รอยเตอร์ - นักการทูตโสมแดงซึ่งดูแลด้านความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์วันนี้ (13 พ.ค.) ว่า รัฐบาลเกาหลีเหนือก็พร้อมที่จะพูดคุยกับวอชิงตันภายใต้ “เงื่อนไขที่เหมาะสม” เช่นกัน ซึ่งถือเป็นการย้อนคำพูดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
สำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้รายงานวันนี้ (13) ว่า โช ซอนฮุย ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายกิจการสหรัฐฯ ประจำกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีเหนือ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนจีน หลังเดินทางกลับจากนอร์เวย์และมาแวะต่อเครื่องที่กรุงปักกิ่งเพื่อกลับไปยังเกาหลีเหนือ
“เราพร้อมที่จะเจรจาภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม” เธอให้คำตอบ หลังผู้สื่อข่าวสอบถามว่าทางการเกาหลีเหนือพร้อมหรือไม่ที่จะเปิดเจรจากับรัฐบาลทรัมป์
อย่างไรก็ดี เมื่อผู้สื่อข่าวตั้งคำถามว่า โสมแดงพร้อมที่จะเจรจากับรัฐบาลชุดใหม่ของเกาหลีใต้ด้วยหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบจากทูตหญิงว่า “เดี๋ยวรอดูกัน”
คำพูดของ โช ซึ่งเคยอยู่ในคณะผู้แทนเจรจานิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือมีขึ้น ในขณะที่นานาชาติกำลังเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรเพื่อบีบให้เปียงยางหยุดแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์
ทรัมป์ เคยให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์เมื่อปลายเดือน เม.ย.ว่า “สงครามครั้งใหญ่” ระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือมีความเป็นไปได้ แต่ตนยังหวังว่าจะใช้วิธีทางการทูตโน้มน้าวให้เกาหลีเหนือระงับยับยั้งกิจกรรมนิวเคลียร์และขีปนาวุธได้สำเร็จ
จากนั้นไม่นาน เขาก็ออกมาพูดว่า “ยินดี” ที่จะพบกับผู้นำ คิม จองอึน ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม
สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า โช เดินทางไปนอร์เวย์เพื่อเข้าร่วมหารือแบบไม่เป็นทางการกับอดีตเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ หรือที่เรียกว่า “Track Two” โดยการพูดคุยเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง และเป็นที่จับตามองเนื่องจากวอชิงตันและเปียงยางไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกันโดยตรง
สำหรับการหารือครั้งล่าสุดนี้มีอดีตเจ้าหน้าที่เมริกันเดินทางไปเข้าร่วม เช่น โทมัส พิกเคอริง อดีตทูตสหรัฐฯประจำยูเอ็น และโรเบิร์ต ไอน์ฮอร์น อดีตที่ปรึกษาพิเศษของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ว่าด้วยการลดสะสมและควบคุมอาวุธ ทว่าไม่มีคนจากรัฐบาลทรัมป์
ประธานาธิบดีมุน แจอิน ซึ่งชนะศึกเลือกตั้งผู้นำเกาหลีใต้ในสัปดาห์นี้ ประกาศจะใช้แนวทางสายกลางแก้ไขข้อพิพาทกับเกาหลีเหนือ และบอกด้วยว่าตนยินดีจะไปเปียงยางเพื่อพบผู้นำคิม “หากเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับสถานการณ์”
มุน ย้ำให้ทุกฝ่ายใช้วิธีเจรจาควบคู่ไปกับการคว่ำบาตร เพื่อกล่อมให้ผู้นำโสมแดงยอมละเลิกโครงการพัฒนาอาวุธทำลายล้างสูง
เกาหลีเหนือทดสอบระเบิดนิวเคลียร์มาแล้ว 5 ครั้งตั้งแต่ปี 2006 แม้จะถูกองค์การสหประชาชาติและวอชิงตันคว่ำบาตรอย่างหนักหน่วง และยังมุ่งมั่นพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปที่สามารถส่งหัวรบนิวเคลียร์ไปโจมตีอเมริกาได้
พวกเขาอ้างว่าจำเป็นต้องครอบครองอาวุธเหล่านี้เพื่อ “ป้องกันตนเอง” จากการรุกรานของสหรัฐฯ