจากทั้งหมด 26 ล้านคนกำลังขาดแคลนอาหาร และมีเด็กๆ อย่างน้อย 3 ล้านคนที่เสี่ยง “อันตรายร้ายแรง” จากภาวะทุพโภชนาการ ตามข้อมูลของยูเอ็น